“...ความเป็นครอบครัวของพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่า แกนกลางของพรรคเพื่อไทยที่อยู่มายาวนาน ความเป็นครอบครัวที่แข็งแรงทั้งแบรนด์ และผู้ก่อตั้งพรรคจากนายกฯทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) มานายกฯ สมัคร (สมัคร สุนทรเวช) มานายกฯสมชาย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) และนายกฯปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แบรนด์พวกนี้ คนที่เป็นหลักให้พรรคไม่เคยเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจากรุ่นต่อรุ่น จนมารุ่นน้องอิ๊ง มันมีเรื่องความแข็งแรงของแบรนด์และตัวบุคคล มันไม่ใช่พรรคที่เดี๋ยวก็เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเรื่อยๆ แต่ความแข็งแรงของคนที่เป็นหลักคิด คนที่ให้นโยบายจึงทำให้ สส.รุ่นเก่าที่ไปแล้วกลับมา หรือไม่ไปไหน ส่วนใหญ่ยังยึดหลักตรงนี้...”
นับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นทางการ นับถึงวันนี้ (11 มี.ค. 2567) ถือว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำพารัฐนาวา ‘เศรษฐา 1’ ฝ่าคลื่นลมมาได้ 6 เดือนแล้ว
แม้ผลงานเชิงประจักษ์ จะมีให้เห็นในรูปแบบมาตรการระยะสั้น ทั้งการลดราคาพลังงานทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน, ลดราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชน, การเปิดให้มีฟรีวีซ่ากับประเทศจีนและคาซัคสถาน และการปรับลดราคารถไฟฟ้า 2 สายทางคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงเหลือ 20 บาทตลอดสาย เป็นต้น
แต่ผลงานระดับบิ๊กโปรเจ็กต์ และผลงานเชิงนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้ง ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท, การขึ้นค่าแรง 400 บาทในปีแรกและ 600 บาทในปีที่ 4 ที่บริหารประเทศ และการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ก็ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนจับตามองว่า รัฐบาลข้ามขั้วจับข้างพะยี่ห้อ ‘เพื่อไทย’ ที่มีสโลแกน ‘คิดใหม่ ทำเป็น’ จะสานต่อเหล่านโยบายให้เป็นสิ่งดั่งคำขวัญข้างต้นหรือไม่?
ตัดกลับมาที่เนื้องานในกระทรวงคมนาคม กระทรวงที่พรรคเพื่อไทยยึดทุกเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ทั้งหมด ก็เป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่หลายคนจับตามอง เพราะมีหลากหลายเมกกะโปรเจ็กต์ระดับทองฝังเพชรให้ทำต่อ ทำใหม่มากมาย โดยบทบาทเด่นไปอยู่ที่เจ้ากระทรวงอย่าง ‘เดอะซัน’ - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่หวนกลับมานั่งเก้าอี้ว่าการอีกครั้งในรอบ 18 ปี และนายกฯเศรษฐามักจะให้ติดสอยห้อยตามไปในงานระดับสากลเสมอ
ส่วน 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยสนทนากับ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี ม้ามืดที่คว้าเก้าอี้ไป แถมได้ควบคุมหน่วยงานเด่นอย่าง 2 รถไฟ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปแล้ว
ในครั้งนี้ ถึงคิวของ ‘เจ๊เดือน’ – นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่แม้บทบาทในการกำกับดูแลกระทรวงจะโลว์โปรไฟล์ไปบ้าง
เพราะมีแค่ 2 หน่วยงานหลัก ที่นักข่าวคมนาคมให้ความสนใจ คือ ขสมก.-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กับ กทท.-การท่าเรือแห่งประเทศไทย
- Mission Impossible! 'สุรพงษ์ ปิยะโชติ' รมช.คมนาคม สะสางปมร้อน 2 องค์กรรถไฟ
- ‘สุริยะ’ แบ่งงาน 3 รมต. สั่งการบ้านรวมโปรเจ็กต์ลงทุนด่วน ส่งสิ้น ก.ย. 66
- ‘สุริยะ’ ประกาศไม่เหลือคราบ รมต.CTX บิ๊กรถไฟฟ้าหนุนหลังแค่ข่าว
- โพรไฟล์ 3 รมต.คมนาคม 'สุริยะ' นำทัพคืนรังรอบ 21 ปี-บิ๊กนักธุรกิจรถไฟฟ้าโผล่คีย์แมน?
แต่ในบทบาททางการเมือง ‘เจ๊เดือน’ ถือว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ที่คุมเกมการเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันเป็นฐานคะแนนเสียงหลักของพรรคที่สามารถคว้ามาได้ถึง 84 ที่นั่ง รวมถึงเป็นผู้กำกับดูแลหลักทั้งงานสภาฯ การตอบกระทู้ การรวบรวมร่างกฎหมายที่รัฐบาลที่จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) หรือแม้กระทั่งการจัดคิวให้บรรดาผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรเข้าพบนายกฯ ในวันที่มาตอบกระทู้ ประสานเข้ากับงานและภาระในพรรคเพื่อไทย ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค เคียงบ่าเคียงไหล่กับ ‘อุ๊งอิ๊ง’ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบันและว่าที่นายกรัฐมนตรีในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา พาไปรู้จักเธอผู้นี้กัน
@ยอมรับบทบาท รมช.คมนาคม น้อย เหตุถูกดึงไปทำงานอื่นมาก
ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นคำถาม
นางมนพร เกริ่นกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาตลอด 6 เดือน อาจจะไม่ได้เห็นบทบาทในฐานะรมช.คมนาคมนัก เพราะได้รับมอบหมายให้ไปทำงานกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) โดยถูกให้ทำในส่วนของการเร่งรัดกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าความจริงรัฐมนตรีแต่ละท่านก็ไม่ค่อยได้มาตามร่างกฎหมายที่ติดค้างการพิจารณาเท่าไหร่ จึงกลายเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องไปติดตามอีก รวมถึงถูกดึงตัวไปตอบกระทู้ในรัฐสภาในส่วนของกระทรวงคมนาคมด้วย และถูกมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ด้วย ซึ่งก็ต้องไปติดตามทั้งแผนงานของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยอีก
ขณะเดียวกัน ในงานของพรรคเพื่อไทยเอง ก็ได้รับการมอบหมายให้ดูแลยุทธศาสตร์ของพรรค เพราะต้องเอายุทธศาสตร์และนโยบายที่หาเสียงไว้ ไปประมวลและย่อย เพื่อนำไปรายงานให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับทราบ
@สส.มีหลักคิด ยึดแกนหลักพรรค ไม่มีเมิน ‘เศรษฐา’
เมื่อผู้สื่อข่าวเริ่มต้นยิงคำถาม โดยถามถึงตัวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าบรรดา สส.ในพรรคเพื่อไทยไม่ค่อยปลื้มนั้น ตอนนี้ 6 เดือนผ่านมาแล้ว สถานการณ์เป็นอย่างไร
นางมนพร กล่าวว่า การที่บอกว่านายเศรษฐา ไม่ได้มาจาก สส. ก็เป็นความจริง แต่อย่าลืมว่าที่พรรคเพื่อไทยมีมติเลือกนายเศรษฐามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ก็เพราะพรรคเชื่อว่านายเศรษฐาเก่งเรื่องเศรษฐกิจ และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่า ประเทศไทยต้องการออกจากวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติด้านเศรษฐกิจ ประเทศต้องการนักบริหารมืออาชีพ และนายเศรษฐาเป็นคนมีความสามารถตามนั้น และก็มาตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เดินปราศรัยหาเสียงกับประชาชนตลอด นายเศรษฐาเป็นผู้แสดงวิสัยทัศน์ ขายนโยบายของพรรค และขายความเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเสมอ เดินสายทั่วประเทศ ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้สมัคร สส.ทุกเวทีที่มีโอกาสไปเสมอ
“ในระยะเวลาหาเสียงที่จำกัด คงไม่มีใครสนิทสนมกับ สส.ท่านได้ทุกคน เช่นเดียวกับน้องอุ๊งอิ๊ง (แพรทองธาร ชินวัตร) ก็ไม่ได้สนิทกับ สส.ทุกคนในพรรค น้องอุ๊งอิ๊งใช้เวลาตั้งแต่เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยทำงานมาตลอด ก็ไม่ได้สนิทสนมกับทุกคนเพราะต้องทำงาน แต่พอน้องเขาเข้ามาหลังการเลือกตั้งผ่านไป ความเป็นครอบครัวของพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่า แกนกลางของพรรคเพื่อไทยที่อยู่มายาวนาน ความเป็นครอบครัวที่แข็งแรงทั้งแบรนด์ และผู้ก่อตั้งพรรคจากนายกฯทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) มานายกฯ สมัคร (สมัคร สุนทรเวช) มานายกฯสมชาย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) และนายกฯปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) แบรนด์พวกนี้ คนที่เป็นหลักให้พรรคไม่เคยเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจากรุ่นต่อรุ่น จนมารุ่นน้องอิ๊ง มันมีเรื่องความแข็งแรงของแบรนด์และตัวบุคคล มันไม่ใช่พรรคที่เดี๋ยวก็เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเรื่อยๆ แต่ความแข็งแรงของคนที่เป็นหลักคิด คนที่ให้นโยบายจึงทำให้ สส.รุ่นเก่าที่ไปแล้วกลับมา หรือไม่ไปไหน ส่วนใหญ่ยังยึดหลักตรงนี้” นางมนพรกล่าว
นางมนพร กล่าวต่อว่า ในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลยังฝุ่นตลบ นายเศรษฐาก็ไม่ได้นั่งๆนอนๆเฉยๆ ก็ทำงานต่อ ซึ่งในด้านหนึ่งพรรคเพื่อไทยก็วางยุทธศาสตร์ไว้แล้วว่า ต้องทำอะไรต่อไป นายเศรษฐาก็เดินสายไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ พูดคุยกับ สส.ของพรรคและผู้สมัครที่สอบตก เพื่อขอบคุณและให้กำลังใจ รวมถึงบอกกล่าวด้วยว่า จะทำอะไรบ้างหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แม้พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 2 ที่ 141 เสียงก็ตาม แถมในเวลาเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้นก็เดินสายไปพบปะบุคคลต่างๆมากมาย ซึ่ง ณ ตอนนั้นตนก็ทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับทางก้าวไกลด้วย
แต่เมื่อการเมืองพลิก นายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ยอมรับตรงๆว่า เวลาพบ สส.ก็มีน้อยลง เพราะภาระของนายกรัฐมนตรีมีมหาศาล แต่ระยะห่างจาก สส.ไม่เคยห่างไป เพราะ สส.เองก็ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องนี้จะโทษนายกรัฐมนตรีฝ่ายเดียวไม่ได้จริงๆ
“ในฐานะคนกลาง ดิฉันพยายามลดระยะห่างระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ จะสังเกตว่าเวลานายกฯลงพื้นที่ จะต้องมี สส.ในพื้นที่นั้นๆมาประกบ และพยายามแนะนำ สส.แต่ละคนคนให้นายกฯฟังว่าเป็นใคร? อยู่เขตไหน? และตัวนายกฯเองก็ถือว่า โชคดีที่ท่านให้ความสำคัญกับการประชุมพรรค ทุกสัปดาห์ท่านจะมาตลอด และทุกวันพฤหัส หากไม่ติดภารกิจอะไร ท่านก็พยายามมาสภา มาเจอ สส. มารู้จักการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ กินข้าวกับ สส.บ้าง ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้านเอง ดิฉันก็เชิญมาพบนายกฯทั้งหมด เพราะดิฉันเองก็รู้จักคนของพรรคก้าวไกลหลายคนและสนิทสนมกับบางคนด้วยซ้ำ” นางสาวมนพรกล่าวอีกตอนหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 2 มีนาคม 2567
ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@เศรษฐา = พ่อโย่งของคนอีสาน
อีกประเด็นที่นายเศรษฐามักจะถูกครหาก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี คือ เป็นคนที่ชาวบ้านตาสีตาสาไม่รู้จัก ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่ในภาคอีสาน และส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านคนธรรมดา แต่นายเศรษฐาเป็นที่รู้จักจากคนในเมืองเท่านั้น เรื่องนี้ นางสาวมนพรระบุว่า 6 เดือนที่ผ่านมากระแสนายเศรษฐาในภาคอีสานดีวันดีขึ้น เพราะชาวบ้านได้สัมผัสความเป็นตัวตนของนายกฯเศรษฐามากขึ้น ช่วงหาเสียง ชาวบ้านอาจจะเห็นตัวแค่แป๊ปเดียว เพราะต้องออกเดินสายหาเสียงหลายจุด แต่วันนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายเศรษฐาก็โน้มตัวลงไปเจอคนมากขึ้น ประกอบกับนโยบายที่ยิงตรงลงไปในเขตพื้นที่ เพราะคนอีสานต้องการให้พืชผลทางการเกษตรกลับมาราคาดีทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ต้องการพักหนี้ และต้องการให้มาจัดการปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลก็กำลังทำเรื่องเหล่านี้ต่อเนื่อง และพรรคเพื่อไทยก็ทำได้จริงมาตลอด
“คนอีสานจะเรียกท่านนายกฯว่า ‘พ่อโย่ง’ (หัวเราะ) เพราะท่านสูง 194 ซม. เท่าที่ดิฉันสัมผัสมา แน่นอนในการลงพื้นที่แต่ละครั้งมีการจัดตั้งประชาชนมา แต่ในตอนนี้ประชาชนเขามากันเอง ไม่ต้องจัดตั้งอะไรมากแล้ว อย่างวันที่นายกฯไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนก็มารอต้อนรับท่าน ทั้งๆที่ไม่ใช่จังหวัดที่พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าของพื้นที่ ดังนั้น ชาวบ้านที่ไม่รู้จักน้อยลงเรื่อยๆ เพราะพ่อใหญ่โย่งทำให้ราคายางดีขึ้นจาก 5 โลร้อย กลายเป็น กก.31 บาท ยางแผ่นขึ้นไป 67 บาท/กก.แล้ว” นางมนพรกล่าว
@ออกตัวไม่ใช่ ‘แม่ทัพอีสาน’
เมื่อถามถึงหน้าที่ในฐานะแม่ทัพเลือกตั้งในรอบที่ผ่านมาที่สามารถคุมเสียงใหญ่ภาคอีสาน อันเป็นภูมิภาคที่พรรคเพื่อไทยกวาดคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งปี 2566 มาได้ถึง 84 เสียง
นางมนพรกล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นแม่ทัพขนาดนั้น แต่ได้รับฉายาจากนายเศรษฐาว่า ‘สทร.-เสือกทุกเรื่อง’ กับ ‘สรน.-สาระแนน’ (หัวเราะ) ซึ่งเคยนำเรียนนายกรัฐมนตรี ท่านก็หัวเราะชอบใจ
“จริงๆแล้วในพรรคเพื่อไทยไม่มีการแบ่งก๊วนว่า คนนั้นอยู่คนนี้ คนนี้อยู่ก๊วนสมศักดิ์ (สมศักดิ์ เทพสุทิน) - สุริยะ ทุกคนอยู่ภายใต้หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ส่วนเวลาที่ สส. มาร้องเรียน ก็จะรวบรวมเรื่องต่างๆมาใส่ในแผนนโยบาย” นางมนพรกล่าว
ที่มาภาพ: Facebook มนพร เจริญศรี แฟนเพจ
@'เศรษฐา’ นายกฯตัวจริง
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกรณีที่สังคมตั้งข้อสังเกตถึงนายเศรษฐาว่าไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตัวจริง และยิ่งมีเหตุการณ์การพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้คนไม่เชื่อมั่นนั้น
นางมนพรกล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นข้อสังเกตของคนที่มองเข้ามา และเป็นการมโนไปเองของสื่อมวลชนและคนบางจำพวก จริงๆแล้ว นายเศรษฐานั่งหัวโต๊ะ สั่งการเองทุกอย่าง และใครจะเข้าหาก็เข้าหาง่ายมาก ไม่มีพิธีรีตอง และการแสดงความเห็นก็คมคาย ไม่ติดรูปแบบข้าราชการ เอาเนื้องาน เข้าประเด็นเลย ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มองว่าเป็นการพูดกันในสังคม ก็เพื่อเขย่าบางเก้าอี้ของบางพรรคเท่านั้น และยืนยันว่าในวง ครม. ของพรรคเพื่อไทยไม่เคยคุยกันถึงการปรับ ครม. มีการคุยเรื่องเร่งรัดงบประมาณอย่างเดียว เพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งงบประมาณของภาครัฐ เพราะฉะนั้น ต้องเร่งให้เกิดการเบิกจ่ายและจัดซื้อจัดจ้าง
@ไม่หวั่น ‘อุ๊งอิ๊ง’ ถูกจับตามอง
เมื่อถามต่อว่า แล้วการมีบทบาทของนางสาวแพทองธารในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นการแต่งองค์ทรงเครื่อง เพื่อปูทางสู่การเป็นายกรัฐมนตรีในอนาคตหรือเปล่า
นางมนพร ตอบว่า เชื่อว่านางสาวแพทองธารเข้ามาทำการเมืองก็มีความฝัน อาจจะไม่ได้อยากเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ เพราะนางสาวแพทองธารก็ไม่เคยพูด
"วันนี้ น้องอุ๊งอิ๊งขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นประธานด้านงานซอฟต์พาวเวอร์ ก็เป็นการทำงานให้พรรคอย่างเต็มที่ แล้วต้องไม่ลืมว่า ซอฟต์พาวเวอร์ก็เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่นางสาวแพทองธารต้องทำ เพราะหาเสียงมา"
“น้องอุ๊งอิ๊งเวลานั่งประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้วยกัน เราจะบอกน้องเขาว่า อะไรที่ควรแนะนำท่านนายกฯบ้าง กระทรวงคมนาคมต้องทำอะไรไปแล้วบ้าง? เวลาพูดคุยกันก็สัมผัสได้ว่า น้องเขาได้ DNA พ่อเขามาเต็มๆ ส่วนการถูกจับตามองทั้งจากคนชังและชอบ คิดว่าไม่แปลก เพราะตอนนี้ก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ส่วนการที่น้องอุ๊งอิ๊งได้เข้าเรียนในหลักสูตรของ วปอ. ทำไมไม่มองคนอื่นๆล่ะ ทำไมมองแต่น้องเขา คิดในแง่ดีคือ น้องอุ๊งอิ๊งก็ไม่ใช่หัวหน้าพรรคที่โลกลืมหรือเป็นหัวหน้าพรรคนอมินีแบบพรรคการเมืองบางพรรค แถมเป็นหัวหน้าพรรคที่มีอำนาจเต็ม” นางมนพรกล่าว
@พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศ
ช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ทั่วประเทศ ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 20 ธ.ค. 2567 นี้ โดยตอนนี้พรรคน้องใหม่มาแรงอย่างก้าวไกล เตรียมคนและเริ่มลงพื้นที่หาเสียงในทุกจังหวัดแล้วนั้น
นางมนพรในฐานะรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยตอบว่า พรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังคุยกันอยู่ และกำลังดูความพร้อมว่า จังหวัดที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง สส.ในพื้นที่มีความคิดเห็นอย่างไร? เพราะต้องฟังความเห็น สส.ด้วย เพื่อลดปัญหาที่ สส.แต่ละจังหวัดต่างส่งคนของตัวเองลงสมัครแล้วเกิดการตัดคะแนนกันเอง พรรคต้องการให้มีความเห็นเอกฉันท์ในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น คงต้องรอการพิจารณาอีกสักพัก แต่ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งคนลงสมัครแน่นอน
ส่วนกระแสพรรคก้าวไกลที่มาแรงในทุกพื้นที่ นางมนพรทิ้งท้ายว่าไม่ได้กังวลถึงกระแสดังกล่าว ต้องถามพรรคตัวเองว่ามีความพร้อมแค่ไหนทั้งในแง่ผู้สมัครทำพื้นที่แค่ไหน พรรคซัพพอร์ตแค่ไหนและอย่างไรบ้าง เพราะความกังวลจะเป็นอุปสรรคในการทำงานการเมือง
แม้บทบาทในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจะไม่ค่อยมี แต่บทบาททางการเมืองถือว่าไม่เป็นสองรองใคร
แต่อนาคตคงต้องจับตาบทบาทของ 'แม่ใหญ่เดือน-มนพร เจริญศรี' ให้ดี
เพราะท่ามกลางความคิด-ความเชื่ออุดมการณ์ที่พรรคก้าวไกลเข้ามากุมใจคนทั้งประเทศ
แต่ 'แม่ทัพอีสาน' คนนี้ยืนยันกับอิศราก่อนกดปิดบันทึกเสียงสัมภาษณ์ว่า "จะขอใช้โอกาส 4 ปีต่อจากนี้ ทำผลงาน เพื่อให้พรรคเพื่อไทยกลับมายึดกุมหัวใจคนไทยอีกครั้ง"
ส่วนจะได้ตามที่ประกาศหรือไม่ ไม่นานคงรู้คำตอบ