‘สุริยะ’ เผยภาพลักษณ์ รมต. CTX ไม่มีแล้ว หลัง ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิด ส่วนรถไฟฟ้า 20 บ. รฟท.-รฟม.ชงบอร์ด ‘สายสีแดง-ส้ม’ เห็นชอบค่าโดยสาร 20 บ. ภายในเดือนก.ย.นี้ ด้าน ‘สุรพงษ์’ มองกระแสทุนรถไฟฟ้าอยู่ข้างหลังเป็นแค่ข่าว ชี้รถไฟฟ้าสายสีส้มรอศาลพิพากษาให้จบ ขณะที่ไฮสปีด 2 สาย ‘ไทยจีน-3 สนามบิน’ ไปต่อแน่นอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 กันยายน 2566 ในการประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อมอบนโยบายอย่างเป็นทางการ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
ช่วงหนึ่ง นายสุริยะ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อเป็น รมว.คมนาคมในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร แล้วมีข้อครหาการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิช่วงปี 2547-2548 การทำงานในตำแหน่งเดิมจะมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นหรือไม่ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ว่า ตนไม่ผิด ดังนั้น สิ่งที่ค้างคาต่างๆได้เคลียร์ไปหมดแล้ว
“ช่วงนั้น ผมถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาอย่างหนัก เมื่อถูกอภิปราย ภาพพจน์ของผมเสียหายมาก แต่โชคดีที่เรื่องนี้มีการเสนอเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งไปที่ ป.ป.ช. เมื่อผลตัดสินว่า ไม่ได้ทำผิด ผมคิดว่าภาพตรงนั้น และกระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์ตัวผมแล้วครับ” นายสุริยะระบุ
@รฟท.-รฟม.ชงบอร์ด ‘แดง-ม่วง’ 20 บ. ในเดือน ก.ย.นี้
ในส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นายสุริยะกล่าวว่า เบื้องต้น ทางรฟท.ในฐานะกำกับดูแลรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และบางซื่อ - รังสิต และรฟม.ในฐานะกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน คาดว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ของแต่ละหน่วยงานพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือน ก.ย. 2566 นี้ ซึ่งในส่วนของ รฟม.หากบอร์ดอนุมัติแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วน รฟท. มีกรอบของหนี้สาธารณะที่จะต้องรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์นี้ และน่าจะดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน หรือประมาณสิ้นปี 2566
@รฟท.-รฟม.รายได้วูบ 136 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง หากเก็บค่าโดยสารในราคา 20 บาท สายสีแดงจะมีรายได้ลดลง 80 ล้านบาท/ปี ส่วนสายสีม่วงจะมีรายได้ลดลง 56 ล้านบาท/ปี รวมรายได้ที่สูญเสียให้ที่ 136 ล้านบาท /ปี แต่เชื่อว่า เมื่อค่าโดยสารลดลง ผู้โดยสารน่าจะเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ซึ่งจะทำให้รายได้ที่ลดลงนี้กลับมาภายใน 2 ปี และ 2 ปีต่อจากนั้น รายได้ของรถไฟฟ้า 2 ระบบน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารประมาณวันละ 20,000-30,000 เที่ยวคน/วัน ส่วนสายสีม่วงผู้โดยสารอยู่ที่ 50,000-60,000 เที่ยวคน/วัน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องชดเชยรายได้ให้แต่ละอย่างใด
ส่วนจะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาท จะทำได้นานแค่ไหน สำหรับสายสีแดงและม่วง นายสุริยะตอบว่า อย่างน้อยน่าจะทำได้ 2 ปีขึ้นไป ในทุกเส้นทาง ไม่ใช่เฉพาะสายสีแดงและม่วง ขณะที่ระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ จะยังไม่เกี่ยวข้องในเวลานี้
สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
@ทุนรถไฟฟ้าอยู่เบื้อหลัง = ข่าวก็คือข่าว
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงการมาดำรงตำแหน่ง เพราะมีเอกชนทุนใหญ่ที่ประกอบกิจการรถไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังว่า ข่าวก็คือข่าว จริงๆแล้ว การที่นายสุริยะมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นการใช้ดุลยพินิจของตัวรัฐมนตรี
สิ่งที่เกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม อะไรที่เกิดไปแล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขและสะสางให้เดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จะทำให้สิ่งต้องและจะแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่ติดขัดอยู่ วันนี้ รัฐบาลมีเสถียรภาพพอสมควร นฌยบายต่างๆเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมทั้ง 3 คนได้รับมอบหน้าที่มาแล้ว และสื่อมวลชนต้องเข้าใจว่า แม้จะแบ่งงานกัน แต่ไม่ได้แยกกัน ไม่ใช่ใครดูระบบรางก็เอาแต่ระบบรางไปเลย ใครดูทางบกก็ดูทางบกไปเลย แต่จะทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน
เพียงแค่แต่ละคนได้รับมอบหมายดูแล และไปแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ สุดท้าย จะต้องประชุมร่วมกัน เพื่อ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ไม่ใช่จะจัดการอะไรเองได้หมด ทุกอย่างมีขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆ ไม่ใช่กลุ่มทุนหรืออะไร เป็นการทำงานตามปกติ และไม่มีอะไรต้องกังวล ทุกอย่างมันรอให้เข้าไปแก้ไขข้างหน้าอยู่แล้ว
ส่วนจะผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างไร นายสุรพงษ์ตอบว่า ขอดูในรายละเอียดก่อน ซึ่งมีกลไกและระเบียบอยู่แล้ว ส่วนจะไปต่อหรือไม่ อยู่ที่รัฐมนตรีว่าการ
จากนั้น นายสุริยะกล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้มีการฟ้องร้องกันอยู่ 3 คดี ตอนนี้เหลือค้างพิจารณาในชั้นศาลปกครองสูงสุด 1 คดี ดังนั้น จะต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้แล้วเสร็จและมีคำพิพากษาออกมาก่อน จากนั้น จึงจะดำเนินการตามที่ศาลปกครองระบุ
@ไฮสปีด 2 สายทางไปต่อ
ผู้สื่อถามต่อถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มี บจ.เอชเีย เอราวัณ (ซีพี) เป็นผู้ร่วมลงทุน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงิน 179,453 ล้านบาท จะมีทิศทางอย่างไรในยุคนี้
นายสุริยะตอบว่า ขอพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินก่อน ได้รับทราบว่า เอกชนคู่สัญญากล่าวถึงจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากผลการศึกษาที่ทำไว้เดิม จากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีสิ่งที่เอกชนขอเพิ่มเติม แต่จะดูในกฎหมายก่อน และอยากให้โครงการไปต่อ อย่างไรก็ตาม เอกชนจะมีภาระผูกพันธ์ตามสัญญานี้ อะไรที่แก้ไม่ได้ ก็ต้องเดินต่อ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน จะต้องดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และจากที่ได้ลงนามในสัญญาการก่อสร้างไปพอสมควรแล้ว เดินต่อตามนโยบายให้จบ และจะดำเนินการต่อในช่วงที่ 2 จากนครราชสีมา - หนองคายด้วย
อ่านประกอบ
- ‘สุริยะ’ แบ่งงาน 3 รมต. สั่งการบ้านรวมโปรเจ็กต์ลงทุนด่วน ส่งสิ้น ก.ย. 66
- ‘คมนาคม’ ชูรับนักท่องเที่ยวไฮซีซั่น 5 ล้านคน เป็นงานด่วน - ลุยต่อ ‘สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต’