"...ทั้งหมดนี้คือ ประวัติโดยสังเขปของ 3 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ต้องจับตาดูทิศทางการทำงานและการผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้ง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท, ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้รถไฟชั้นสามทุกขบวน, ยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไปกลับประจำ (Commute) ได้อย่างไรบ้าง?..."
นับถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้วที่กระทรวงคมนาคมไร้รัฐมนตรีว่าการ
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 ให้ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ซึ่ง ‘ศักดิ์สยาม’ ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ณ ตอนนั้นร้องเรียนฐานยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจํากัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน
อันเป็นการกระทําต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ณ ตอนนั้น ไม่รับคำร้องและให้ฝ่ายค้านไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ซึ่งปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
อ่านประกอบ:
- ศาล รธน.สั่ง ‘ศักดิ์สยาม’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมถือหุ้นรับเหมา
- ย้อนไทม์ไลน์ ปมถือหุ้นรับเหมา‘ศักดิ์สยาม’ ก่อนศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
แต่หลังจากนั้น แม้กระทรวงคมนาคมจะมี ‘อธิรัฐ รัตนเศรษฐ’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในโควต้าพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่รักษาการแทน แต่ก็ไม่ได้มีสีสันและอะไรน่าจดจำมากนัก เพราะก็ขึ้นมาในช่วงปลายของรัฐบาลพอดี แม้จะมีเรื่องน่าตื่นเต้นจากการที่ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ บุกมาทวงถามเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มบ้าง แต่หลังจากนั้นงานที่มีก็มีแต่งานรูทีน สไตล์ข้าราชการประจำเท่านั้น ทำเอากระทรวงคมนาคมเงียบเหงาไปนาน
จนล่าสุด หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จบลง และการช่วงชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อมา 3 เดือน อำนาจไหลจากมือ ‘พรรคก้าวไกล’ สู่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่สุด ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไป และมีการโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชุดที่ 63 ของประเทศไทย
โปรดเกล้าฯ พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ครม. 'เศรษฐา 1'
โฟกัสเฉพาะกระทรวงหูกวาง ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยยึดทั้งกระทรวง โดยมี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย 1 ใน 2 ส. (อีก 1 ส.คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน) หวนกลับมานั่งรัฐมนตรีว่าการอีกครั้งในรอบ 21 ปี ส่วนรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ตำแหน่ง ตกเป็นของ ‘มนพร เจริญศรี’ สส.นครพนม เขต 2 และ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ม้ามืดเข้าป้ายเป็น ‘ราชรถ 3’
โดยล่าสุดมีรายงานว่า ในวันที่ 7 กันยายน 2566 นี้ ทั้งสามรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง จะตบเท้าเข้ากระทรวงคมนาคมวันแรก ถือฤกษ์เวลา 09.00 น.
โอกาสนี้ สำนักข่าวอิศรา ขอพาไปทำความรู้จักกับ 3 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมชุด ‘เศรษฐา 1’ กันมากขึ้น
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
ภาพจาก: กระทรวงอุตสาหกรรม
@สุริยะ: คืนรังในรอบ 21 ปี / เปิด 3 แผลใหญ่ยุครุ่งเรือง
เริ่มต้นที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2497 เป็นบุตรชายคนที่ 4 จากบรรดาพี่น้อง 5 คนที่เกิดจาก นายอาฮง แซ่จึง และ นางม้วยเซียง แซ่จึง (แซ่เดิมคือ "แซ่โป่ว" หรือ "แซ่หวัง") จบการศึกษาจากะดับมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนที่จะศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยามหิดล รุ่นเดียวกับพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สว. และนพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช สมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนต่างประเทศแทน เนื่องจากช่วงที่ศึกษานั้น ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี วิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2521 ก่อนจะกลับมาเป็นนักธุรกิจก่อน โดยดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ คอมโพเนนท์ จำกัด, บริษัท ซัมมิท แอดวานซ์ แมททีเรียล จำกัด และยังมีกิจการสนามกอล์ฟ ซัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ จำกัด
ซึ่งในช่วงที่เป็นนักธุรกิจ นายสุริยะได้รู้จักกับ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ สมัยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2536 ก่อนที่ในปี 2541 จะได้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโควตาพรรคกิจสังคม ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ต่อมาเมื่อการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 นายสุริยะได้เข้าร่วมสังกัดพรรคไทยรักไทย ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค จนได้เป็น สส.บัญชีรายชื่อและได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2545 จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในที่สุด และได้นั่งยาวนานถึง 2 ปี 9 เดือน 30 วัน
เท่ากับว่า ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรอบนี้ จะเป็นการหวนกลับมานั่งกระทรวงหูกวางอีกครั้งในรอบ 21 ปีเลยทีเดียว!
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (สูทสีเทา) รมว.คมนาคม ร่วมในพิธีรับมอบขบวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินขบวนแรก มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2546
ที่มาภาพ: รายงานประจำปี 2547 กระทรวงคมนาคม
สำหรับกระทรวงคมนาคมในยุคของนายสุริยะเมื่อช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ผลงานสำคัญคือ การอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ช่วงพญาไท - มักกะสัน - สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินโครงการ 25,907 ล้านบาท, เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศ ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง, เปิดสายการบินนกแอร์ และการเร่งรัดการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว นายสุริยะก็ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมทุจริตและประพฤติมิชอบจากอย่างน้อย 3 โครงการ ได้แก่
1.คดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกลายเป็นคดีที่โจษขานกันไปทั่ว และทำให้นายสุริยะถูกปรับพ้นจากตำแหน่งไปในช่วงกลางปี 2548 ในที่สุด
2.คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (โครงการแอร์พอร์ตลิงค์) มูลค่า 25,000 ล้านบาท
และ 3.กับการถูกกล่าวหาจัดซื้อเครื่องบินแบบพิสัยไกลพิเศษ รุ่นแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่าตามบัญชี ณ วันส่งมอบ 53,043.04 ล้านบาท จนทำให้บมจ.การบินไทยด้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา นายสุริยะพ้นบ่วงจากทั้ง 3 คดี และไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
มนพร เจริญศรี
ภาพจาก: Facebook Manaporn Charoensri
@มนพร: รางวัลคว่ำ ‘ครูแก้ว’
ขณะที่รัฐมนตรีช่วยอีก 2 ตำแหน่ง เริ่มกันกับ ‘มนพร เจริญศรี’ สส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย หรือในชื่อที่รู้กันดีว่า ‘เจ๊เดือน’ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เติบโตจากสมรภูมิการเมืองท้องถิ่น คว้านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครพนมในปี 2547 และในช่วงแดงทั้งแผ่นดินปี 2552-2553 เจ๊เดือนก็ลุยงานมวลชนเป็นแกนนำคนเสื้อแดงจ.นครพนม ก่อนที่ในยุคนารีขี่ม้าขาว ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ปี 2554 จะคว้าตำแหน่ง สส.สมัยแรกสังกัดพรรคเพื่อไทยได้เป็นผลสำเร็จ
และเมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ‘มนพร’ ลงแข่งขันชิง สส.เขต 2 นครพนมกับ ‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ แชมป์เก่าจากภูมิใจไทย และสามารถเฉือนเอาชนะได้คะแนน 28,598 คะแนน ขณะที่ ‘สหายแสง’ ได้คะแนนไป 21,494 คะแนน จนมีการคาดกันว่า ที่ได้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก็เพื่อเป็นการให้รางวัลที่เอาชนะสหายแสงได้นั่นเอง
สุรพงษ์ ปิยะโชติ
ที่มาภาพ: ทีมพลังกาญจน์
@สุรพงษ์: มากับบิ๊กรถไฟฟ้า?
ปิดท้ายกันที่ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ อีก 1 รัฐมนตรีป้ายแดง เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2510 เคยเป็น สส.พรรคเพื่อไทย ในจ.กาญจนบุรีเมื่อปี 2554 ก่อนจะกลับไปลงชิงชัยในสนามท้องถิ่นกับตำแหน่งนายกอบจ.กาญจนบุรี ซึ่งสามารถชนะได้ในปี 2563 ได้คะแนน 225,872 คะแนน
อย่างไรก็ตาม การมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของนายสุรพงษ์ นอกจากเหตุผลเรื่องการอยู่เบื้องหลังการคว้าเก้าอี้ สส.ในจังหวัดได้ 4 เขตจาก 5 เขตเลือกตั้งแล้ว มีการตั้งข้อสังเกตถึงสายสัมพันธ์ระหว่างนายสุรพงษ์กับบิ๊กนักธุรกิจรถไฟฟ้ารายหนึ่ง ซึ่งมีประวัติเคยเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นเดียวกัน โดยคาดหมายกันว่า จะมาดำเนินการเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่กำลังรอการอนุมัติจาก ครม.ชุดใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่า อาจจะล้มประมูลในที่สุด
ทั้งหมดนี้คือ ประวัติโดยสังเขปของ 3 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ต้องจับตาดูทิศทางการทำงานและการผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้ง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท, ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้รถไฟชั้นสามทุกขบวน, ยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไปกลับประจำ (Commute) ได้อย่างไรบ้าง?
ยังไม่นับรวมบรรดาเมกะโปรเจ็กต์อีกหลากหลายโครงการที่รอการอนุมัติทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม, รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, แผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูมิภาค และอีกมากมาย จะได้รับการผลักดันได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตาม