“...ผมว่าคณะกรรมการควรเอาคนเก่งมาทำงานดีกว่า ผมไม่เก่งหรอก แต่ผมใช้คนเก่งเป็น ตอนนี้ผมยังไม่ส่งสัญญาณอะไรถึงบอร์ดรฟม.นะ และยังไม่ถึงตรงนั้น ตอนนี้นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการจัดทำงบประมาณ ซึ่งปีนี้ (2566-2567) น่าจะทำควบทั้งงบปี 2567-2568 เพราะฉะนั้น ตอนนี้การรีวิวงบประมาณก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายที่นายกฯเศรษฐาท่านแถลงไป ส่วนบอร์ดแต่ละกระทรวงน่าจะยังไม่โฟกัสกัน ชื่อกับหน้าตากรรมการแต่ละคนผมยังไม่รู้จักเลย อาจจะให้ทำงานไปก่อนก็ได้ แต่อย่างที่บอกไป วันนี้ประเทศต้องการให้คนเก่งๆมาทำงาน...”
ถ้านับตั้งแต่วันที่มีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ปัจจุบันนับว่าครบเดือนพอดีที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ หลังให้รัฐบาลลุงตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการยาวนานถึง 5 เดือนเต็ม นับจากวันที่มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566
แม้จะมีข้อครหาถึงความสง่างามของรัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากพรรคที่ไม่ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 บวกกับหน้าตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ถูกวิจารณ์อีกเช่นกันว่า ‘หน้าเก่า’ ซ้ำกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ถึง 10 คน แต่ ‘เศรษฐา’ ก็ขอสู้คำครหาด้วยการทำงานอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ไม่หยุดหย่อน
พูดถึงหน้าตา ครม. ขอตัดกลับมาที่กระทรวงคมนาคม 3 รัฐมนตรีที่คุมหางเสือ มี 2 คนที่พอเป็นที่รู้จักบ้าง
‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ด้วยความเป็นนักการเมืองรุ่นเก๋า คั่วรัฐมนตรีหลายกระทรวงมามาก และมีวีรกรรมในอดีตอย่างการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิที่รู้จักกันดีในโปรเจ็กต์ฉาว 'CTX900' แถมด้วยการเป็นบุคคลในตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ นามสกุลเดียวกับไพร่หมื่นล้าน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ แกนนำกลุ่มคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ยิ่งทำให้ชื่อนี้ไม่หลุดจากการรับรู้ของคนทั่วไป
‘มนพร เจริญศรี’ รัฐมนตรีช่วยคนที่ 1 ‘ราชรถ 2’ ชื่อชั้นอาจจะไม่เท่า ‘สุริยะ’ แต่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะจ.นครพนมต้องถือว่า มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เป็นมาแล้วทั้งนายก อบจ.นครพนม คนแรก และ สส.หญิงคนแรกของจังหวัด โดย สส.เป็นมาแล้ว 3 สมัย ซึ่งในสมัยล่าสุด เธอสามารถเอาชนะ ‘สหายแสง-ศุภชัย โพธิ์สุ’ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งในพื้นที่ จ.นครพนมเดียวกันกับเธอ
แต่สำหรับ ‘ราชรถ 3’ อย่าง ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ เรียกได้ว่าเป็นม้ามืดที่คว้าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไปครอง ซึ่งเมื่อแรกที่มีข่าว กระจิบข่าวในกระทรวงยังคิดว่า น่าจะเป็น ‘สุรพงษ์ เลาหะอัญญา’ บิ๊กบอส BTS มากกว่าที่จะมานั่ง แต่เมื่อทิศทางลมชัดเจนว่าคือ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ ก็ทำเอากระจิบข่าวงงเป็นไก่ตาแตกว่า ท่านผู้นี้คือใคร?
แถมเป็นเบอร์ 3 ของกระทรวงที่ได้คุมหน่วยงานใหญ่ๆทั้งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บจ.ขนส่ง (บขส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บจ.เอสอาร์ที แอสเสท (SRT Asset) บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบจ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)
สอดคล้องกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า มาในโควตาพิเศษของบิ๊กรถไฟฟ้าคนดัง เพื่อมาทำ Mission Impossible
เพื่อให้สาธารณชนได้รู้จักรัฐมนตรีคนนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์พิเศษ ‘ราชรถ 3’ ผู้นี้ เพื่อเปิดใจกันในหลาย ๆ ประเด็น
3 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ประชุมหัวหน้าหน่วยของกระทรวงหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566
@สแกนผลประกอบการรัฐวิสาหกิจในมือก่อน
นายสุรพงษ์เริ่มต้นว่า หน่วยงานทั้ง 8 ที่ได้รับแบ่งงานมา จริงๆแล้วจะต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่โครงสร้างที่ต้องทำกลับถูกแยกออกจากกัน อย่าง บขส.ที่ได้ดูแล และขสมก.ที่รัฐมนตรีมนพรกำกับ บางอย่างก็ควรปรับเป็นเส้นทางเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) บางอย่างก็ควรเป็นเส้นทางวิ่งหลัก ซึ่งตอนนี้พยายามศึกษาว่า แต่ละแผนงานและโครงสร้างต่างๆสามารถซัพพอร์ตกันได้หรือไม่ และในฐานะที่มีรัฐวิสาหกิจในความดูแลอยู่ 5 หน่วยงานและเพิ่งเข้ามาทำงานไม่นาน ในขั้นต้นจะต้องเข้าไปดูผลประกอบการของแต่ละแห่งก่อน เพราะถ้าไม่ดูเลยก็ไม่มีเครื่องมือในการบริหารและตัดสินใจ
@รางรถไฟต้องใช้ให้เยอะกว่านี้
สำหรับหน่วยงานในการกำกับที่คิดว่า จะเข้าไปดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรกคือ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)’
โดยรัฐมนตรีออกตัวว่า ยังไม่ได้ดูข้อมูลในเชิงลึกมากนัก ตอนนี้ได้อ่านเฉพาะส่วนที่เป็นงบดุลขององค์กรที่ต้องยอมรับว่า มีภาวะขาดทุนตรงไหนบ้าง แต่เท่าที่เห็นตัวเลขก็ค่อนข้างมาก
"ขั้นต้นจะเอาผลการศึกษาที่เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการมาทบทวนใหม่ เพราะที่ศึกษาไว้เดิมก็มีบางอย่างที่ล้าสมัยไปบ้าง สิ่งสำคัญที่คิดไว้คือ 1.ต้องลดค่าใช้จ่าย และ 2. เพื่มรายได้ โดยส่วนตัวเห็นว่า ปัจจุบัน รฟท.มีโครงข่ายระบบรางในมือเป็นจำนวนมาก แต่มีการใช้งานเพียง 20% ซึ่งคิดว่าการเปิดให้เอกชนมาร่วมใช้รางของ รฟท.ก็เป็นแนวคิดที่ดี อาจจะทำเป็น PPP (เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) ก็ได้ หรือจะร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจด้วยกันในการขนส่งสินค้าและบริการทางรางมากขึ้นก็ได้ คิดเสียใหม่ว่า ทางรถไฟเหมือนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ (อุตราภิมุขช่วงดินแดง - อนุสรณ์สถาน) ของกรมทางหลวง (ทล.) ที่รถทุกประเภทสามารถขึ้นไปใช้บริการได้ ซึ่งไม่อยากให้ระบบรางว่างเหมือนตอนนี้
อีกทั้งเส้นทางเดินรถบางเส้นทางก็ได้รับความนิยมจากประชาชน ยกตัวอย่างเส้นทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - สถานีเชียงใหม่ ที่มีนักท่องเที่ยวไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก
“วันนี้รถไฟมีคู่แข่งไหม? ก็ไม่มี เพราะนี่คือธุรกิจที่เป็น Monopoly (ผูกขาด) แต่กลายเป็นรถไฟไม่มีกำไร น่าคิดไหมล่ะ? ส่วนพวกรถทัวร์ บขส. หรือระบบขนส่งอื่นๆ ผมคิดว่าคนละแบบ รถแบบบขส. ผมว่าควรเป็นฟีดเดอร์ให้รถไฟด้วยซ้ำ รถไฟนี่ทั้งออกไปข้างนอก ไม่ใช่ให้มาแข่งกัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว
เมื่อถามว่า ที่ รฟท.ขาดทุนมากๆ เพราะต้องรับภาระการให้บริการสาธารณะทางสังคม (รถไฟชั้น 3) ด้วยหรือไม่
นายสุรพงษ์ตอบว่า กำลังให้ รฟท.แยกสัดส่วนและตัวเลขออกมาให้ชัดเจน และแยกตัวเลขผู้โดยสารในแต่ละสายทางที่มีด้วยว่า มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ทำให้เหมือนไฟล์ทสายการบินเลยว่า แต่ละเส้นทางมีสถานการณ์อย่างไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ข้อจำกัดหนึ่งของ รฟท. คือการที่มีขบวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งตอนนี้ รฟท.ก็มีโครงการจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ค้างอยู่ จะเร่งดำเนินการส่วนนี้ด้วยหรือไม่
นายสุรพงษ์ตอบว่า ทาง รฟท.มีแผนอยู่แล้ว คาดว่าในปี 2567 จะเริ่มดำเนินการได้ และต้องซื้ออยู่แล้ว
"ส่วนเป้าหมายในการล้างสภาวะขาดทุนขององค์กรม้าเหล็กแห่งนี้ นายสุรพงษ์มองว่า ในวาระ 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ก็น่าจะทำได้ แต่ต้องเข้าไปดูเครื่องมือในการจัดการองค์กรนี้ก่อน ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 บังคับใช้มาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และกฎหมายดังกล่าวไม่เคยแก้ไขและปรับปรุงให้ทันยุคสมัยเลย ส่วนจะปรับแก้เรื่องอะไรนั้น รัฐมนตรีมือใหม่ตอบว่า ขอศึกษากับทีมงานก่อน"
@สะกิดบอร์ด รฟม.ต้องรู้ตัวควรไป-ไม่ไป
เมื่อขยับประเด็นสนทนาจาก ‘รฟท.’ สู่ ‘รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย’ ที่มีโครงการร้อนอย่าง รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินโครงการ 143,000 ล้านบาท?
นายสุรพงษ์ระบุว่า "ในส่วนของ รฟม.ยอมรับว่า ยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งเท่าไหร่นัก ถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ยอมรับตรง ๆ ว่า ยังไม่รู้เลย ขอไปดูในรายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร และตอนนี้ยังไม่ได้นัดหมายนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม.คนปัจจุบันมาหารือแต่อย่างใด"
ส่วนคณะกรรมการ (บอร์ด) ของรฟม.ชุดปัจจุบัน จะยังอยู่ต่อไปหรือไม่?
นายสุรพงษ์ตอบว่า วันนี้บอร์ดเดิมยังอยู่ครบ ส่วนจะปรับบอร์ดใหม่หรือไม่ โดยกติกามารยาท บอร์ดที่ตั้งมาย่อมมีนโยบายไม่เหมือนกับรัฐบาลที่มาใหม่อยู่แล้ว และกรรมการแต่ละคนก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า แต่ละคนมาจากนโยบายแบบไหน เมื่อมีคนและนโยบายเข้ามา เคมีและอะไรหลาย ๆ อย่างก็อาจจะไม่ตรงกัน เมื่อรัฐบาลใหม่มาก็ต้องลาออกไป
“ผมว่าคณะกรรมการควรเอาคนเก่งมาทำงานดีกว่า ผมไม่เก่งหรอก แต่ผมใช้คนเก่งเป็น ตอนนี้ผมยังไม่ส่งสัญญาณอะไรถึงบอร์ด รฟม.นะ และยังไม่ถึงตรงนั้น ตอนนี้นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการจัดทำงบประมาณ ซึ่งปีนี้ (2566-2567) น่าจะทำควบทั้งงบปี 2567-2568 เพราะฉะนั้น ตอนนี้การรีวิวงบประมาณก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายที่นายกฯเศรษฐาท่านแถลงไป ส่วนบอร์ดแต่ละกระทรวงน่าจะยังไม่โฟกัสกัน ชื่อกับหน้าตากรรมการแต่ละคนผมยังไม่รู้จักเลย อาจจะให้ทำงานไปก่อนก็ได้ แต่อย่างที่บอกไป วันนี้ประเทศต้องการให้คนเก่งๆมาทำงาน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวทิ้งท้าย
************
เป็นบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของรัฐมนตรีมือใหม่หัดขับจากแดนกาญจนบุรี ที่แม้จะออกตัวว่า ยังอ่อนซ้อม ขอศึกษาในรายละเอียดของเนื้องานแต่ละกรมกองก่อน
แต่จาก 8 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะ 2 รถไฟ (รฟท.-รฟม.) และ 2 กรมกำกับการเดินทาง (กรมการขนส่งทางบก-กรมการขนส่งทางราง) ที่ล้วนเป็นหน่วยใหญ่ของกระทรวงหูกวางแห่งนี้แทบทั้งสิ้น
แต่จากที่มาที่ไม่ธรรมดา ก็น่าติดตามว่า ระบบรางและการกำกับดูแลการเดินทางทั้งบนบกและบนราง ภายใต้ ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ จะดีขึ้นหรือไม่
ไม่นาน คงได้เห็นกัน
อ่านประกอบ