"...สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าพวกเราคงจะได้มีเวลาทบทวนการใช้ชีวิตในปีกระต่าย 2566 ที่จะผ่านไป พร้อมกับก้าวไปสู่เป้าหมายชีวิตต่อไป ในปีมังกร 2567 ครับ..."
ปี 2566 ปีกระต่ายน้อยเริงร่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว หวังว่าพวกเราคงได้นำพฤติกรรมที่ซ่อนเร้นในตัวกระต่ายน้อยมาประยุกต์ใช้กับชีวิตในแต่ละวัน โดยเฉพาะการเข้าสังคม มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี รู้จักวางตัว อารมณ์เย็น และมีจิตใจโอบอ้อมอารี
สำหรับผม ปี 2566 ถือเป็นปีสุดท้ายที่จะทำงานที่แบงก์ชาติเต็มปี เลยวางแผนทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำก่อนเกษียณแบบมีเป้าไว้พุ่งชน ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ได้มีโอกาสไปแคมป์ปิ้ง 1 คืน ใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง ได้ตะกายเขาหลวงสุโขทัย มีเรื่องให้ลุ้นระทึกทั้งขาขึ้นขาลง และรายการที่สุดของปีนี้คือการวิ่งฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ต้องข้ามช่วงเวลา “ภาวะชนกำแพง” ใจเกินร้อย บทพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำไม่ได้หากเรามีความตั้งใจ ไม่คิดจะยอมแพ้ และที่สำคัญต้องมีวินัย
Weekly Mail ปี 2566 มี 4 เรื่องราวที่ให้ข้อคิดสอดประสานกัน ตั้งแต่เราต้องสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้กลายเป็นคนที่มุ่งมั่นพัฒนาทักษะตนเองต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ จนสลัดความคิด “ทำไม่ได้” ออกไป พร้อมให้เกิดความท้าทายตลอดเวลา คิดบวกและรักในสิ่งตนเองทำ ผมจึงขอสรุปบทความทั้ง 4 เรื่องให้อ่านกันอีกครั้ง ดังนี้
เรื่องที่ 1 สองมือแห่งศรัทธา: ชีวิตแพทย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ (2 พฤษภาคม 2566)
“ความสำเร็จไม่ได้วัดว่าเราได้ผ่านความยากลำบากแค่ไหน แต่วัดว่าเราฝ่าฟันอุปสรรคนั้นอย่างไร หากเรามองอุปสรรคเหล่านั้น เป็นรั้วลวดหนามที่มัดตัวเราและไม่มีวันหลุดรอดไปได้ เราจะมีข้ออ้างว่า ต้องอยู่กับความล้มเหลว แต่หากเรามองว่าอุปสรรคเปรียบเหมือนกับรั้วที่ต้องข้ามไปให้ได้เราจะมีความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ”
ข้อคิดของนายแพทย์เบนจามิน คาร์สัน (Dr. Benjamin Carson) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแพทย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก โดยในแต่ละปีท่านสามารถผ่าตัดเคสยาก ๆ มากกว่า 500 ราย รวมทั้งการผ่าเด็กฝาแฝดที่เกิดมาศีรษะติดกันได้สำเร็จ ชีวิตของท่านไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถูกเลี้ยงดูด้วยแม่ที่แต่งงานตอนอายุ 13 ปี และถูกสามีทิ้ง เข้าเรียน
ในโรงเรียนประถมที่เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กผิวขาวซึ่งมักจะถูกเหยียดหยาม ผลการเรียนอยู่ท้ายตารางจนคุณครูไม่ได้ให้ความหวังอะไร
จุดหักเหเกิดขึ้นเมื่อแม่ได้มีโอกาสไปทำความสะอาดบ้านของอาจารย์มหาวิทยาลัย เห็นหนังสือเต็มบ้าน ทำให้แม่กลับมาจัดวินัยให้ลูก ๆ สร้างบรรยากาศรักการอ่านหนังสือ จนทำให้เบนมีผลการเรียนดีและมีวุฒิภาวะดีขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดค้นพบตนเองว่าจะต้องเป็นหมอรักษาคนให้ได้
เบนมุมานะในการเรียน จนจบชั้นมัธยมปลายด้วยคะแนนสูงสุดได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยลก่อนเข้าศึกษาต่อคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน และเลือกเรียนด้านศัลยกรรมประสาท จบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ก่อนเข้าทำงานที่โรงพยาบาลจอนส์ ฮอปคินส์ โรงพยาบาลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เบนได้พิสูจน์ให้พวกเราเห็นว่า จากเด็กที่ถูกดูถูกดูแคลนว่า เป็นเด็กโง่ที่สุดในห้อง กลายมาเป็นประสาทศัลยแพทย์ที่เก่งที่สุด สิ่งที่ทำให้เบนก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิต เกิดจากความมุ่งมั่น ความเสียสละของครอบครัว และความเชื่อในคุณค่าของตนเอง
เรื่องที่ 2 ไม่ใช่ด้วยใจรัก แล้วจะเริ่มต้นอย่างไร (6 มิถุนายน 2566)
“คุณต้องค้นหาสิ่งที่รัก งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจคือ มีความเชื่อว่า งานที่คุณทำเป็นงานที่ยอดเยี่ยม อย่างไรก็ดี การสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมเกิดจากการรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ถ้ายังหาสิ่งนั้นไม่เจอก็จงค้นหาต่อไป” เป็นท่อนหนึ่งของสุนทรพจน์ ที่สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) ได้กล่าวไว้ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2005
อย่างไรก็ดี สำหรับแคล นิวพอร์ต (Cal Newport) นักเขียนเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิต กลับเชื่อว่า การทำในสิ่งที่รักเป็นความเชื่อแบบเดิม ๆ ที่ผิด เพราะนอกจากจะไม่ใช่ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้คนลงเอยด้วยการได้ทำอาชีพที่พึงพอใจแล้ว ความเชื่อนี้ยังก่อให้เกิดทุกข์อีกด้วย นิวพอร์ตเห็นว่า การสร้างอาชีพที่ตนเองรัก ต้องเริ่มจากกรอบความคิดที่ยึดผลลัพธ์เป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า “กรอบคิดแบบช่างฝีมือ” (craftsman mindset) ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะมอบให้โลกใบนี้ ด้วยการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นต้นทุนทางอาชีพ ก่อนที่เราจะลงมือทำอย่างจริงจัง ให้ลองค้นหาตัวเองดูก่อนว่า เราถนัดอะไร มีทักษะด้านใดเป็นพิเศษ โดดเด่นด้านไหนแล้วมุ่งไปทางนั้น พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง การมีทักษะกรอบคิดแบบช่างฝีมือ และความภูมิใจกับงานที่ทำ จะส่งผลให้เราได้ทำตามภารกิจที่ตั้งไว้ พร้อมที่จะก้าวต่อไป
นิวพอร์ตได้สรุปไว้ว่า “ชีวิตของจ๊อบส์เริ่มต้นไม่ใช่เป็นผู้หลงใหลในเทคโนโลยี ก่อนก่อตั้งบริษัทแอปเปิลเขาเป็นเพียงชายหนุ่มที่สับสน แสวงหาการตื่นรู้จากจิตวิญญาณ และสนใจอิเล็กทรอนิกส์เพียงเพราะกระแสและข้อเสนอที่จูงใจ ซึ่งหากเขาทำตามสิ่งที่ตนเองรัก ทุกวันนี้โลกอาจรู้จักเขาในฐานะพระลัทธิเซนที่โด่งดัง”
เรื่องที่ 3 ใช้คลื่นพลังบวก ดึงดูดพลังสุข (15 สิงหาคม 2566)
“ให้คิดบวกไว้ เราโชคดีกว่าหลายคน ยิ้มเข้าไว้” เป็นประโยคปลอบใจยอดฮิต ที่ทำให้เราอาจรู้สึกดีขึ้นบ้าง แต่พอเวลาผ่านไป ความรู้สึกไม่ดีมักจะกลับมาถามหาอีก สำหรับเว็กซ์ คิงส์ (Vex King) นักอินฟูลเอนเซอร์อินสตาแกรม ชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียที่มีคนติดตามกว่า 1.4 ล้านคน เชื่อว่า “การรักตัวเองด้วยการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่ตนเองเป็น และตระหนักว่าเราสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า
และพยายามไปให้ถึงจุดนั้น โดยนำกฎแห่งแรงดึงดูด (attraction theory) เน้นการคิดบวกและกฎแห่งแรงสั่นสะเทือน (vibration theory) มาผสมผสานกัน เพื่อให้มีชีวิตและเป็นคนที่ดีกว่าเดิม”
คิงส์ได้พิสูจน์ความเชื่อข้างต้น ด้วยชีวิตจริงของตนเอง เพราะเขาได้ผ่านจุดต่ำสุดของชีวิต อาศัยอยู่ในบ้านพักพิงตอนเด็ก ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่สุด ฝ่าฟันชีวิตจนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เกือบตัดสินใจไม่เรียนต่อ และชีวิตทำงานก็เริ่มต้นได้ไม่สวยหรู แต่ในที่สุดเขาค้นพบหนทางชีวิตที่ดีกว่า ได้เข้าสู่วงการดนตรีเป็นโปรดิวเซอร์ ก่อนผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษาและไลฟ์โค้ช
คิงส์อธิบายว่า ทุกสิ่งมีพลังงานแอบแฝง ในตัวเราก็เช่นกัน มีพลังธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวและกลายเป็นแรงสั่นสะเทือน เป็นคลื่นความถี่ส่งต่อไปกลายเป็นความคิด อารมณ์ และคำพูด ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเรา แรงสั่นสะเทือนที่ความถี่สูงมักจะเป็นเรื่องดี ๆ ซึ่งรวมถึงความคิดเชิงบวก ในขณะที่ความถี่ต่ำมักจะเป็นเรื่องที่เราควรจะลด ละ เลิก
คิงส์ได้สรุปในหนังสือ Good Vibes, Good Life ไว้ว่า “เรามีทุกสิ่งที่ต้องการเพื่อสร้างชีวิตที่น่าตื่นเต้นและงดงาม ทุกอย่างเริ่มจากการรักตัวเอง การสร้างแรงดึงดูด และรักษาแรงสั่นสะเทือนที่สูงยิ่งจะทำให้เราสานฝันให้เป็นจริงได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลา หากเราสัมผัสความรู้สึกดีอย่างต่อเนื่องเราจะมองชีวิตในทางบวกอยู่เสมอ”
เรื่องที่ 4 วาทยากรหญิง ผู้ไม่มีคำว่าทำไม่ได้ (25 กันยายน 2566)
วาทยากรควบคุมวงดนตรี หรือ conductor มีบทบาทสำคัญมาก เพราะการเนรมิตให้วงออร์เคสตราสามารถเล่นเพลงหนึ่ง ๆ ได้ ต้องทำความเข้าใจกับบทเพลงนั้นอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เสียงเพลงสมบูรณ์แบบทั้งช่วงจังหวะ ระดับเสียง ความกลมกลืนของเครื่องเสียงดนตรีหลากหลายชนิดและที่สำคัญวาทยากรต้องดึงศักยภาพของนักดนตรีแต่ละคนออกมาให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนักดนตรีแต่ละคนเป็นมืออาชีพ มีความเป็นตัวของตัวเอง หากไม่มีการควบคุมดูแลให้เล่นสอดประสานกันเสียงเพลงที่ออกมาจะกระเด็นกระดอนไปคนละทิศคนละทาง
ดังนั้น เส้นทางการอาชีพเป็นวาทยากรจึงยากเย็นแสนเข็ญ ไม่ต้องพูดถึงการเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง เพราะคิดไปว่าผู้นำวงออร์เคสตรา ต้องมีความเข้มแข็งสามารถเป็นแม่ทัพที่ควบคุมนักดนตรีได้ราวกับการออกศึก การตวัดไม้บาตองต้องแสดงพลัง ไม่อ่อนช้อย พร้อมกับมีความเชื่อว่าผู้หญิงไม่สามารถถ่ายทอดความฮึกเหิมในดนตรีของคีตกวีชาย
สำหรับมาริน ออลซอป (Marin Alsop) ที่เติบโตมากับครอบครัวนักดนตรี มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นวาทยากรตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เมื่อพ่อเขาได้พาไปฟังคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิก และได้พบกับเลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) วายากรผู้โด่งดัง อย่างไรก็ดี เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ครูดนตรีบอกเธอว่าวาทยากรไม่ใช่งานสำหรับผู้หญิง และต้องใช้ความพยายามหลายครั้งกว่าจะได้รับการตอบรับเข้าเรียนต่อวิชาวาทยากร (แม้ว่าเธอจะจบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านดนตรีศาสตร์จากสถาบัน Julliard School สถาบันดนตรีที่มีชื่อที่สุดในโลก)
ด้วยความมุ่งมั่น ออลซอปเรียนจบจากสถาบัน Tanglewood Music Center ในปี 1989 โดยมีเบิร์นสไตน์วาทยากรในดวงใจเป็นปรมาจารย์และที่ปรึกษา จากนั้นความฝันได้กลายเป็นจริงเธอได้กลายเป็นวาทยากรหญิงคนแรกที่เข้ามาควบคุมวง Baltimore Symphony Orchestra วงออร์เคสตราชั้นนำของสหรัฐฯ ในปี 2007 และอีก 6 ปีต่อมา เธอเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรีคนแรกในรอบ 118 ปี ที่ได้รับเลือกให้เป็นวาทยากรปิดงาน The Proms เทศกาลดนตรีคลาสสิกประจำปีของอังกฤษ
มีคำ 4 พยางค์ที่เธอเกลียดที่สุดคือ “Can’t” เพราะเธอเชื่อว่า หากเรามีความมุ่งมั่น อดทน ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่ขวางหน้า และไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้” อยู่ในความคิดของเรา จะไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ พร้อมทิ้งท้ายว่า “หากเราทุบประตูหน้าบ้านดัง ๆ แต่ไม่มีใครเปิดให้ เรายังสามารถเดินอ้อมไปข้างบ้าน เพื่อแง้มหน้าต่างปีนเข้าไปภายในบ้าน โดยที่ไม่มีใครสังเกต”
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าพวกเราคงจะได้มีเวลาทบทวนการใช้ชีวิตในปีกระต่าย 2566 ที่จะผ่านไป พร้อมกับก้าวไปสู่เป้าหมายชีวิตต่อไป ในปีมังกร 2567 ครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com