"... คุณต้องค้นหาสิ่งที่รัก งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจคือ มีความเชื่อว่างานที่คุณทำเป็นงานที่ยอดเยี่ยม อย่างไรก็ดี การสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมต้องเกิดจากการรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ถ้ายังหาสิ่งนั้นไม่เจอ ก็จงค้นหาต่อไป …"
“คุณต้องค้นหาสิ่งที่รัก งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจคือ มีความเชื่อว่างานที่คุณทำเป็นงานที่ยอดเยี่ยม อย่างไรก็ดี การสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมต้องเกิดจากการรักในสิ่งที่ตัวเองทำ ถ้ายังหาสิ่งนั้นไม่เจอ ก็จงค้นหาต่อไป” เป็นท่อนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่สตีฟ จ๊อบส์ ได้กล่าวไว้ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2005 ซึ่งมียอดคนเข้ามาอ่านสุนทรพจน์ดังกล่าวกว่าถึง 6.5 ล้านครั้ง ทั้งนี้ การทำในสิ่งที่เรารัก (passion) เป็นคำกล่าวที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก และเป็นสิ่งทุกคนไขว่คว้าเพื่อความสำเร็จของชีวิต แต่สำหรับแคล นิวพอร์ต (Cal Newport) อาจารย์สอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และเป็นนักเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชีวิตขายดีหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง Deep Work: ดำดิ่งกับงานที่มีคุณค่า (เขียนใน Weekly Mail ฉบับวันที่ 7 และ 13 มีนาคม 2566) กลับมีข้อชวนคิดที่แตกต่างไป โดยหนังสือเรื่อง Skill Before Passion นิวพอร์ตตั้งประเด็นให้ผู้อ่านคิดตั้งแต่เริ่มแรกว่า “การทำในสิ่งที่รักเป็นความเชื่อเดิม ๆ ที่ผิด เพราะนอกจากจะไม่ใช่ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้คนลงเอยด้วยการได้ทำอาชีพที่พึงพอใจแล้ว ความเชื่อนี้ยังก่อให้เกิดทุกข์ด้วย”
การทำตามสิ่งที่ตนรักบางครั้งอาจทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก แต่นานไปอาจรู้สึกล่องลอยและว่างเปล่าได้ เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ เราคงไม่รู้สึกมีไฟ หรือตื่นเต้นกับอะไรไปได้นาน ๆ และเมื่อเราหมดความหลงใหลในสิ่งนั้น ประสิทธิภาพการทำงานอาจจะถดถอย ถ้างานที่ทำอยู่ไม่มีความท้าทายอีกต่อไป ทำงานวน ๆ ซ้ำ ๆ รูปแบบเดิม ๆ จะทำให้ไม่มีใจในการทำงานอีกต่อไป และหยุดพัฒนาตัวเองไปในที่สุด ถือเป็นความเห็นที่เรียกว่าย้อนแย้งกับความนึกคิดของเราที่ถูกปลูกฝังกันมา1
นิวพอร์ตได้นำชีวประวัติของสตีฟ จ๊อบส์ ในช่วงเรียนที่วิทยาลัยรีด (Reed College) วิทยาลัยด้าน Liberal Arts ในเมืองพอร์ตแลนด์ มาสนับสนุนความคิดของเขา ทั้งนี้ จ๊อบส์เลือกเรียนวิชาเอกด้านประวัติศาสตร์ตะวันตกและการเต้นรำ เป็นนักศึกษาที่ไว้ผมยาวและชอบเดินเท้าเปล่า ไม่ได้บ่งบอกความเป็นเด็กวิศวะที่สนใจด้านเทคโนโลยีแม้แต่น้อย จ๊อบส์ตัดสินใจเลิกเรียนหลังจากสิ้นสุดภาคการศึกษาแรก แต่ก็ยังอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในวิทยาลัย โดยนอนบนพื้นห้องพักของเพื่อนและกินอาหารฟรีที่วัดของลัทธิหเรกฤษณะ พร้อมกับใช้เวลาศึกษาการประดิษฐ์ตัวอักษร (calligraphy) เป็นทักษะที่ติดตัวจ๊อบส์นำมาสร้างเป็นตัวฟอนต์ (font) และเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทแอปเปิลจนถึงทุกวันนี้ จ๊อบส์ย้ายกลับไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่แคลิฟอร์เนียในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 และหางานทำที่เขาเรียกว่า 'สนุกและทำเงิน'ทั้งที่บริษัทอาตาริ บริษัทผลิตเครื่องเล่นวิดีโอ และออล วัน ฟาร์ม เกษตรชุมชนทางตอนเหนือของซานฟรานซิสโก อย่างไรก็ดี จ๊อบส์มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์ จึงเดินทางไปแสวงบุญทั่วอินเดีย พร้อมกับเริ่มฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังที่โลส อัลโตส เซ็นเตอร์ ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก
จุดพลิกผันของชีวิตเกิดขึ้นในปี 1974 เมื่อ อเล็กซ์ คัมราดห์ (Alex Comrad) ได้ตั้งบริษัท คอล คอมพิวเตอร์ให้บริการคอมพิวเตอร์ด้วยระบบแบ่งเวลา ด้วยคัมราดห์เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่สันทัดในเรื่องธุรกิจ จึงได้ทาบทามจ๊อบส์มาช่วยดูแลเรื่องสัญญาทางธุรกิจและนั่นเป็นจุดที่ทำให้จ๊อบส์ได้เห็นถึงโอกาสที่หยิบยื่นมา จากวิวัฒนาการที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของคอมพิวเตอร์ และเมื่อร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งอยากได้คอมพิวเตอร์ที่ประกอบเสร็จ ต้องการทั้งหมด 50 เครื่องภายในเวลาที่เร็วที่สุด ในสนนราคาเครื่องละ 500 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จ๊อบส์รีบคว้าโอกาสนี้ รวบรวมเงินทุนกับ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) เป็นจุดกำเนิดของแอปเปิล คอมพิวเตอร์ และตำนานของผู้เปลี่ยนแปลงโลกไปสู่ยุคดิจิทัล
นิวพอร์ตได้สรุปไว้ว่า 'ชีวิตของจ๊อบส์เริ่มต้นไม่ใช่เป็นผู้หลงใหลในเทคโนโลยี ก่อนจะก่อตั้งบริษัทแอปเปิล เขาเป็นเพียงชายหนุ่มที่สับสน แสวงหาการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ และสนใจอิเล็กทรอนิกส์เพียงเพราะกระแสของโลกดิจิทัลและข้อเสนอที่ดึงดูดใจ ซึ่งหากเขาทำตามสิ่งที่ตนเองรัก ทุกวันนี้โลกก็อาจรู้จักเขาในฐานะพระลัทธิเซนที่โด่งดัง ก็เป็นได้'2
แล้วถ้าไม่ใช่ด้วยใจรัก แล้วเราจะควรเริ่มต้นอย่างไร สำหรับนิวพอร์ต การสร้างอาชีพที่ตนเองรักต้องเริ่มจาก กรอบความคิดที่ยึดผลลัพธ์เป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า 'กรอบคิดแบบช่างฝีมือ' (craftsman mindset) ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะมอบให้กับโลกใบนี้ ด้วยการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นต้นทุนทางอาชีพก่อนที่เราจะลงมือทำอะไร ให้ลองค้นหาตัวเองดูก่อนว่า เราถนัดอะไร มีทักษะด้านใดเป็นพิเศษ โดดเด่นด้านไหน แล้วมุ่งไปทางนั้นพร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถรองรับงานรูปแบบใหม่ในอนาคตเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนั้นก็นำต้นทุนนี้ไปแลกกับองค์ประกอบที่จะทำให้เรารัก สนุก และภาคภูมิใจกับงานที่ทำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่องานนั้นให้โอกาสเราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมที่มีผลต่อตนเองและองค์กร และที่สำคัญมีอำนาจในการควบคุมงานของตนเอง ซึ่งในกรณีของจ๊อบส์ เขาไม่ได้เพียงแต่รับข้อเสนอมาต่อคอมพิวเตอร์ 50 เครื่องเท่านั้น แต่จ๊อบส์ได้ทุ่มเทศึกษาและพัฒนาทักษะของเขาจนถือว่าเป็นหนึ่งในกูรูในสมัยนั้น และด้วยกรอบคิดแบบช่างฝีมือ ทำให้เขาสามารถต่อยอด เพิ่มคุณค่าในสิ่งที่มอบให้กับโลกใบนี้
ท้ายสุดด้วยการมีทักษะ กรอบคิดแบบช่างฝีมือ และความภูมิใจกับงานที่ทำ จะส่งผลให้เราได้ทำตามภารกิจที่ตั้งไว้ พร้อมที่จะก้าวต่อไป ซึ่งการจะวัดว่าได้ทำตามภารกิจหรือไม่ นิวพอร์ตได้ใช้กฎแห่งความโดดเด่น (law of remarkability) มาเป็นบรรทัดฐานใน 2 รูปแบบคือ 1. มีคนกล่าวถึงงานของเราหรือไม่ และ 2. ผลงานนี้ได้รับการกล่าวต่อไปในช่องทางต่าง ๆ หรือไม่3
'การทำในสิ่งที่รักเป็นความเชื่อเดิม ๆ ที่ผิด' อาจเป็นข้อสรุปของนิวพอร์ตที่ไปสุดขั้ว ทุกสิ่งน่าจะเริ่มจาก 'ความสนใจ ใฝ่รู้' เริ่มต้นฝึกฝนทำให้เรามีความสนใจกับสิ่งนั้นมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ต้องถึงขั้นหลงใหล นิวพอร์ตหยิบยกเรื่องราวความสำเร็จในอาชีพที่ไม่ได้เริ่มต้นจากความรักและความหลงใหล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จจากสิ่งที่ตนเองรัก ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ได้บอกผมว่า 'เราไม่จำเป็นต้องหลงใหล รักเทิดทูนในสิ่งที่ทำอยู่ เพื่อจะทำในสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ในบางครั้งการทุ่มเท ฝึกฝนเพิ่มทักษะในสิ่งที่ทำอยู่อาจจะทำให้เราได้ชอบสิ่งนั้นในที่สุดก็ได้'4
แหล่งที่มา
1/ Skill before Passion: So Good They Can’t Ignore You, Cal Newport พรรณี ชูจริวงศ์ แปล สำนักพิมพ์วีเลิร์น หน้า 19
2/ Cal Newport พรรณี ชูจริวงศ์ แปล สำนักพิมพ์วีเลิร์น หน้า 28-32
3/ Cal Newport พรรณี ชูจริวงศ์ แปล สำนักพิมพ์วีเลิร์น หน้า 208-212
4/ https://sachachua.com/blog/2015/02/sketched-book-good-cant-ignore-skills-trump-passion-quest-work-love-cal-newport/