"...มีคำ 4 พยางค์ที่เธอเกลียดที่สุดคือ “Can’t” เพราะเธอเชื่อว่า หากเรามีความมุ่งมั่น อดทน ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่ขวางหน้า และไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้” อยู่ในความคิดของเรา จะไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ พร้อมทิ้งท้ายว่า “หากเราทุบประตูหน้าบ้านดัง ๆ แต่ไม่มีใครเปิดให้ เรายังสามารถเดินอ้อมไปข้างบ้าน เพื่อแย้มหน้าต่างปีนเข้าไปภายในบ้าน โดยที่ไม่มีใครสังเกต”..."
อาชีพหนึ่งที่ผมมีความพิศวงตั้งแต่เด็กนับตั้งแต่ได้มีโอกาสไปฟังดนตรีคลาสสิก ที่บรรเลงโดยวงออร์เคสตราคือ ผู้ที่ยืนอยู่หน้าเวที หันหน้าไปหานักดนตรีที่นั่งล้อมวงอยู่ แต่กลับหันหลังให้กับคนดู ถือไม้บาตอง (Baton) ตวัดไปตวัดมาจนเสียงเพลงจบ แล้วจึงหันหลังกลับมาโค้งคำนับคนดู พร้อมส่งสัญญาณให้นักดนตรีทั้งหมดยืนขึ้น ท่ามกลางเสียงตบมือชื่นชมจากผู้ชมทั้งหอแสดงดนตรี (music hall) มารู้จักภายหลังว่าผู้นั้นคือ วาทยากรควบคุมดนตรีหรือ conductor ที่กว่าจะก้าวมาทำหน้าที่นี้ต้องมีความชำนาญทั้งศาสตร์และศิลป์ด้านดนตรี
ผมได้เรียนรู้ภายหลังว่า บทบาทของวาทยากรสำคัญมาก เพราะการเนรมิตให้วงออร์เคสตราสามารถเล่นเพลงหนึ่ง ๆ ได้ ต้องทำความเข้าใจกับบทเพลงนั้นอย่างถ่องแท้ เพื่อถ่ายทอดโน๊ตดนตรีตั้งแต่ตัวแรกที่แต่งจากนักประพันธ์เพลงชื่อดัง ซึ่งหลายเพลงถูกแต่งขึ้นมานานกว่าศตวรรษ ให้กลายเป็นเสียงเพลงที่สมบูรณ์แบบ ทั้งช่วงจังหวะ ระดับเสียง ความกลมกลืนของเครื่องเสียงดนตรีหลากหลายชนิด และที่สำคัญ วาทยากรต้องดึงศักยภาพของนักดนตรีแต่ละคนออกมาให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนักดนตรีแต่ละคนเป็นมืออาชีพ มีความเป็นตัวของตัวเอง หากไม่มีการควบคุมดูแลให้การเล่นสอดประสานกัน เสียงเพลงที่ออกมาจะกระเด็นกระดอนไปคนละทิศคนละทาง
วาทยกรที่มีชื่อเสียงแต่ละท่านมีอัตลักษณในการควบคุมวงออร์เคสตราที่แตกต่างกันวาทยกรบางท่านออกท่าทางน้อยมาก เช่น อิกอร์ มาร์เควิช (Igor Markevitch) หรือบางท่านอาจดูเหมือนให้จังหวะที่สับสนเช่น วิลเฮ็ล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์ (Wilhelm Furtwangler) แต่บทเพลงภายใต้การกำกับวงของเขาเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความล้ำลึก คุณค่าของวาทยากรจึงมิได้วัดด้วยสายตา แต่ต้องวัดจากความพึงพอใจของผู้ฟัง [1]
อย่างไรก็ดี อาชีพวาทยากรกลับไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากนัก เพราะคิดไปว่าผู้นำวงออร์เคสตราต้องมีความเข้มแข็ง สามารถเป็นแม่ทัพที่ควบคุมนักดนตรีได้ราวกับการออกศึก การตวัดไม้บาตอง ต้องแสดงพลัง ไม่อ่อนช้อย พร้อมกับมีความเชื่อว่าผู้หญิงไม่สามารถถ่ายทอดความฮึกเหิมในดนตรีของคีตกวีชาย เช่น บรามห์หรือมาห์เลอร์ได้ และประเด็นยิ่งร้อนแรงเมื่อ วาซิลี เพทรอนโก้ (Vasily Petrenko) วาทยกรชื่อดังชาวรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ว่า วาทยากรหญิงสาวจะทำให้นักดนตรีไม่มีสมาธิกับบทเพลง [2]
ในอดีตไม่ต้องกล่าวถึงวาทยากร แม้แต่นักดนตรีหญิงยังถูกกีดกันจากวงออร์เคสตราอยู่เสมอ เช่น กรณีวง Berlin Philharmonic วงออร์เคสตราชั้นนำของโลกรับสมาชิกหญิงเข้าวงเมื่อปี 1982 ได้เกิดแรงต่อต้านภายในวง จนนักดนตรีหญิงผู้นั้นต้องลาออก ส่วนวงออร์เคสตราอันดับหนึ่งที่มีอายุกว่า 170 ปี อย่างวง Vienna Philharmonic ก็เพิ่งรับนักดนตรีหญิงเข้าวงเมื่อปี 1997
จุดหักเหที่ทำให้สังคมเริ่มยอมรับวาทยากรผู้หญิงมากขึ้น เกิดขึ้นเมื่อ มาริน ออลซอป (Marin Alsop) ได้กลายเป็นวาทยกรหญิงคนแรกที่เข้ามาควบคุมวง Baltimore Symphony Orchestra วงออร์เคสตราชั้นนำของสหรัฐฯ ในปี 2007 และ 6 ปีต่อมา เธอเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นสตรีคนแรกในรอบ 118 ปี ที่ได้รับเลือกให้เป็นวาทยากรปิดงาน The Proms เทศกาลดนตรีคลาสสิกประจำปีของอังกฤษ
ประวัติของมารินน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เธอเติบโตจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นนักดนตรีอาชีพอาศัยอยู่ในนครนิวยอร์ก เมืองสุนทรีย์ ด้านดนตรีลำดับต้น ๆ ของโลก เธอจึงรักเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก หัดเล่นไวโอลินตั้งแต่จับเครื่องเล่นไวโอลินได้ไม่ถนัด จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่ออายุ 9 ขวบเมื่อพ่อพาไปฟังคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิก ได้พบกับเลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (Lenonard Bernstein)วาทยากรผู้โด่งดัง ที่เข้ามาทักทายเธอก่อนการแสดง ทำให้ได้เห็นความมหัศจรรย์ของการเป็นวาทยากร วินาทีนั้นเธอตัดสินใจบอกพ่อทันทีว่า “โตขึ้นหนูอยากจะเป็นวาทยากร” ซึ่งเช้าวันรุ่งขึ้น เธอตื่นขึ้นมาพร้อมกับมีไม้บาตองวางอยู่ข้างกายเธอ ที่พ่อแม่ซื้อมอบให้ นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอต้องสานฝันนี้ให้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ครูดนตรีบอกว่าวาทยากรไม่ใช่งานสำหรับผู้หญิง โดยที่เธอถูกปฏิเสธเข้าศึกษาต่อในวิชาวาทยากรจากสถาบัน Julliard School ถึง 3 ครั้ง แม้ว่าเธอจะจบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านดนตรีศาสตร์ วิชาเอกไวโอลินจากสถาบันดนตรีที่โด่งดังที่สุดแห่งนี้ในปี 1978
ภายหลังเรียนจบ เธอได้ก่อตั้งวง Jazz กับเพื่อน ๆ โดยนำไวโอลินมาเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรี อย่างไรก็ดี เธอไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นวาทยากร จนในที่สุดเธอได้รับเข้าเรียนที่สถาบัน Tanglewood Music Center เมื่อปี 1989 โดยมีเบิร์นสไตน์ วาทยกรในดวงใจเป็นปรมาจารย์ และที่ปรึกษาจากนั้น ความฝันได้กลายเป็นจริง เธอสามารถครองตำแหน่งวาทยากรของวงออร์เคสตราชั้นนำในหลายประเทศ ปัจจุบันเธอเป็นวาทยากรนำของวง Polish National Radio Sysmphony Orchestra
มารินได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสารคดี “Conductor” ที่ถ่ายทอดชีวประวัติของเธอว่า การทำหน้าที่วาทยากรที่ดีคือ การศึกษาเพลงที่จะบรรเลงอย่างถ่องแท้ ยิ่งเป็นเพลงที่ไม่คุ้น ยิ่งต้องใช้เวลาและพลังในการเรียนรู้ เข้าใจและเข้าถึงความเป็นมาของเพลงนั้น เสมือนว่าเพลงนั้นได้กลายเป็นเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน [3]
มีคำ 4 พยางค์ที่เธอเกลียดที่สุดคือ “Can’t” เพราะเธอเชื่อว่า หากเรามีความมุ่งมั่น อดทน ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่ขวางหน้า และไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้” อยู่ในความคิดของเรา จะไม่มีสิ่งใดที่เราทำไม่ได้ พร้อมทิ้งท้ายว่า “หากเราทุบประตูหน้าบ้านดัง ๆ แต่ไม่มีใครเปิดให้ เรายังสามารถเดินอ้อมไปข้างบ้าน เพื่อแย้มหน้าต่างปีนเข้าไปภายในบ้าน โดยที่ไม่มีใครสังเกต”
แหล่งที่มา
[1] คนยืนถือไม้ตวัดไปมา ประจำวงออร์เคสตรา คือใครครับ ทำหน้าที่อะไร สมาชิกหมายเลข 3535249 7 สิงหาคม 2560 เวลา 02:15 น
https://www.oknation.net/post/detail/634f4d29d9b8f0b922a35189 , https://pantip.com/topic/36741693
[2] อคติทางเพศต่อ "วาทยากรหญิง " กับการควบคุมวงออร์เคสตรา ศิลปะ-บันเทิง 11 ก.ย. 256 15:24 https://www.thaipbs.or.th/news/content/195204
[3] สารคดี The Conductor กำกับโดย Bernadette Wegenstein 2021 https://www.theconductordoc.com/