"...ปรกติแล้วเวลาตำรวจไปขอหมายจับกับศาล โดยนำพยานหลักฐานหรือเอกสารไปยื่นประกอบการพิจารณาด้วยนั้น ในห้องพิจารณาก็มีกันอยู่แค่ศาลกับตำรวจ ไม่ได้มีผู้ที่จะถูกจับไปนั่งอยู่ด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ส.ว.อุปกิตทราบได้อย่างไรว่าตอนขอหมายจับทางตำรวจยื่นเอกสารอะไร ชิ้นใด ไปให้กับศาล ถึงได้กล้ายืนยันว่าเอกสารนั้นเป็นเท็จได้? หรือที่เป็นเช่นนี้เพราะมีใครบางคนที่เข้าถึงเอกสารเหล่านั้นได้ (ตำรวจที่ทำคดี หรือศาล) เอามาให้ ส.ว.อุปกิตได้ดูด้วย?..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ตอบคำถามทีละข้อ ของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เปิดแถลงข่าวกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับตัวเองและธุรกิจในหลายประเด็น
โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ตอบทีละข้อ กรณี “ส.ว.ทรงเอ” โต้คำอภิปราย
********************
เมื่อวานนี้ (17 มีนาคม 2566) ตั้งแต่ช่วงเช้า ผมติดตามการแถลงข่าวของ ส.ว.อุปกิต ปาจรียางกูร ที่นัดนักข่าวมาชี้แจงในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับกรณีต้องสงสัยว่าจะพัวพันการฟอกเงินขบวนการค้ายาเสพติดของทุนมินลัต ซึ่งมีผมเป็นหนึ่งในผู้ที่อภิปรายถึงกรณีดังกล่าวด้วย
โดยสรุปที่ได้รับฟังแล้ว ผมเห็นว่า ส.ว.อุปกิตก็ยังไม่ได้ตอบข้อกังขาที่เป็นสาระสำคัญในแต่ละประเด็น โดยผมจะขอไล่เรียงทีละข้อดังต่อไปนี้
1. ข้อความแชทของ ส.ว.อุปกิต ที่ผมใช้เป็นส่วนหนึ่งในอภิปราย เป็นการแปลผิดแล้วเอามาปั่นกระแสทางการเมือง มีการเอาเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาผสม เช่น ข้อความที่คุยกันเรื่องโรงปูน, ข้อความที่คุยกันเรื่องการซื้อขายทอง หรือข้อความที่ปรึกษาธุรกิจกันทั่วไป
ตอบ: ข้อความแชทระหว่าง ส.ว.อุปกิตกับทุนมินลัต ที่ ส.ว.อุปกิตอ้างว่าเป็นเรื่องโรงปูนบ้าง เรื่องทองบ้างนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นของหลักฐานข้อความแชททั้งหมดที่ผมได้รับมา ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีปะปนมาบ้างเนื่องจาก 2 คนนี้ติดต่อพูดคุยกันในหลายเรื่อง และอันที่จริงผมก็ไม่ได้เอาข้อความพวกนั้นมาประกอบการอภิปรายด้วยซ้ำเพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข้อความแชทส่วนใหญ่ รวมถึงที่ผมนำไปอภิปราย คือบทสนทนาระหว่าง ส.ว.อุปกิตกับทุนมินลัต และระหว่าง ส.ว.อุปกิตกับนาง “ป.” ลูกน้องของตัวเอง (ซึ่ง 2 คนนี้คุยกันด้วยภาษาไทย ไม่น่ามีการ “แปลผิด” ได้) ที่แสดงพฤติการณ์น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ส.ว.อุปกิตยังคงเป็นผู้กำกับงานอยู่เบื้องหลังบรรดาบริษัท Allure ต่างๆ ที่ไปพัวพันกับการฟอกเงินค้ายาเสพติด ซึ่งขัดกับที่ ส.ว.อุปกิตเคยกล่าวอ้างว่าไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการเหล่านั้นแล้ว (ดูหน้าตาแชทได้ที่สไลด์ประกอบการอภิปรายของผม https://www.facebook.com/rangsimanrome/posts/746453813504347)
ผมคิดว่า ส.ว.อุปกิตควรจะอธิบายว่าข้อความแชทส่วนใหญ่ที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องอย่างไร มากกว่าที่จะมาหยิบเอาแค่ 1-2 ข้อความที่ไม่เข้าพวกแล้วเอามาพูดราวกับว่าเป็นเนื้อหาทั้งหมด
2. เรื่องการถอนหมายจับตน ก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของตำรวจและศาลกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าให้ปฏิบัติอย่างไรในกรณี ส.ส. และ ส.ว. เช่นตำรวจต้องปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อน หรือผู้พิพากษาต้องปรึกษาอธิบดีศาลก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้ง เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ที่ ส.ส. อย่างรังสิมันต์ โรม เองก็ได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน
ตอบ: เรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในรายละเอียดว่าการกระทำของตำรวจผู้ขอหมายจับถูกผิดอย่างไรนั้น ผมคิดว่าคำอธิบายในแถลงการณ์ของ 3 สมาคมสำคัญของข้าราชการตำรวจ (สมาคมตำรวจ, สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, สมาคมพนักงานสอบสวน) ได้อธิบายไว้ครบถ้วนแล้ว ผมขอเสริมด้วยว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าพวกระเบียบต่างๆ) ที่เป็นกฎหมายหลักที่กำหนดเรื่องหมายจับไว้นั้น ก็ไม่ได้มาแบ่งแยกว่ากรณีของ ส.ส.-ส.ว. จะต้องมีขั้นตอนปฏิบัติต่างจากประชาชนคนอื่นๆ อย่างไร ดังนั้นหมายจับ ส.ว.อุปกิต ที่ตำรวจได้ไปขอเพราะมีโทษจำคุกเกิน 3 ปี พร้อมหลักฐานตามสมควร และผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาก็อนุมัติให้อย่างเป็นอิสระ ก็นับเป็นหมายจับที่ชอบแล้ว
นอกจากนี้การที่ ส.ว.อุปกิตพยายามลากเอาผมไปอยู่ใต้ร่มอานิสงส์ของระเบียบกฏเกณฑ์เดียวกันกับที่ตัวเองอ้าง ผมฟังแล้วรู้สึกเป็นตลกร้ายอย่างยิ่ง เพราะในเดือนเดียวกันนี้ของเมื่อปีที่แล้ว (มีนาคม 2565) ผมยังเคยถูกออกหมายจับที่ขอโดยตำรวจ สน.บางขุนนนท์ และอนุมัติโดยผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน ในคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (ไม่ใช่ยาเสพติดหรือฟอกเงิน) จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อฯ และเรื่องอื่นๆ (ซึ่งผมก็เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ไม่หนีไปไหน แต่ปรากฏว่าทางตำรวจยังทำสำนวนไม่เรียบร้อยเสียเอง) ผมก็ไม่ทราบนะว่าหมายจับผมที่ออกมาครั้งนั้นได้ผ่านการปรึกษากับผู้บังคับบัญชาตำรวจหรืออธิบดีศาลแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าผ่านแล้วก็นับว่าเห็นความต่างมาตรฐานกันชัดแจ้งดี
3. การซื้อขายไฟฟ้ามีการทำสัญญาถูกต้อง การโอนเงินจ่ายค่าไฟฟ้าให้ กฟภ. เป็นไปตามใบแจ้งหนี้จากทางเมียนมา ไม่มีใครนำเงินที่ถูกกฎหมายอยู่แล้วไปฟอกผ่านบริการรับฝากโอนเงินเพื่อให้เป็นเงินผิดกฎหมายแล้วไปจ่ายค่าไฟฟ้า เงินที่โอนให้ กฟภ. ที่พบว่าที่มาจากผู้ต้องหาค้ายาเสพติดเป็นแค่ส่วนเล็กน้อย เปรียบได้กับเปิดร้านอาหารแล้วมีผู้ค้ายามาซื้อข้าวด้วยเงินที่ค้ายา จะต้องปิดทั้งร้านกันเลยหรือ?
ตอบ: ก่อนอื่นผมไม่เคยพูดว่าการซื้อขายไฟฟ้าของเครือ Allure เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้หมายความธุรกิจที่ไปเกี่ยวกับการฟอกเงินโดยตัวมันเองจะต้องเป็นธุรกิจที่ต้องห้ามตามกฎหมาย อันที่จริงความหมายง่ายๆ ของการฟอกเงินก็คือเอาเงินที่ผิดกฎหมายมาฟอกผ่านธุรกิจถูกกฎหมาย ดังนั้นต่อให้การซื้อขายไฟฟ้าของ Allure จะเป็นธุรกิจตามกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกนำมาใช้ฟอกเงินเสมอไป
ซึ่งที่คุณอุปกิตแถลงในวันนี้ก็ยอมรับเองว่ามีการโอนเงินซื้อไฟฟ้าที่ผู้รับฝากโอนบางรายเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด และเมื่อทางตำรวจเขาสืบเส้นทางการเมืองและสอบปากคำผู้ต้องหา เห็นว่ามีหลักฐานน้ำหนักมากพอ ก็มีอำนาจที่จะดำเนินการข้อหมายจับตามขั้นตอนต่อไปได้ รวมถึงยังมีศาลเป็นผู้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งด้วย
และอย่าได้เอาเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับการเปิดร้านขายอาหาร เพราะอาชญากรไม่ว่าจะเป็นใครคงไม่คิดจะฟอกเงินผ่านการซื้ออาหาร เนื่องจากอาหารถ้าซื้อไปทานเองก็ไม่สามารถแปลงกลับเป็นเงินได้ หรือถ้าซื้อไปขายต่อก็อาจยุ่งยากไม่คุ้มทุน แต่ถ้าเป็นการซื้อขายไฟฟ้า โดยเฉพาะที่มีสายส่งพร้อมอยู่แล้ว ย่อมใช้ฟอกเงินได้ง่ายกว่าแน่ๆ
4. โรงแรม Allure Resort ตนตั้งใจขายให้นายชาคริส กาจกำจรเดช เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 แต่สัญญาเกิดเป็นโมฆะเนื่องจากเหตุทางฝ่ายตน จึงไปโอนหุ้นให้นายดีน ยัง จุลธุระ (ลูกเขย) แทน ต่อมามีการขายหุ้นให้นายพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ ซึ่งนายพันณรงค์ขอจ่ายเป็นเงินสดผ่านบัญชีธนาคารในกัมพูชา แล้วมีการทำสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างนายดีนกับนายพันณรงค์ภายหลัง (ในเดือนกรกฎาคม 2563)
ตอบ: หากเชื่อตามที่ ส.ว.อุปกิตชี้แจง ก็ยังไม่ได้ตอบข้อสงสัยว่าเหตุใดหนังสือสัญญาซื้อขายโรงแรมที่ ส.ว.อุปกิตทำกับนายชาคริสเมื่อ 9 พฤษภาคม 2562 จึงมีข้อความไม่เหมือนเป็นการซื้อขายหุ้นกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หน้าตาราวกับเป็นสัญญาที่ทำขึ้นมาหลอกๆ มากกว่า (ดูประเด็นข้อสงสัยว่าจะมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จของ ส.ว.อุปกิต ได้ที่ https://www.facebook.com/rangsimanrome/posts/749514809864914)
และถ้าสัญญากับนายชาคริสเป็นโมฆะ และ ส.ว.อุปกิตเปลี่ยนไปโอนหุ้นให้นายดีนแทน ซึ่งพบว่ามีการโอนในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 แล้ว ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ทำไมจึงยังแนบหนังสือสัญญาที่เป็นโมฆะนั้นเข้ามาด้วย (ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ผิดข้อเท็จจริงว่ามีการขายโรงแรมให้นายชาคริส) แทนที่จะแนบเอกสารที่ระบุการโอนหุ้นให้นายดีน?
ในทางกลับกัน การชี้แจงครั้งนี้ของ ส.ว.อุปกิตได้สร้างคำถามใหม่ขึ้นมาว่าเงินค่าซื้อโรงแรมที่โอนเข้าบัญชีธนาคารในกัมพูชา 8.15 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ ส.ว.อุปกิตยื่นหนังสือรับรองธนาคารต่อ ป.ป.ช. ซึ่งเงินก้อนนี้เคยเข้าใจกันว่าเป็นเงินจากนายชาคริส (เพราะอ้างอิงจากหนังสือสัญญา 9 พ.ค. 62) ตกลงแท้ที่จริงแล้วเป็นเงินจากนายพันณรงค์อย่างนั้นหรือ? แล้วนายพันณรงค์ยอมจ่ายเงินตั้งแต่ก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายหุ้นกันจริงๆ และก่อนโอนหุ้นให้นายพันณรงค์จริงๆ เป็นปีๆ อย่างนั้นเลยหรือ? ยิ่งเมื่อไปดูในหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างนายดีนกับนายพันณรงค์ (ก.ค. 63) ยังพบอีกว่าเนื้อหาระบุให้มีการซื้อขายกันเป็นเงินบาทไทยจำนวน 300,000,000 บาท ไม่ใช่เงิน 8.15 ล้านดอลลาร์แต่อย่างใด ซึ่งขัดกับที่ ส.ว.อุปกิตชี้แจงไว้ในครั้งนี้
5. ที่ดินและอาคารที่ปัจจุบันเป็นที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นกรรมสิทธิ์ของตน โดยบริษัท UPA (ที่ตนเคยถือหุ้นใหญ่) ขอให้ซื้อต่อเพราะเจอสถานการณ์โควิด ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ตนซื้อในราคาตลาด แล้วคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มาขอเช่าทำออฟฟิศส่วนตัว ตนไม่รู้ว่าภายหลังจะกลายเป็นที่ทำการพรรคการเมือง
ตอบ: หากเชื่อตามที่ ส.ว.อุปกิตชี้แจง ว่าเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ ที่ตนติดป้ายประกาศให้เช่าตึกแล้วมีคนขับรถผ่านมาเห็นสนใจขอเช่า ซึ่งปรากฏว่าคนคนนั้นต่อมากลายเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ หากเชื่อตามนี้ ผมก็ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ณ ตอนที่ ส.ว.อุปกิตรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นมาคือเดือนสิงหาคม 2564 คุณพีระพันธุ์ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้ว 1 ปีครึ่ง มีสื่อมวลชนทำข่าวกันโดยทั่วไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณพีระพันธุ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ คงยากที่ ส.ว.อุปกิต ซึ่งโดยอาชีพต้องติดตามข่าวสารบ้านเมืองจะไม่รู้เลยว่าคุณพีระพันธุ์มีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์การเมือง
และเนื่องจากการเช่าที่ดินและตึกนี้ (ถ้ามีการเช่าจริง) ไม่ได้เช่าระยะยาว (เพราะไม่มีสลักหลังโฉนดไว้) อาจเป็นการเช่าแบบปีต่อปี หมายความว่า ส.ว.อุปกิตต่อให้ตอนแรกอาจไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคุณพีระพันธุ์ แต่เมื่อถึงเวลาต้องต่อสัญญาเช่าก็ย่อมมีโอกาสได้ทบทวนข่าวสารและสถานการณ์ที่ผ่านมา และควรพิจารณาได้ว่ายังเป็นการถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ที่จะให้เช่าต่อ ซึ่ง ส.ว.อุปกิตก็ยังยินยอมให้คุณพีระพันธุ์เรื่อยมาจนถึงพรรครวมไทยสร้างชาติเช่าต่อ (ถ้ามีการเช่าจริง) มาจนถึงทุกวันนี้
ผมขอเตือนความจำอีกครั้งว่าจนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่เคยได้เห็นหน้าตาของสัญญาเช่าตึกและที่ดินระหว่างพรรครวมไทยสร้างชาติกับ ส.ว.อุปกิต ทั้งที่สามารถหยิบมาแสดงให้ดูได้ตั้งนานแล้ว แต่ไม่ว่าจะมีการเช่าหรือไม่ก็ตาม เมื่อผู้ให้เช่าเป็น ส.ว. ก็เข้าข่ายฝักใฝ่หรืออยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองได้อยู่ดี ดังนั้นในเมื่อตอนนี้ ส.ว.อุปกิตทราบแล้วว่าผู้เช่าที่ดินและตึกของตนนั้นมีสถานะคืออะไร ผมหวังว่าเมื่อถึงคราวต้องต่อสัญญาเช่าอีกรอบ (ถ้ามีการเช่าจริง) จะได้เชิญพรรครวมไทยสร้างชาติไปหาที่ทำการใหม่ให้ถูกต้องตามครรลอง
6. ตนไม่มีเส้น ไม่มีผู้ใหญ่ช่วย ถ้ามีคงให้ช่วยปล่อยนายดีน (ลูกเขยที่โดนจับ) ออกมาตั้งแต่แรกแล้ว
ตอบ: คนมีเส้นไม่ได้หมายความว่าจะใช้เส้นกับทุกเรื่อง บางเรื่องได้ไม่คุ้มเสียอาจไม่ใช้ก็ได้
เส้นสายในหลายกรณีไม่ใช่สิ่งที่ใครจะประกาศออกมาดังๆ ให้รู้ทั่วทั้งสังคมว่าตัวเองมี แต่เป็นสิ่งที่จับสังเกตกันได้ผ่านบริบททางการเมือง ตัวอย่างเช่นเมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกตั้งเป็น ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนกลุ่มนั้นก็เลือกคนที่เลือกตัวเองเป็น ส.ว. ให้เป็นนายกฯ สืบทอดอำนาจต่อไป หรือยิ่งไปกว่านั้นคือมีพรรคการเมืองของนายกฯ ใช้งานที่ดินและตึกของตัวเองอยู่ คนที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับผู้มีอำนาจแบบนี้ย่อมเข้าข่ายว่าจะมีเส้นได้
และเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การที่ศาลอนุมัติหมายจับแล้วมาถอนทีหลังเพราะแรงกดดันจากผู้บริหารศาล, การที่ตำรวจ ปส. ที่มีอำนาจออกหมายเรียกได้ไม่ยอมออกเสียทีจนคดีไม่คืบ, การที่ตำรวจที่จับกุมทุนมินลัตและขอหมายจับ ส.ว.อุปกิตถูกเด้งจากตำแหน่งเดิม ทั้งหมดที่เกิดไล่เลี่ยกันยิ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าเส้นสายกำลังทำงานอยู่
การที่จะพิสูจน์ว่าเรื่องการใช้เส้นสายนั้นไม่มีอยู่จริง คือการที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินกระบวนคดีอย่างตรงไปตรงมา เข้าสู่กระบวนการเหมือนกับผู้ต้องหารายอื่นๆ ก่อนหน้านี้
7. ตำรวจที่โดนย้าย เป็นการย้ายตามรอบ ย้ายเพราะไม่มีผลงานในรอบ 3-4 เดือน (ยกเว้นคดีทุนมินลัต) ไม่ได้ย้ายไปตำแหน่งต่ำกว่า ถ้าตนมีอิทธิพลจริงคงให้ย้ายไปไกลแล้ว
ตอบ: ผมต้องให้ข้อมูลกับ ส.ว.อุปกิตด้วยว่าตำรวจที่ทำคดีนี้ที่ถูกย้ายไป ยังมีกรณีของว่าที่ พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผกก.สส.2 บก.สส. บช.น. ที่ถูกคำสั่งเมื่อเดือนมกราคม 2566 ให้ย้ายไปที่ จ.ชัยภูมิ ด้วย นี่คือตัวอย่างของการย้ายไปไกลๆ ที่ ส.ว.อุปกิตกล่าวถึงหรือไม่?
และตลกดีครับที่ ส.ว.อุปกิตต้องช่วยอ้างให้กับพวกบิ๊กตำรวจด้วยว่าที่ย้ายนายตำรวจเหล่านี้เพราะไม่มีผลงานในรอบ 3-4 เดือน “ยกเว้นคดีทุนมินลัต” สุดท้ายก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าพวกเขามีผลงาน และเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงด้วย ซึ่งเอาจริงๆ ผมคิดว่าถ้าผู้บริหารใน ตร. เล็งเห็นศักยภาพของนายตำรวจเหล่านี้จริงๆ แบบที่ไม่มีปัจจัยอื่นมาแทรกซ้อนหรือแทรกแซงแล้ว จะให้ทำงานที่หน่วยเดิมต่อก็ได้
8. การมาปล่อยข่าวโจมตีตนเป็นการกระทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ทำเป็นขบวนการโดยคนที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล
ตอบ: ผมไม่ได้มีธุระที่จะต้องไปหยั่งรู้ว่าตำรวจที่ทำคดีนี้ หรือใครแต่ละคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เขามีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร หน้าที่ของผมในฐานะ ส.ส. คือตรวจสอบนักการเมืองและผู้มีอำนาจ เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่หรือประพฤติมิชอบ ผมก็จำเป็นต้องนำมาพูดในโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องใหญ่ขนาดนี้โอกาสที่จะสื่อสารได้ดีที่สุดก็คือการอภิปรายทั่วไป
และการที่เรื่องคดีฟอกเงินค้ายาเสพติดก็ดี เรื่องถอนหมายจับก็ดี เรื่องที่ดินพรรครวมไทยสร้างชาติก็ดี หรือเรื่องอื่นๆ ก็ดี ได้รับความสนใจทั้งจากประชาชนและสื่อมวลชนขนาดนี้ ก็เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่มีมูลและพยานหลักฐานน่าเชื่อได้จริง ไม่ใช่แค่การพยายามหวังผลทางการเมืองด้วยการกล่าวหาเลื่อนๆ ลอยๆ ดังนั้นไม่ว่า ส.ว.อุปกิตจะพยายามเบี่ยงประเด็นไปเป็นเรื่องเกมการเมืองอย่างไรก็ตามแต่ ผมขอให้พี่น้องประชาชนตัดสินด้วยวิจารณญานของพี่น้องเองว่าสิ่งที่ผมทำลงไปนั้นช่วยรักษาผลประโยชน์ของสังคมหรือไม่
ในทางกลับกัน ผมก็มีข้อสังเกตว่าในขณะที่ ส.ว.อุปกิตอ้างว่าไม่ได้รู้จักกับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นการส่วนตัว ไม่ได้ไปมีส่วนได้เสียอะไร แต่ช่วงหนึ่งของการชี้แจงครั้งนี้กลับพาดพิงบุคคลอื่นที่ไม่รู้ว่าจะพาดพิงไปทำไม พยายามเหลือเกินที่จะลากเอาคนเหล่านั้นมาอยู่ใน “ขบวนการ” ที่อ้างว่าโยงกับพรรคก้าวไกลให้ได้ เช่นนักข่าวท่านหนึ่ง หรือนักวิชาการท่านหนึ่ง ที่เขาก็ทำข่าวหรือแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างเป็นปรกติ การกระทำแบบนี้ของ ส.ว.อุปกิต เป็นการหวังผลทางการเมืองบางอย่างเพื่อให้เป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติที่ใช้ที่ดินและตึกของ ส.ว.อุปกิตอยู่หรือไม่?
9. จะไปร้องศาลอาญาไต่สวนตำรวจที่ทำคดีว่าแปลเอกสารเท็จบิดเบือนนำมาใช้ยื่นขอหมายจับ
ตอบ: อันนี้ก็น่าสนใจ ปรกติแล้วเวลาตำรวจไปขอหมายจับกับศาล โดยนำพยานหลักฐานหรือเอกสารไปยื่นประกอบการพิจารณาด้วยนั้น ในห้องพิจารณาก็มีกันอยู่แค่ศาลกับตำรวจ ไม่ได้มีผู้ที่จะถูกจับไปนั่งอยู่ด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ส.ว.อุปกิตทราบได้อย่างไรว่าตอนขอหมายจับทางตำรวจยื่นเอกสารอะไร ชิ้นใด ไปให้กับศาล ถึงได้กล้ายืนยันว่าเอกสารนั้นเป็นเท็จได้? หรือที่เป็นเช่นนี้เพราะมีใครบางคนที่เข้าถึงเอกสารเหล่านั้นได้ (ตำรวจที่ทำคดี หรือศาล) เอามาให้ ส.ว.อุปกิตได้ดูด้วย?
10. ตนขอสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดในสากลโลก ตนและครอบครัวไม่เคยทำเรื่องผิด โดยเฉพาะยาเสพติดอย่างที่โดนกล่าวหา หากใครให้ร้ายตนและครอบครัว ขอให้คนเหล่านั้นประสบความวิบัติและมีอันเป็นไป
ตอบ: ดูเหมือนว่า ส.ว.อุปกิตจะลืมกล่าวไปว่าหากตนทำผิดจริง จะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตามผมหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีจริง
ทั้งนี้ผมยืนยันว่าไม่เคยมีความบาดหมางใดๆ ในทางส่วนตัวกับ ส.ว.อุปกิต และทุกครั้งที่พาดพิงถึง ส.ว.อุปกิต ผมหมายถึงตัวเขาคนเดียวเท่านั้น มิได้รวมถึงคนอื่นคนใดในวงศ์ตระกูลของเขาด้วย
อนึ่ง เกี่ยวกับกรณี นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และผู้เกี่ยวข้อง สำนักข่าวอิศรา รายงานมาตลอดว่า
ปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินจากศาล ว่ามีความผิดแต่อย่างใด
นายอุปกิต และผู้เกี่ยวข้อง ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ
- ตามหา 'ชาคริส' คนซื้อ รร.ท่าขี้เหล็ก 251 ล.จาก 'อุปกิต'-คนในบ้านแจงอยู่เชียงราย
- ‘โรม’ เปิดปม ส.ว.แจงทรัพย์สิน ป.ป.ช. ปี 62 ส่อเท็จ หลังนิติกรรมขายโรงแรมมีพิรุธ
- ‘ส.ว.อุปกิต’ ฟ้อง ‘ดนัย - อมรรัตน์’ 50 ล้านบาท เสนอข่าวพัน ‘ทุน มิน ลัต’เขียน
- ‘รังสิมันต์’ เปิดแผล ‘ทุนเมียนมา-จีนเทา’ อัด ‘ประยุทธ์’ ละเลยตลอด 8 ปี
- ข้อมูลใหม่! คนรับซื้อ รร.ท่าขี้เหล็ก 251ล. ‘อุปกิต’ส.ว.ที่แท้ผู้ร่วมถือหุ้น บ.อัลลัวร์ กรุ๊ป
- สอบภาษี! ระงับจดทะเบียนเสร็จชำระบัญชี บ.อัลลัวร์ กรุ๊ป กลุ่ม ‘พันณรงค์ ขุนพิทักษ์’
- แกะรอย‘อัลลัวร์ กรุ๊ป’พันณรงค์!‘อุปกิต’ก่อตั้ง-โอนหุ้นหลายครั้ง บ.ฮ่องกงร่วมถือด้วย
- เจาะขุมธุรกิจ ‘พันณรงค์ ขุนพิทักษ์’ ถือหุ้น กก. 7 บริษัท - ‘บลูเคอร์ กรุ๊ป’152 ล.
- ข้อมูลใหม่! ‘พันณรงค์ ขุนพิทักษ์’ ถือหุ้น กก. 7 บริษัท แจ้งใช้ที่อยู่เดียวกับโรงแรม
- โชว์โอนเงินเข้าแบงก์กรุงไทย 278.8 ล.! ไขปม‘พันณรงค์’ถือหุ้น บ.บลูเคอร์ กรุ๊ป 152.8 ล.
- คราวนี้ 30 ล.เข้าแบงก์ กสิกรไทย ‘พันณรงค์ ขุนพิทักษ์’เครือข่ายอัลลัวร์กรุ๊ป
- ส่อง บ.บลูเคอร์ กรุ๊ป ‘พันณรงค์’เครือข่าย‘ทุน มิน หลัด’ ซื้อหุ้น 132 ล.ปริศนา!
- 'อัจฉริยะ' ยื่น ป.ป.ช.สอบ 'อุปกิต' ปมแจ้งบัญชีทรัพย์สินขายโรงแรมท่าขี้เหล็ก
- เปิดตัวนักธุรกิจสปา-อาหารเสริมผู้ซื้อโรงแรมประเทศเมียนมาจาก‘อุปกิต’ 8 ล.ดอลลาร์สหรัฐฯ