"...เหตุการณ์ดังกล่าวล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้วประกอบกับเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อเทียบกับการตัดสิทธิทางการเมองถึงขั้นทำให้มีสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้ว อาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองและอาจถูกดำเนินคดีที่มีโทษทางอาญาอีกซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงเมื่อยังมีข้อสงสัยตามควร จึงสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกร้อง ข้อนี้จึงถือว่าไม่น่าเชื่อถือจะรับฟังมาเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกร้องไม่ได้..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2564 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้ นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. กรณีเคยต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุดจากการกระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกง
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) นับแต่วันเลือกตั้ง คือ วันที่ 24 มี.ค.2562
-
ศาล รธน.มติ 7 ต่อ 2 'สิระ เจนจาคะ'สิ้นสภาพ ส.ส.เหตุเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดคดีฉ้อโกง
-
ข้อโต้แย้ง-คำชี้แจง'สิระ'ก่อนศาล รธน.ชี้ขาด พ้น ส.ส.เหตุเคยต้องคำพิพากษาจำคุกคดีฉ้อโกง
สำหรับ ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 คน คือ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระ ไม่สิ้นสุดลง
บรรทัดต่อจากนี้ คือความเห็นส่วนตนของ นายทวีเกียรติ 1 ใน 2 ตุลาการเสียงข้างน้อยในคดีนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ผู้ถูกร้องกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตาม รธน. มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่
ความเห็น
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยตาม รธน.มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระ สิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2538 ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 ความอาญา เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดกองคดีแขวงปทุมวัน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้๔กร้องเป็นจำเลยว่าผู้ถูกร้องมีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก 8 เดือน ผู้ถูกร้องรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน กับให้ผู้ถูกร้องคืนหรือใช้ราคทรัพย์ 200,000 บาท แก่ผู้เสียหายและริบสัญญาจะซื้อจะขาย
จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 98(10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา 101(6)
เห็นว่า รธน. มาตรา 101(6ป เป็นบทบัญญัติว่าด้วยความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 98 และ รธน.มาตรา 98(10) เป็นบทบัญญัติว่าด้วยบุคคลผู้มีลักษณะที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในกรณีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแห่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
หากพิจารณาใน รธน.มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) แล้ว พบว่าเป็นบทบัญญัติเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือ ในความสุจริตหรือผู้ที่เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะได้ขเมาดำรงตำแหน่งในทางการเมือง อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1.ความร้ายแรงของความผิด
ในส่วนที่เกี่ยวกับฐานความผิดนั้น ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 98(10) ที่ว่า “...ความผิดต่อ...ทรัพย์ที่กระทำโดยสุจิรต...” เมื่อพิจารณาทั้งอนุมาตรารวมกันแล้ว จะเห็นเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า มุ่งหมายวถึงความผิดที่ทุจริตร้ายแรงอันยอมความมิได้เท่านั้น เทียบได้กับการตีความในเรื่องอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279(3) ที่ว่า "เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด" คำว่า "อวัยวะ" ตามข้อนี้เมื่ออ่านทั้งอนุมาตราแล้วก็จะเข้าใจได้ว่ามิใช่จะเป็นอวัยวะใด ๆ ก็ได้ หากแต่หมายจำเพาะอวัยวะที่มีความสำคัญ เทียบเท่าแขน ขา มือ เท้า นิ้ว ที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราเดียวกันเท่านั้น ไม่หมายถึงอวัยวะที่เป็นฟัน ขน เล็บ หนัง...ฯ ด้วย
แม้กฎหมายจะมุ่งหมายว่าผู้แทนราษฎรต้องไม่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจคือไม่ทุจริต แต่ความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นก็มีความใกล้เคียงกับการผิดสัญญาทางแพ่งอันเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกฎหมายจึงกำหนดให้ยอมความได้เพราะมีมูลเหตุมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นการส่วนตัว หากเป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งยอมความไม่ได้จึงจะเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ต่อสาธารณะไม่สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่ ส.ส.จะพึงมี
2.กฎหมายย้อนหลัง
การกำหนดคุณสมบัติตาม รธน.ย่อมกระทำได้เพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติดีกว่าเดิม แต่หากย้อนหลังนำไปใช้กับการให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการกระทำที่มีมาก่อนกฎหมายบัญญัติย่อมจะไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถูกตัดสิทธิและแม้ว่าการตัดสิทธิจะมิใช่เป็นโทษอาญาโดยตรง แต่การย้อนไปตัดสิทธิดังกล่าวอาจมีผลให้ผู้กระทำต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 151 ซึ่งมีโทษอาญาก็เท่ากับเป็นการนำกฎหมายที่มีโทษอาญามาใช้ย้อนหลังบังคับกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนโดยปริยายอาจจะไม่สอดคล้องกับ รธน. มาตรา 29 ได้
3.ระยะเวลาที่ล่วงเลย มากกว่า 20 ปี
ในแง่อายุความ แม้ความผิดที่มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ยังขาดอายุความไม่อาจนำมาฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี... ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมารับโทษ... เกินกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 เป็นอันล่วงเลยการลงโทษจะลงโทษผู้นั้นมิได้ จึงไม่น่าจะนำมาเป็นเหตุเพื่อใช้ตัดสิทธิต่าง ๆ ได้อีก
4.ความน่าเชื่อถือ
เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ความไม่แน่นอนชัดเจนของพยานหลักฐานย่อมอาจคลุมเครือไม่น่าเชื่อถือยิ่งเป็นคดีเล็กน้อยยอมความกันได้ยิ่งยากที่จะมีผู้ใดจดจำอย่างแม่นยำได้ พยานหลักฐานจึงอาจคลาดเคลื่อนจากความจริงได้ การจะนำมาใช้ตัดสิทธิสำคัญและอาจถูกนำไปดำเนินคดีอาญาได้จึงไม่ควรกระทำ
เมื่อนำข้อพิจารณาดังกล่าวมาประกอบกับเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบแล้วความปรากฎว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2537 ผู้ถูกร้องถูกจับกุมที่ สน.ปทุมวัน เลขคดีอาญาที่ 2889/2537 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ได้รับสำนวนจาก สน.ปทุมวัน คดีระหว่าง พ.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกร้องเป็นผู้ต้องหาที่ 1 นายสมชาย เกียรติวิทยาสกุล เป็นผู้ต้องหาที่ 2 และนายสุทธิชัย ดุลยนิษก์ เป็นผู้ต้องหาที่ 3 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง
จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2538 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถูกร้อง ผู้ต้องหาที่ 1 ต่อศาลแขวงปทุมวัน เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขที่ 2218/2538 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 91 และมาตรา 83 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายและริบสัญญาจะซื้อจะขายทั้ง 3 ฉบับ มีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ 2 และผู้ต้องหาที่ 3 เนื่องจากคดีขาดอายุความร้องทุกข์
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2538 ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกร้องมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก 8 เดือน ผู้ถูกร้องรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน กับให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 200,000 บาท และริบสัญญาจะซื้อจะขาย
จากคำชี้แจงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไม่ปรากฎข้อมูลการต้องขังและรายนามผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งเอกสารถูกทำลายจากเหตุน้ำท่วมปี 2554 และศาลอุทธรณ์ชี้แจงว่าไม่มีการอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์
มีประเด็นที่รต้องวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนว่า ผู้ถูกร้องกระทำการอันมีลักษณะต้องตาม รธน.มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่
เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีจะปรากฏว่า ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกร้องมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็ตาม แต่เมื่อผู้ถูกร้องโต้แย้งและมีพยานบุคคลยืนยันว่าได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างเวลาอุทธรณ์คดีดังกล่าว และมีการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายแล้ว โดยที่ได้ชำระค่าเสียหายบางส่วนในวันถัดจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา ส่วนที่เหลือชำระหลังจากนั้น 20 วัน และในระหว่างระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาศาลแขวงปทุมวันได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และไม่รับรองคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุด อีกทั้งผู้ร้องไม่ได้มีพยานหลักฐานใดที่จะแสดงต่อศาล รธน.ว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุด จึงไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริต เหตุการณ์ดังกล่าวล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้วประกอบกับเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อเทียบกับการตัดสิทธิทางการเมองถึงขั้นทำให้มีสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้ว อาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองและอาจถูกดำเนินคดีที่มีโทษทางอาญาอีกซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงเมื่อยังมีข้อสงสัยตามควร จึงสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกร้อง ข้อนี้จึงถือว่าไม่น่าเชื่อถือจะรับฟังมาเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกร้องไม่ได้
ดังนี้ เมื่อความผิดในคดีดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้และรับฟังได้ว่ามีการถอนคำร้องทุกข์และศาลได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว กรณีตามคำร้องจึงถือไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) อันจะทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 101(6) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10)
อ่านประกอบ :
-
ฝ่ายค้านยื่นใหม่ 145 ชื่อส่งศาล รธน.วินิจฉัยสถานะ ส.ส.‘สิระ’ปมเคยติดคุกอีกครั้ง
-
เล็งผลให้รายชื่อไม่ครบ!เพื่อไทยสั่งสอบ ส.ส.ปริศนา โน้มน้าวคนอื่นถอนตัวร้อง ‘สิระ’
-
2 ส.ส.เพื่อไทยถอนชื่อโค้งสุดท้าย! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องชี้ขาด‘สิระ’ปมเคยติดคุก
-
โพรไฟล์-ธุรกิจ 2 ส.ส.เพื่อไทยถอนชื่อโค้งสุดท้าย? ทำ‘สิระ’พ้นเขียงศาล รธน.?
-
ยื่นคำร้องฝ่ายค้านส่งศาล รธน.ชี้ขาดสถานะ ส.ส.‘สิระ’อีกรอบ-เจ้าตัวมั่นใจความบริสุทธิ์
-
ศาล รธน.มติ 7 ต่อ 2 'สิระ เจนจาคะ'สิ้นสภาพ ส.ส.เหตุเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดคดีฉ้อโกง
-
ข้อโต้แย้ง-คำชี้แจง'สิระ'ก่อนศาล รธน.ชี้ขาด พ้น ส.ส.เหตุเคยต้องคำพิพากษาจำคุกคดีฉ้อโกง