"...ดังนั้นวันที่ 4 ส.ค.2538 ที่ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และวันที่ 21 พ.ย. 2538 ที่เป็นวันพิจารณาคดีดังกล่าว นายสิระยังต้องขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร การที่ถูกคุมตัวนอกเรือนจำไปที่ศาล ต้องแต่งกายตามแบบที่กรมราชทัณฑ์กำหนด ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าเป็นดุลพินิจเจ้าพนักงาน เห็นสมควรใช้เครื่องพันธการก็ได้ ฉะนั้นวันที่มีการนัดพิจารณา 21 พ.ย.2538 เชื่อได้ว่า พ.ต.ต.เขมริน เห็นนายสิระ สวมชุดนักโทษ ล่ามโซ่ตรวนที่ขาในห้องพิจารณาคดี คำชี้แจง เรื่องดังกล่าวรับฟังได้ว่าเป็นความจริง..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) นับแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค.2562
และให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตแทนตำแหน่งที่ว่างลงใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน , ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย และใช้เวลา 40 นาทีในการอ่านคำวินิจฉัย
ซึ่ง ศาลพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำชี้แจงพยาน คำชี้แจงของนายสิระในฐานะผู้ถูกร้อง และเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ และมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ไทม์ไลน์คดีปี 38 ‘สิระ’ ต้องโทษจำคุกคดีฉ้อโกง
ศาลพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ ศาลแขวงปทุมวัน ศาลอุทธรณ์ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า
นายสิระ ในฐานะผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้ง และ พ.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ (ยศในขณะนั้น) ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2537 ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องและพวกฐานฉ้อโกง เป็นคดีอาญาที่ 2889/2537 ของ สน.ปทุมวัน
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ชี้แจงเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 ได้ความว่า ได้รับสำนวนจาก สน.ปทุมวัน เป็นสำนวนคดีระหว่าง พ.ต.ต.เขมรินทร์ เป็นผู้กล่าวหา นายสิระเป็นผู้ต้องหาที่ 1 นายสมชาย เกียรติวิทยสกุล เป็นผู้ต้องหาที่ 2 และนายสิทธิชัย ดุลยนิษก์ เป็นผู้ต้องหาที่ 3 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง
ต่อมาวันที่ 4 ส.ค.2538 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสิระ เป็นจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวัน คดีอาญาหมายเลขดำ ที่ 812/2538 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 91 และมาตรา 83 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายและริบสัญญาจะซื้อจะขาย 3 ฉบับ โดยพนักงานอัยการสั่งยุติดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ 2 และ 3 เนื่องจากคดีขาดคอายุความร้องทุกข์
วันที่ 21 พ.ย. 2538 ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2218/2538 ว่า ผู้ถูกร้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน รับสารภาพเป็นประโยชน์ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน ให้ชดใช้ราคาทรัพย์ 2 แสนบาทแก่ผู้เสียหาย และริบสัญญาจะซื้อจะขาย 3 ฉบับ
จากคำชี้แจงศาลแขวงปทุมวันลงวันที่ 23 มี.ค.2564 ได้ความว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 ศาลแขวงปทุมวันดำเนินการปลดทำลายสำนวนความ และเอกสารไปตามระเบียบแล้ว จึงส่งสำเนาปลดสำนวนและสำเนาคำพิพากษาต่อศาล รธน. ศาลอุทธรณ์ชี้แจงตามเอกสารเมื่อ 2 เม.ย. 2564 สรุปความได้ว่าไม่มีการอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครชี้แจงต่อศาล รธน. ตามหนังสือลงวันที่ 29 มี.ค. 2564 สรุปความได้ว่า ไม่ปรากฏข้อความการต้องขังและในนามผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์และปี 2554 เกิดน้ำท่วมในเรือนจำเอกสารที่ถูกจัดเก็บได้รับความเสียหายไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2538 นายสิระเคยต้องคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวัน ว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งกระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา คดีดังกล่าวไม่มีการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องชี้แจง ‘สิระ’ ถูกจับคดีอื่นด้วย-ถูกคุมขังในเรือนจำ
พล.ต.ต.เขมรินทร์ (ยศในปัจจุบัน) ชี้แจงต่อศาล รธน. สรุปความได้ว่า พยานเพียงผู้เดียวงเป็นผู้เช่าซื้อรถ 3 คัน จ่ายเงินดาวน์รวม 1,108,317.50 บาท ซึ่งนายสมชาย และนายสิทธิชัย เป็นเจ้าหน้าที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เป็นผู้จัดทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ บุคคลทั้ง 2 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทำความผิดของผู้ถูกร้อง กล่าวคือ ทั้ง 2 คนไม่ได้นำรถยนต์ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก ทำให้หลงเชื่อว่า รถยนต์มีอยู่จริง ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเลขเครื่อง และเลขตัวถังรถยนต์ ไม่ได้อยู่ในสารบบของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ แม้จะผ่อนส่ง ชำระค่างวดครบก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ รถยนต์ที่นำมาแสดงก่อนทำสัญญาเช่าซื้อ เป็นรถที่มีรุ่นและมีสีตรงกัน จึงได้ร้องทุกข์ สน.ปทุมวัน ดำเนินคดี นายสมชาย และนายสิทธิชัยเพิ่มเติม หลังจากได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนายสิระ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง
เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ส่งอัยการและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นายสมชายและนายสิทธิชัยให้เหตุผลว่า พยานไม่ได้ร้องทุกข์ภายในอายุความ 3 เดือน
ส่วนกรณีที่ทราบว่า นายสิระ ถูกจับและดำเนินคดีอื่นนั้น ไม่ได้สอบถามจากนายสิระหรือพนักงานราชทัณฑ์ในคดีที่ถูกจับกุม แต่ทราบว่า นายสิระ ถูกจับกุมที่ สน.ลุมพินี และศาลตัดสินคดีแล้ว ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และมีคดีความอื่นๆ อีก ซึ่งพนักงานสอบสวนดำเนินการอายัดตัวเพื่อดำเนินคดีความผิดที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ หลังศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษา พยานไม่เคยได้รับเงินจากนายสิระ หรือผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นและไม่เคยถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันตามกฎหมาย
‘สิระ’ อ้างไม่ถูกคุมขัง ได้ประกัน ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว
นายสิระในฐานะผู้ถูกร้อง ชี้แจงต่อศาล รธน. สรุปได้ว่า รู้จักกับ ร.ต.อ.เขมรินทร์ (ยศในขณะนั้น) เนื่องจากเคยทำสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์ 3 คัน แต่ พ.ต.ต.เขมรินทร์ (ยศในขณะต่อมา) ไม่ได้เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 ของศาลแขวงปทุมวัน โดยผู้เสียหายในคดีนั้นมี 2 คน พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวเนื่องจากการฟ้องในคดีที่ พ.ต.ต.เขมรินทร์ เป็นผู้เสียหาย ต้องมีจำเลยรวม 3 คน
แต่ในคดีที่ผู้ร้องอ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติม มีจำเลยคนเดียวคือนายสิระ ซึ่งไม่เป็นไปตามสำนวนในคดีที่มีการฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวัน และในคดีดังกล่าว ไม่มีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำนวน 2,853,158.75 บาท ตาบัญชีทรัพย์ที่เสียหาย คดีที่กล่าวอ้างพนักงานสอบวนและอัยการน่าจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากผู้ถูกร้องกับพวกไม่ได้ฉ้อโกงตามสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้เสียหายตามที่มีการแจ้งความร้องทุกข์และการซื้อรถยนต์ 3 คันเป็นการเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไม่ได้ซื้อกับตนเองและพวก
ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้เสียหายลงชื่อรับรองหน้าสำนวนคดีดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากคนลงลายมือชื่อช่องโจทก์เป็นพนักงานอัยการ ผู้เสียหายไม่ได้เป็นโจทก์ร่วม อีกทั้งลายมือไม่เหมือนกับลายมือชื่อในหน้าสำนวน ประกอบกับไม่มีเจ้าหน้าที่รับรองว่าลงลายมือชื่อด้วยตนเองเป็นผู้เสียหาย
ต่อมา 21 พ.ย. 2538 ศาลมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว นายสิระอ้างว่าไปฟังคำพิพากษาโดยไม่ได้ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังในเรือนจำ และได้เจรจาชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย แต่ในวันฟังคำพิพากษาผู้ถูกร้องไม่สามารถนำเงินไปชำระแก่ผู้เสียหายได้ ศาลพิพากษาให้ชำระเงิน 2 แสนบาทแก่ผู้เสียหาย และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยนายโสภณ เจนจาคะ พี่ชาย นำเงินสด วางเป็นหลักประกัน
หลังจากศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษา นายสิระและนายโสภณ นัดผู้เสียหายทั้ง 2 คน เจรจาที่สำนักงานขายรถยนต์ของนายโสภณ และตกลงจ่ายเงินคนละ 1 แสนบาทตามคำพิพากษา โดยตกลงขอจ่าย 2 งวด งวดแรกเป็นเงินสด 5 หมื่นบาท งวดที่สองจ่ายหลังจากนั้น 20 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2 แสนบาท โดยนัดตกลงกันจ่ายที่เป็นเงินสดที่ศาลแขวงปทุมวัน มีบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายและใบรับเงินชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อชำระหนีครบถ้วน ผู้เสียหายจะยื่นถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลแขงงปทุมวัน ซึ่งผู้เสียหายยื่นคำร้องถอนคำร้องทุกข์ ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ
แต่เอกสารการชำระหนี้ และเอกสารสำเนาคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ได้เก็บไว้และไม่สามารถขอคัดถ่ายเอกสารได้ เนื่องจากเป็นเวลานานแล้ว ประกอบกับเอกสารถูกทำลายตามวิธีของศาลยุติธรรม
นายสิระ ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากมีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามคำพิพากษาก่อนครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์ ศาลแขวงปทุมวันมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
พี่ชาย ‘สิระ’ ระบุจำไม่ได้ผู้เสียหายคือใคร
นายโสภณ เจนจาคะ พี่ชายนายสิระ ชี้แจง ศาล รธน. สรุปได้ว่า เป็นผู้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสิระตั้งแต่วันฟ้องคดี วันที่ 4 ส.ค.2538 ใช้เงินสด 1 แสนบาทเป็นหลักประกัน ต่อมา 21 พ.ย.2538 นายสิระไม่สามารถหาเงินค่าเสียหายมาชำระแก่ผู้เสียหาย ศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือนและให้ใช้ค่าเสียหาย 2 แสนบาท จึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินสดและสัญญาประกันเดิม และไม่รู้จัก ร.ต.อ.เขมรินทร์ (ยศในขณะนั้น) โดยเท่าที่จำได้ คดีอาญาหมายเลขดำ 812/2534 หมายเลขแดง 2218/2538 ของศาลแขวงปทุมวัน มีผู้เสียหาย 2 คน จำชื่อไม่ได้ มีค่าเสียหาย 2 แสนบาท และผู้เสียหายไม่เคยแจ้งว่ามีค่าเสียหาย 2,853,158.75 บาท
ระหว่างพิจารณาคดี นายสิระตกลงชดใช้ค่าเสียหายภายใน 21 พ.ย.2538 แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระแก่ผู้เสียหายได้ หลังศาลมีคำพิพากษาจึงได้ติดต่อเพื่อเจรจาชำระหนี้ 22 พ.ย.2538 นัดผู้เสียหายมาเจอที่สำนักงาน และได้ตกลงชำระค่าเสียหาย 2 งวด และตกลงจะยื่นถอนคำร้องทุกข์ มีการบันทึกเป็นเอกสารไว้ เมื่อชำระเงินครบกำหนด ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ แต่จำไม่ได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองคนเป็นใคร เพราะเป็นเวลานาน และปี 2538 ผู้ถูกร้องถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเช็คหลายคดี และไม่ได้เก็บเอกสารที่มีการชำระหนี้ไว้ แต่จำได้ว่าผู้เสียหายไม่ใช่นายตำรวจที่มียศ ร้อยตำรวจเอก หรือพันตำรวจตรี
ศาลชี้กล่าวอ้างลอยๆ ขาดน้ำหนักรับฟังปมจำผู้เสียหายไม่ได้
ศาลเห็นว่า จากคำชี้แจง พล.ต.ต.เขมรินทร์ และนายโสภณ โดยลำพังไม่อาจเชื่อคำชี้แจงไปทางใดทางหนึ่งได้ ต้องพิจารณาคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบด้วย คำชี้แจงของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ตามหนังสือที่ อส.00256/440 วันที่ 8 เมษายน 2564 ได้ความว่า คดีที่พนักงานอัยการสูงสุด กองคดีแขวงปทุมวันยื่นฟ้อง นายสิระเป็นจำเลยคดีอาญาหมายเลขดำ 812/2534 หมายเลขแดง 2218/2538 ต่อศาลแขวงปทุมวัน ที่มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2538 ว่า นายสิระ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 พนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีจาก สน.ปทุมวัน มี พ.ต.ต.เขมรินทร์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา
และมีหนังสือของ พ.ต.ต.เขมรินทร์ ชี้แจงต่อประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎรว่า ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง คดีอาญา 2889/2537 พร้อมส่งสำเนาคำให้การในชั้นสอบสวนต่อประธาน กมธ.
เช่นนี้ฟังได้ว่า คดีอาญา 2889/2537 ของ สน.ปทุมวัน มี พ.ต.ต.เขมรินทร์เป็นผู้กล่าวหา ประกอบกับหน้าสำนวนคดีอาญาดังกล่าว พ.ต.ต.เขมรินทร์ ลงชื่อช่องโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย แม้ลายมือชื่อบันทึกหน้าสำนวนจะไม่ตรงกับ ขณะเป็น ร.ต.อ.ตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่หากดูลายมือชื่อที่ลงไว้ในผู้กล่าวหาและพยานในสำนวนคดีดังกล่าว เปรียบเทียบลายมือชื่อในหน้าสำนวน มีลักษณะลายมือชื่อเหมือนกัน ลายมือชื่อมีระยะเวลาห่างกัน 1 ปีเศษ ไม่เหมือนกับการลงลายมือชื่อในขณะที่มียศเป็น พล.ต.ต. ประมาณ 27 ปี เช่นนี้การลงลายมือชื่อหาได้มีข้อพิรุธเป็นคนละคนกันตามที่มีกล่าวอ้าง
ส่วนการลงชื่อ พ.ต.ต.เขมรินทร์ บันทึกหน้าสำนวน แม้ไม่ได้ร่วมเป็นโจทก์ แต่การที่เจ้าหน้าที่ศาลยอมให้ลงชื่อในช่องโจทก์ร่วมพนักงานอัยการ โดยไม่ได้ความว่ามีการโต้แย้งในภายหลัง เช่นนี้ย่อมแสดงว่า พ.ต.ต.เขมรินทร์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับฝ่ายโจทก์ในคดีอาญาโดยเป็นผู้เสียหายได้
ส่วนที่กล่าวอ้างว่า คดีดังกล่าวต้องมีผู้ถูกฟ้อง 3 คนนั้นได้ความว่า คดีนี้นายสิระ เป็นผู้ต้องหาที่ 1 นายสมชาย ผู้ต้องหาที่ 2 นายสิทธิชัย ผู้ต้องหาที่ 3 ซึ่งผู้ต้องหาที่ 2-3 คดีขาดอายุความร้องทุกข์ จึงแจ้งยุติดำเนินคดี การที่อัยการฟ้องนายสิระคนเดียว จึงถูกต้องแล้ว
การที่นายสิระกล่าวอ้างว่า พ.ต.ต.เขมรินไม่ใช่ผู้เสียหายคดีดังกล่าว และนายสิระ รวมถึงพยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นเสียหายก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อปฏิเสธโดยง่าย ขาดน้ำหนักในการรับฟัง
พบ ‘สิระ’ สวมชุดนักโทษ-โซ่ตรวน มีคำพิพากษาจำคุกอีก 4 คดี
นอกจากนี้ได้คำชี้แจงจาก พ.ต.ต.เขมรินทร์ ที่ชี้แจงต่อ ประธาน กมธ.ป.ป.ช. ว่า วันที่ 21 พ.ย.2538 ได้ไปศาลแขงวงเพื่อเบิกความเป็นพยานในคดีอาญาดังกล่าว ได้เห็นนายสิระ สวมใส่ชุดนักโทษ ถูกล่ามโซ่ตรวจที่ขา มีพนักงานราชทัณฑ์ควบคุมตัวเข้ามายังห้องพิจารณา พ.ต.ต.เขมรินทร์ ทราบว่า นายสิระถูกจับกุมดำเนินคดีที่สน.ลุมพินี ศาลมีคำพิพากษาและถูกคุมขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามหนังสือศาลแขวงพระนครใต้ ลงวันที่ 28 มิ.ย.2564 มีใจความว่า คดีอาญาที่เกิดขึ้นในปี 2538 ของศาลแขวงพระนครใต้ มีนายสิระ เป็นจำเลยรวม 4 คดี
-
คดีที่ 1 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 891/2538 หมายเลขแดงที่ 828/2538 มีคำพิพากษาเมื่อ 16 ม.ค.2538 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 เดือน
-
คดีที่ 2 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 491/2538 หมายเลขแดงที่ 1308/2538 มีคำพิพากษาเมื่อ 21 มิ.ย.2538 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ถูกจำคุก 5 เดือน ให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 828/2538
-
คดีที่ 3 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 494/2538 หมายเลขแดงที่ 2035/2538 มีคำพิพากษาเมื่อ 2 มี.ค.2538 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง จำคุก 1 เดือน ให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 828/2538
-
คดีที่ 4 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1496/2538 หมายเลขแดงที่ 2982/2538 มีคำพิพากษาเมื่อ 23 มี.ค.2538 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง จำคุก 1 เดือน ให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2035/2538
เมื่อคำนวณโทษจำคุกของผู้ถูกร้องทั้ง 4 คดี วันที่ 4 ส.ค.2538 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งในวันที่ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาในคดีนั้นเป็นคดีหมายเลขที่ 2218/2538 นายสิระยังต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครใต้ สอดคล้องกับหนังสือเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ส.ค. 2538 ได้ความว่า วันดังกล่าวนายสิระถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตามหมายขังระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีอาญา
ดังนั้นวันที่ 4 ส.ค.2538 ที่ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และวันที่ 21 พ.ย. 2538 ที่เป็นวันพิจารณาคดีดังกล่าว นายสิระยังต้องขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร การที่ถูกคุมตัวนอกเรือนจำไปที่ศาล ต้องแต่งกายตามแบบที่กรมราชทัณฑ์กำหนด ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าเป็นดุลพินิจเจ้าพนักงาน เห็นสมควรใช้เครื่องพันธการก็ได้ ฉะนั้นวันที่มีการนัดพิจารณา 21 พ.ย.2538 เชื่อได้ว่า พ.ต.ต.เขมริน เห็นนายสิระ สวมชุดนักโทษ ล่ามโซ่ตรวนที่ขาในห้องพิจารณาคดี คำชี้แจง เรื่องดังกล่าวรับฟังได้ว่าเป็นความจริง
คำชี้แจงฝ่ายนายสิระที่กล่าวอ้างว่า ในการพิจารณาคดีของศาลแขวงปทุมวันจนถึงวันที่มีคำพิพากษาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอดไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนไม่มีน้ำหนักในรับฟัง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันที่ 21 พ.ย.2538 วันที่ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษา นายสิระถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อันทำให้ข้ออ้างที่นายสิระ กล่าวอ้างว่า ได้รับการปล่อยตัว ชดใช้ค่าเสียหาย และมีการถอนคำร้องทุกข์จึงขาดความน่าเชื่อถือ คำชี้แจงจึงไม่เป็นความจริง เช่นนี้ข้ออ้างที่ว่า พ.ต.ต.เขมรินทร์ เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และไม่เคยมีการยอมความ มีน้ำหนักให้รับฟัง
ล้างมลทินไม่อาจล้างการกระทำความผิดทางอาญา
ส่วนข้อกล่าวอ้างของนายสิระที่ว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 2001/2550 หมายเลขแดงที่ อ 2748/2550 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2550 หมายเลขแดงที่ 229/2550 ของศาลแขวงจังหวัดแพร่ที่นายสิระเป็นจำเลย ที่ทั้ง 2 ศาลมีคำพิพากษารอการลงโทษจำคุก โดยกล่าวอ้างว่าไม่ปรากฏว่า เคยรับคำโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งหากนายสิระต้องคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 ของศาลแขวงปทุมวัน อันถึงที่สุดให้จำคุกแล้ว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้รอการลงโทษได้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539 ประกาศใช้ นายสิระ ย่อมได้รับการล้างมลทินโทษ ตามกฎหมาย ซึ่งถือว่าไม่เคยถูกลงโทษจำคุกฐานฉ้อโกงในคดีนั้นมาก่อน ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศาลจังหวัดแพร่ อาจใช้ดุลพินิจรอการลงโทษได้
แต่การได้รับประโยชน์จากการล้างมลทินดังกล่าว ไม่อาจเป็นการล้างการกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาได้
ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกร้องทุกข้อจึงไม่อาจรับฟังได้
สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดตั้งแต่วันเลือกตั้ง 24 มี.ค.62
ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พ.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 812/2538 หมายเลขแดงที่ 2218/2538 ของศาลแขวงปทุมวัน และ พ.ต.ต.เขมรินทร์ ไม่เคยยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์คดีเป็นเหตุให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบ เช่นนี้ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลแขวงปทุมวัน นายสิระจึงเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน ว่าได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อนายสิระเคยถูกคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา นายสิระจึงเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตาม รธน. มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระ สิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 101 (6)
มาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
มาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลที่มีลักษณะต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
บทบัญญัติของมาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (10) เป็นบทบัญญัติเพิ่มขึ้นใหม่เป็นลักษณะต้องห้ามบางประการ ของบุคคลเพื่อไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริต หรือผู้ที่เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นหนทางใช้อำนาจหน้าที่ฝ่ายการเมืองกระทำการทุจริตหรือกระทำมิชอบได้โดยง่าย
ทั้งนี้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อใด รธน.มาตรา 100 บัญญัติว่า สมาชิกภาพ ส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง และเมื่อมาตรา 101 (6) สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (10) ที่บัญญัติว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
บทบัญญัติของ รธน.มาตราดังกล่าว บัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว กล่าวคือ ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มิใช่ว่า ต้องไม่มีอยู่ในขณะรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องไม่มีตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส.ด้วย หาก ส.ส.ผู้นั้นมีเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามเมื่อใดย่อมต้องทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงทันที จึงเป็นกรณีที่นายสิระ มีลักษณะต้องห้าม ตั้งแต่วันที่ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คือวันที่ 4 ก.พ.2562 แล้ว
แต่ รธน.มาตรา 100 บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส.เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง เช่นนี้ สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระ จึงสิ้นสุดลง นับแต่วันทีเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค.2562 และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง
เมื่อสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสิระสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ตำแหน่งว่างลง และให้วันที่ตำแหน่งว่างลงคือวันที่ศาล รธน.อ่านคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิระ เจนจาคะ เป็น ส.ส. กทม. เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ ผลจากคำพิพากษา ส่งผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมใน กทม. เขต 9 ภายใน 45 วัน
อ่านประกอบ :
-
ฝ่ายค้านยื่นใหม่ 145 ชื่อส่งศาล รธน.วินิจฉัยสถานะ ส.ส.‘สิระ’ปมเคยติดคุกอีกครั้ง
-
เล็งผลให้รายชื่อไม่ครบ!เพื่อไทยสั่งสอบ ส.ส.ปริศนา โน้มน้าวคนอื่นถอนตัวร้อง ‘สิระ’
-
2 ส.ส.เพื่อไทยถอนชื่อโค้งสุดท้าย! ศาล รธน.ไม่รับคำร้องชี้ขาด‘สิระ’ปมเคยติดคุก
-
โพรไฟล์-ธุรกิจ 2 ส.ส.เพื่อไทยถอนชื่อโค้งสุดท้าย? ทำ‘สิระ’พ้นเขียงศาล รธน.?
-
ยื่นคำร้องฝ่ายค้านส่งศาล รธน.ชี้ขาดสถานะ ส.ส.‘สิระ’อีกรอบ-เจ้าตัวมั่นใจความบริสุทธิ์
-
ศาล รธน.มติ 7 ต่อ 2 'สิระ เจนจาคะ'สิ้นสภาพ ส.ส.เหตุเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดคดีฉ้อโกง