กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน แม้จะไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา แต่เราก็สนับสนุนงบฯ ด้านนี้ ปี 2562 อยู่ที่ 187 ล้านบาท รวมเงินเดือนบุคลากรครูที่เป็นข้าราชการ วัสดุอุปกรณ์ คู่มือการศึกษา และเครื่องแบบนักเรียน
ในวันแถลงข่าวเปิดแคมเปญฟีลกู๊ดรับปีใหม่ "ส่งสุข ส่งฟรี" ปีใหม่ 2563 ซึ่งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) เชิญชวนคนไทยร่วมส่งต่อความสุขผ่านไปรษณีย์ไทย สู่โรงเรียนตชด. 218 แห่งทั่วไทย โดยส่งมอบสิ่งของจำพวกอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา เครื่องเขียน หรืออื่นๆ ที่ยังอยู่ในสภาพดี สามารถใช้งานได้ น้ำหนักไม่เกิน 5 กิโลกรัมต่อกล่อง (ไม่จำกัดจำนวนกล่อง) โดยไม่เสียค่าจัดส่ง (ไม่รวมค่ากล่อง) (อ่านประกอบ:ไปรษณีย์ไทย-ตชด.ชวนคนไทย ' ส่งสุข ส่งฟรี' ปีใหม่ 2563 )
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถึงโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาพจำในอดีตและปัจจุบัน ความยากลำบาก รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2499 ที่หมู่บ้านดอนมหาวัน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2499 ซึ่งใช้ชื่อว่า “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 1” การจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ ระยะเริ่มแรกไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน ครูต้องใช้ตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่เหล่านักเรียนจะเป็นที่เด็กยากจน ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน
ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพเด็กๆ ได้รับการแจกหนังสือ อุปกรณ์การเรียนจากผู้มีจิตเมตตาบริจาค ผ่านตำรวจตระเวนชายแดนเสมอๆ
ข้อมูลล่าสุด ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนตชด. มีทั้งสิ้น 218 แห่ง (จากอดีตมี 761 แห่ง มอบโอนไป 490 แห่ง ยุบเลิก 53 แห่ง ทำให้ปัจจุบันคงเหลือ 218 แห่ง) แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา 216 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง นักเรียนรวมทั้งสิ้น 26,417 คน
พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ เล่าถึงภาพจำในอดีต “ตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ รวมทั้งครูโรงเรียนตชด. จะเฝ้ารอสิ่งหนึ่งที่มาจากแนวหลัง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ลูก ภริยา เราแทบไม่สามารถสื่อสารกันได้ในทางช่องทางอื่นเลย นอกจากจดหมายที่ส่งผ่านไปรษณีย์ไทย ดังนั้นเมื่อเราเห็น ฮ.บินมาพร้อมยกของลงมา ไม่ว่าจะเป็นลัง หรือภาชนะอะไรก็แล้วแต่ ในนั้นจะมีจดหมายที่ประทับตราว่า “ราชการสนามชายแดน” ซึ่งสมัยนั้นไปรษณีย์ไทย บริการให้เราฟรี ทั้งส่งถึงตำรวจตระเวนชายแดน และส่งกลับ”
รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ชี้ว่า กว่าร้อยละ 20 ของโรงเรียนตชด.เดินทางไปยากลำบากมาก ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ในทุกฤดูกาล ขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่ก็มีฐานะยากจน ด้อยโอกาส ส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย (กระเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ อาข่า ลั๊วะ ลีซอ ฯลฯ) ที่ไม่รู้ภาษาไทย จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน
เมื่อถามถึงพื้นที่ตั้งโรงเรียน ตชด.ที่เดินทางยากลำบากมากที่สุด เขาทวนคำถาม ก่อนตอบ หากจะให้ระบุ โรงเรียนตชด.ไกลที่สุด หรือเดินทางยากที่สุดนั้น จะพบว่า ไกลที่สุดแต่อาจจะอยู่ใกล้ ที่บอกว่าไกล เพราะต้องใช้เวลาเดินนาน เนื่องจากไม่มีถนนหนทาง ต้องใช้อากาศยาน หรือไม่ก็เดินเท้าเท่านั้น
“โรงเรียนตชด. ไกลสุด น่าจะเป็นโรงเรียนตชด.บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก หรืออย่างศูนย์การเรียน ตชด. ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค บ้านปางสนุก ต.ไลโว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ระยะทางแค่ 7 กิโลเมตร จากถนน แต่ต้องใช้เวลาเดินเท้าถึง 3 วัน ช่วงที่ไม่มีฝน รถยนต์เข้าได้ แต่พอถึงฤดูฝนต้องเดินอย่างเดียว”
สำหรับงบประมาณสนับสนุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โรงเรียนตชด. 218 แห่ง พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ ระบุว่า กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน แม้จะไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา แต่เราก็สนับสนุนงบฯ ด้านนี้ โดยมีตัวเลขล่าสุด ปี 2562 อยู่ที่ 187 ล้านบาท รวมงบเงินเดือนบุคลากรครูที่เป็นข้าราชการ วัสดุอุปกรณ์ คู่มือการศึกษา และเครื่องแบบนักเรียน
โรงเรียนตชด. 218 แห่ง ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และขนาดกลาง นอกจากครูตชด. 1,304 คน แล้ว ยังมี
- ครูพลเรือน (อัตราจ้างจากบช.ตชด.)
- ผู้ดูแลเด็กเล็ก (อัตราจ้างจาก บช.ตชด.)
- ครูอาสาช่วยสอน (ไม่มีค่าจ้าง)
- ครูที่ได้รับค่าจ้างจากสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ครูที่ได้รับค่าจ้างจากองค์การบริหารส่วนตำบล
- ครูที่ได้รับค่าจ้างจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด
และครูที่ได้รับค่าจ้างจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
รวมกันเกือบ 2,000 คน
ส่วน "ผู้ดูแลเด็กเล็ก" รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ขยายความถึงที่ไปที่มาว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ครู หรือผู้ดูแลเด็กเล็ก ซึ่งวันนี้มีจำนวน 232 คน มาดูแลเด็กในถิ่นทุรกันดารตั้งแต่อยู่ในท้อง คลอดออกมา โตขึ้นมานิดก็มาเข้าอนุบาล โดยท่านมีพระประสงค์ ให้บช.ตชด. จ้างคนในชุมชนที่จบวุฒิปริญญาตรีกลับมาทำงานในถิ่นเดิม เช่นเดียวกับโครงการคุรุทายาท บช.ตชด.อยู่ระหว่างดำเนินการ
“โรงเรียน ตชด.มีภารกิจหลัก 2 อย่าง คือ สอนหนังสือ กับให้ความรู้ทักษะการดำรงชีวิต เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ สิ่งที่เราขาดในส่วนการศึกษา คือ เด็กพูดภาษาไทยไม่ได้ ฉะนั้น การเรียนการสอนจึงเน้นการสอนภาษาไทยอย่างเข้มข้น เรียนภาษาไทย พร้อมไปกับเสริมสร้างทักษะอาชีพที่ตรงกับบริบทของชุมชน เช่น สอนวิชาการซ่อมรถจักรยานยนต์ ”
และเมื่อถามถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โรงเรียนตชด.กับการเรียนการสอน พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมียังไม่ครบทุกแห่ง มีเป็นบางแห่ง ล่าสุดขาดอยู่ 100 กว่าแห่ง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ต (USONET) แต่ก็พบปัญหาไม่มีไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตพร้อม แต่ไฟฟ้าไม่มี ปัจจุบันทางแก้ปัญหานี้ คือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์
สุดท้ายที่โรงเรียนตชด.ยังขาด นอกจากอุปกรณ์การเรียนการสอนแล้ว พล.ต.ต.พันธุ์พงษ์ เห็นว่า สำคัญที่สุด นั่นก็คือ "ครูเฉพาะวิชา" ที่ปัจจุบันครู 1 คน สอนแทบทุกชั้นเรียน วันนี้เรากำลังจับมือกับสถาบันราชภัฎในพื้นที่พัฒนาครูเฉพาะวิชา โดยหวังว่า อนาคตการจัดการศึกษาโรงเรียน ตชด.จะดีขึ้นๆ ตามลำดับ
ขอบคุณภาพจาก อำเภอโนนสะอาด ต.โนนสะอาด จ.อุดรธานี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/