"คนที่ควรเปลี่ยน Mindset มากที่สุด คือ ผู้บริหารองค์กรนั้นๆ ไม่ใช่เราจะฝึกเด็กขึ้นมา และให้เด็กทำตามที่เราคิดกันมา ยุคใหม่นี้ต้องฟังเด็กให้มาก เราต้องเปลี่ยนตัวเราเอง"
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทผลิตน้ำมันและแก๊สมากว่า 40 ปี มาทำปิโตรเคมีประมาณ 20 ปี เรียกได้ว่า เติบโตคู่กับสังคมไทยมาตลอด ตั้งแต่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” สมัย “ป๋าเปรม” พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
"โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก โลกอยู่ด้วยพลังงาน และใช้พลังงานทุกวัน กลายเป็นสิ่งจำเป็นหลักของเรา ขณะที่พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เริ่มทะลักออกมา ประกอบดิจิทัลเข้ามา เรื่องเซ็นเซอร์ต่างๆ เข้ามา ก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่บนโลกนี้” วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจของปตท.วันนี้ และการเดินต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในยุคที่ต้องจับตามองโลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
“แน่นอนพลังงานมีใช้กันอยู่ ปตท.เองก็มานั่งดูว่า เราจะตามให้ทันโลกได้อย่างไร ถามว่า น้ำมันยังต้องใช้ไหม ผมคิดว่า คนต้องใช้น้ำมันไปอีกหลายสิบปีบางสิ่งไม่สามารถใช้เป็นไฟฟ้าได้หมด เช่น เครื่องบิน เรือเดินสมุทร เราอยู่ในยุคที่ 6 (The 6th cycle 2010-2050) เป็นเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technological Innovation) คาดการณ์ว่า หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกทีหนึ่ง แต่ไม่รู้คืออะไร”
เรื่องของนวัตกรรม มีทั้ง New s-curve (ต่อยอดจากธุรกิจเดิม) กับ New business s-curve (แตกต่างจากธุรกิจเดิม) ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. ชี้ชัดว่า จุดกำเนิดของปตท.ทำธุรกิจน้ำมันและแก๊ส มีหน้าที่จัดหาพลังงานให้กับประเทศให้พอเพียง ไม่ให้ขาด ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการปรับตัวของเรามาเรื่อยๆ
ฉะนั้นการดำเนินธุรกิจปตท.จะไม่ฉีกแนว หรือไม่ดำเนินธุรกิจที่ไม่มอง Oil และ Gas เลย
เขาเห็นว่า ในธุรกิจต่างๆ จะมีช่องทาง (Silver Bullet) ที่เป็นตัวสำคัญให้เกิด Disruption ได้ จึงเป็นหน้าที่ Start up หรือคนที่จะทำนวัตกรรมต้องหาตัวนี้ให้เจอว่า Silver Bullet ของธุรกิจนั้นๆ คืออะไร และพยายามนำออกมาตีโจทย์ให้ถูก แล้วเราจะเจอของใหม่ๆ ได้
สำหรับธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว วิทวัส ชี้ว่า อาจไม่สนใจเรื่อง Disruption เท่าไหร่ บางธุรกิจก็อาจฉีกทางไปทำอย่างอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ทั้งเรื่อง Digitization, 3D-Printing, Blockchain, Big Data และ Internet of Thing (IoT) นั้น เป็นสิ่งใหม่ทำให้โลกเกิด Disrupt ขณะนี้
“เราอยาก Disrupt คนอื่น หรือรอให้คนอื่นมา disrupted ปตท.ก็เช่นกัน ไม่อยากให้คนอื่นมา disrupted” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เน้นย้ำ
ปัจจุบัน ปตท.มีหน่วยงาน เทคโนโลยีและวิศวกรรม เกิดขึ้น อายุยังไม่ถึง 2 ปี “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เคยนั่งเก้าอี้หน่วยงานแห่งนี้ คนเป็นคนแรก ก่อน “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” มารับช่วงต่อเป็นซีทีโอ (Chief Technology and Engineering Officer:CTO) ซึ่งจากบทเรียนจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ถูก disrupt ล้มหายตายจากไปแล้วหลายบริษัท เขาเห็นว่า การที่ธุรกิจประสบความสำเร็จในอดีต จึงไม่ใช่เครื่องการันตีว่า จะประสบความสำเร็จในอนาคตได้
"คนที่ควรเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) มากที่สุด คือ ผู้บริหารองค์กรนั้นๆ ไม่ใช่เราจะฝึกเด็กขึ้นมา และให้เด็กทำตามที่เราคิดกันมา ยุคใหม่นี้ต้องฟังเด็กให้มาก เราต้องเปลี่ยนตัวเราเอง"
วิทวัส ยังย้อนให้เห็นเส้นทางในอดีตที่ปตท.มุ่งเน้นทำเรื่องนวัตกรรม มีการตั้งทีม R&D มาตั้งแต่ปี 2524 มีศูนย์นวัตกรรมอยู่ที่วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นเปลี่ยนชื่อมาเรื่อยๆ กระทั่งเป็น RTI (Research & Technology Institute) ล่าสุด ปี 2561 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Transformed to Innovation Institute (InI)
“อนาคตวังน้อยของปตท.จะไม่เป็นแค่สถาบันค้นคว้าวิจัยอย่างเดียวแล้ว เรามีนักวิจัย มีผลงานวิจัยออกสู่ตลาดที่เกี่ยวข้องกับ Oil และ Gas เป็นหลัก แต่ก็มีงานวิจัยอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวก็มี เช่น แบตเตอรี่ ฉะนั้น ผมมองว่า ที่วังน้อยกำลังจะเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย โดยกำลังเริ่มทำสตาร์ทอัพ นักวิจัยหลายคนเริ่มรู้สึกแล้วว่า ต้องเอาของที่คิด ที่ขึ้นหิ้งเอาไว้เข็ญมาสู่ห้าง นี่คือสิ่งที่กำลังปรับเปลี่ยน”
เมื่อดิจิทัลเป็นตัวหลักที่ทำให้โลกเคลื่อนตัวไป วิทวัส ยืนยันว่า สิ่งที่ปตท.ทำเพื่อเป็นตัวอย่างของประเทศ จะเห็นได้ว่า ตลอดห่วงโซ่การทำธุรกิจของปตท.มีการใช้ดิจิทัลเข้ามาทำงานตลอดเวลา เช่น ปตท.สผ.มีการใช้โดรน หุ่นยนต์ตรวจสอบท่อ ถือเป็นรายแรกที่นำ Internet of Thing (Iot) มาใช้จริง
ปัจจุบันวิศวกรปตท.สามารถรู้ผลการตรวจสอบความผุกร่อนภายนอกท่อส่งก๊าซฯ ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ รวมถึงการนำ Chatbot มาใช้ในการตอบคำถามลูกค้า มีการนำข้อมูลการใช้บัตร PTT Blue Card มาวิเคราะห์ด้วย Big Data แม้กระทั่งการทำธุรกรรม L/C (letter of credit) บน Blockchain สามารถช่วยลดระยะเวลาดำเนินการและการใช้เอกสารลงกว่าครึ่ง ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบบริหาร L/C ในมิติใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ปตท.ยังได้ตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจ รับจ้างแปรอักษรโดยใช้โดรน รวมถึงให้ทุนกับสตาร์ทอัพของคนไทย 2 แห่ง (ทำโดรนพ่นยาฆ่าแมลงในทุ่งนา และแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ ) อีกด้วย
ส่วนการลงทุนใน Venture Capital ปตท.ลงไป 7 กองทุน 4 กองทุนเป็นเรื่องของน้ำมันและแก๊ส ส่วนอีก 3 กองทุน วิทวัส บอก ปตท.ขอฉีกบ้าง "บาง Venture Capital ได้กำไรแล้ว เขาขายธุรกิจได้ 2 เท่าตัว และมีไปลงทุนเรื่องของแบตเตอรี่ด้วย "
ทั้งหมดคือ PTT's New business S-curve กับเส้นทางที่ฉายให้เห็นภาพอนาคตของปตท.