คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช วิเคราะห์สถานการณ์โควิด -19 ในไทย ย้ำชัดช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เข้าสู่โหมดผ่อนผันมาตรการต่างๆ ขอประชาชนยังคงร่วมมือรักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ อยู่เสมอ พร้อมให้ทำใจ เราอาจต้องกลับมาควบคุมสถานการณ์อีกครั้ง หากพบผู้ติดเชื้อพุ่งอีก ระบุ The Hammer and the Dance ทุบด้วยค้อน และเปิดฟ้อนรำ ทุกครั้งที่มีการติดเชื้อ โอกาสที่คนเกิดภูมิคุ้มกัน นี่คือประโยชน์ทางอ้อม
วันที่ 27 เมษายน เวลา 10.00 น. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์สถานการณ์ "การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ผ่านทางเพจ Mahidol Channel และ Siriraj Channel ว่า
ช่วงแรก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วิเคราะห์ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด นับจากวันที่ผู้ติดเชื้อถึง 100 รายทั่วโลก เช่น ประเทศเกาหลีใต้ จากที่ดูเหมือนเอาโควิดไม่ค่อยอยู่ ถึงวันนี้สามารถจัดการโควิดได้ดีมาก เช่นเดียวกับประเทศไทย เราเริ่มต้นดูน่ากลัว แต่เมื่อคนไทยช่วยกันสามารถาเกาะกลุ่มในประเทศควบคุมได้ ขณะที่สิงคโปร์และญี่ปุ่น เริ่มมีมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า สุดท้ายแล้ว 2 ประเทศนี้จะกลับมาควบคุมโรคนี้ได้ดี
ประเทศในอาเซียน อย่าง ประเทศสิงคโปร์มีผู้ป่วยเกิดใหม่สูงสุด รวมกว่าหมื่นราย แต่อัตราเสียชีวิตต่ำ ส่วนมาเลเซีย กราฟเริ่มวิ่งลงขนานกับประเทศไทย ขณะที่ประเทศไทยทำได้ดีติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึงสามพันคน อัตราการเสียชีวิต 1.8% และมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหาย เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 300 กว่าราย ถือว่า บ้านเราทำได้ดีมาก
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน โดยเฉพาะในกรุงเทพลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง ถือว่า บ้านเราทำได้ดี คุมได้ จัดการได้ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่วันที่ 26 เมษายน อยู่แค่ 15 ราย
"ยุทธศาสตร์ที่เราจัดการโควิด-19 คือยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดลดผู้ป่วยใหม่ลงให้ได้ หน้าที่หลักคือคนไทยทั้งประเทศ ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ ก็คือกระทรวง ทบวง กรม บุคลากรที่ดูแลระบบสุขภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน ณ วันนี้คนไทยทั้งประเทศช่วยกันทำ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รักษาระยะห่าง การใส่หน้ากากเป็นกิจวัตรประจำวันไปเรียบร้อยแล้ว และเกิดจากจิตสำนึกที่ดี มีวินัยของคนไทยกันเอง"
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ เรามีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน บุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสพักผ่อนบ้าง แต่ก็พร้อมต่อสู้และทุ่มเทเสมอ ซึ่งการที่เรามีผู้ป่วยรักษาหายมากกว่าผู้ป่วยเข้าใหม่ จึงถึงเวลาต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว
"ผมอยากชวนคนไทยเข้าใจยุทธศาสตร์ค้อนกับการฟ้อนรำ (The Hammer&The Dance) การทุบด้วยค้อน (ควบคุม) และเปิดให้ฟ้อนรำ (ผ่อนคลาย) หลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย โดยมีมาตรการที่แตกต่างกัน เพราะบริบทแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน "
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช กล่าวถึงเหตุผลที่ทำไมต้องเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ เพราะการทุบด้วยค้อน หรือการควบคุมนั้นไม่ควรทำเป็นเดือนๆ เพราะสิ่งที่แลกมา คือเศรษฐกิจ ขณะที่ความตึงเครียดในสังคมจะเพิ่มขึ้น การใช้ยุทธศาสตร์ทุบด้วยค้อนจะทำประมาณหนึ่งถึงเดือนครึ่ง จากนั้นต้องหาจุดสมดุล
ส่วนการเข้าสู่ช่วงโหมดที่สอง ที่เปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ ทำดีหรือไม่ดีจะเกิดอะไรขึ้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยผ่านเกณฑ์หลายๆ ตัว ตัวเลข ค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน ค่า RO อยู่ที่ 0.6 จึงถึงเวลาเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำหรือผ่อนคลายได้ อีกทั้งที่ผ่านมาคนไทยให้ความร่วมมือดีมาก ใส่หน้ากาก มีเจลล้างมือ การให้ความรู้กับสังคม ไทยทำได้ดี และการปิดสถานที่คนจำนวนมาก รัฐบาลได้ทำไปแล้ว
"แต่หากมีการผ่อนคลายแล้ว พบว่า ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก รัฐไทยจะต้องกลับมาทบทวนมาตรการต่างๆ ว่า ได้ผลหรือไม่ เราจำเป็นต้องดึงคนไข้กลับมาให้ได้ก่อนถึงวิกฤติ"
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ทำไมการปิดโรงเรียนถึงมีผลกระทบสูง หากเด็กติดเชื้อจะเกิดแพร่กระจายอย่างรุนแรง การผ่อนคลายก็ต้องชะลอลง อย่ารีบร้อนเกินไป และมีมาตรการควบคุมจนแน่ใจว่า สามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้
- สถานบันเทิง ซึ่งมีผลกระทบสูง การดื่ม ทานอาหารไม่ใส่หน้ากาก เป็นสังคมไทยเป็นสังคมพูดจา และด้วยความดัง ความแรงจะเยอะ ทำให้ละอองต่างๆ มีโอกาสติดเชื้อสูง
- การกีฬา ก็มีผลกระทบกลางๆ ออกกำลังไม่ใส่หน้ากาก สังคมไทยเมื่อออกกำลังกายเสร็จก็จะนั่งคุยกัน รวมถึงฟิตเนส เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ง่าย
- การจัดประชุม ในห้องที่ปิด และคนจำนวนเยอะๆ ก็มีความเสี่ยงระดับหนึ่ง ณ วันนี้ อาจยังไม่มีความจำเป็น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่อนผัน
- การเดินทางจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศ ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยมากที่สุด ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งเราไม่ได้ห้ามคนไทยกลับเข้ามา แต่ต้องเข้มงวด
- ธุรกิจการส่งอาหาร ผลกระทบต่อการติดเชื้อถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงการลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำความสะอาดแบบปูพรม ยังถือว่า ไม่คุ้ม แต่ทำความสะอาดเฉพาะที่ที่มีความเสี่ยง ยังจำเป็น รวมถึงการมีแอฟพลิเคชั่น ติดตาม ยังมีความจำเป็นอยู่ รวมถึงการล้างมือ ยังจำเป็น เรื่องการตรวจหาเชื้อให้มาก เพื่อให้แน่ใจมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ มีอาการ หรือมีภูมิคุ้มกันแล้วหรือไม่ วันนี้ประเทศไทยกำลังวิจัยคนที่มีภูมิคุ้มกันในประเทศไทยอยู่
"การเว้นระยะห่าง กลุ่มใดมีผลกระทบน้อย ถึงมาก ได้ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปถึงรัฐบาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลายแล้ว"
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังยกตัวอย่าง ประเทศแคนาดา สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดี และการนำยุทธศาสตร์ The Hammer&The Dance มาใช้ ประเทศไทยเราก็เข้าสู่โหมดของการฟ้อนรำ ทันทีที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งทันทีที่มีการติดเชื้อใหม่ แต่การติดเชื้อจะค่อยๆเพิ่ม ไม่เหมือนช่วงแรก แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ต้องกลับเข้าสู่โหมดการควบคุมใหม่
"เรายังต้องสลับแบบนี้เป็นครั้งคราว โหมดทุบด้วยค้อน และฟ้อนรำ ทุกครั้งที่มีการติดเชื้อ โอกาสที่คนเกิดภูมิคุ้มกัน และมีประโยชน์ทางอ้อมของ The Hammer and the Dance แต่ทุกคนต้องช่วยกัน มาตรการต่างๆ ต้องเสริมด้วย"
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช กล่าวด้วยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติ COVID-19 อีกครั้ง หลังผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก เหมือนช่วงแรก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะบอกว่า เราต้องเปลี่ยนโหมดดึงตัวเลขกลับมาหรือไม่ การผ่อนผันที่เร็วและมากเกินไป มีบทเรียนเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ การเปลี่ยนจากโหมดการควบคุม ไปสู่การผ่อนผัน จึงควรค่อยเป็นค่อยไป จัดลำดับความสำคัญ ทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
"ผมย้ำ เราอาจต้องกลับมาควบคุมอีกครั้ง หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อแย่ลง ความร่วมมือคนทั้งประเทศจึงสำคัญมาก ทั้งการรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ เป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ใช่การผ่อนผัน การผ่อนผัน คือการให้ออกจากบ้านไปทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ผ่อนผันในมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ"