เตรียมพร้อมลงนาม 25 ตุลาคมนี้ นายกฯ ประชุม กพอ. รับทราบแผนเร่งรัด- ส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมเปิดดำเนินการช่วงแรกตามเป้าหมาย ปลายปี 66 ถึงต้นปี 67 ขณะที่เลขาธิการ กพอ. ระบุ ส่งมอบที่ดิน ช้าไป 2 - 3 เดือน ไม่ได้เสียเปล่า
วันที่ 16 ต.ค.62 เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 10/2562 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยภายหลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาธิการ กพอ.) และนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุม กพอ. สรุปสาระสำคัญดังนี้
เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า จากการประชุม กพอ. ครั้งที่ 9/2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กพอ. เห็นว่า การส่งมอบพื้นที่และสาธารณูปโภคตามเอกสารแนบท้ายสัญญาเรื่องการส่งมอบที่ดิน ที่คณะกรรมการคัดเลือกได้จัดทำส่งมานั้น จะทำให้เอกชนทำงานยาก เพราะจากเดิมที่ รฟท. ดำเนินการ ได้ให้เอกชนไปเจรจากับหน่วยงานที่มีสาธารณูปโภคเอง ซึ่งสาธารณูปโภคดังกล่าว มีจุดตัดทั้งหมด 200 กว่าจุด และมี 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการ กพอ. จึงมีความเห็นว่า ถ้าเอกชนจะต้องไปดูเองทั้งหมดและทำแผนให้เป็นแผนเดียวกันเพื่อก่อสร้างก็จะลำบาก
ที่ประชุม กพอ. ครั้งที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหาร ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน นำข้อมูลทั้งหมดไปพิจารณาถึงแผนการเร่งรัดส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภคให้ได้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกันให้ประสานกับเอกชนเพื่อให้ได้แผนการส่งมอบที่ดินและการปรับสาธารณูปโภคให้สามารถทำงานได้ ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ไปทำแผนการปรับสาธารณูปโภคให้สามารถทำงานได้ในพื้นที่ดังกล่าว แล้วนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหาร และนำเสนอที่ประชุม กพอ.
"วันนี้หลังจากที่ปรับทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ อุปสรรคสุดท้ายของโครงการคือเรื่องการส่งมอบที่ดิน ที่ภาคเอกชนเห็นว่า ถ้าส่งมอบแบบเดิมเอกชนจะทำงานไม่เสร็จ และ กพอ. ก็เห็นว่า ถ้าส่งมอบแบบเดิมแล้วรถไฟกับสนามบินจะไม่เชื่อมกัน จึงเป็นที่มาที่ต้องทำงานเรื่องนี้"
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กพอ. มีมติรับทราบแผนเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามที่คณะอนุกรรมการบริหาร ที่มีนายอุตตม เป็นประธานเสนอ ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภครวม 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด โดยการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภค ประกอบด้วย แก้จุดตัดเสาไฟแรงสูง 230 จุด ย้ายอุโมงค์ระบายน้ำ 1 จุด ย้ายท่อน้ำมัน 4 กิโลเมตร ย้ายเสาไฟลงใต้ดิน 450 เมตร ย้ายเสาโทรเลข รฟท. 80 กิโลเมตร
สำหรับระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่
ช่วงที่ 1 สถานีพญาไท – สุวรรณภูมิ 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิม รฟท. พร้อมส่งพื้นที่ทันที
ช่วงที่ 2 สถานีสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา 170 กิโลเมตร กำหนดพร้อมส่งพื้นที่และสาธารณูปโภคภายใน 2 ปี แต่จะเร่งรัดให้ได้ตามแผนคือ 1 ปี 3 เดือน หลังลงนาม โดยมีระยะเวลาสูงสุด 2 ปี
ช่วงที่ 3 สถานีพญาไท – ดอนเมือง 22 กิโลเมตร กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายใน 4 ปี แต่ตามแผนเร่งรัดพร้อมส่งพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน หลังลงนาม เพื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจากสถานีพญาไท – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ตามเป้าหมายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567
ส่วนสถานีพญาไท - ดอนเมือง อาจจะเสร็จในปี 2567/2568 ซึ่งคณะกรรมการ กพอ. ได้อนุมัติตามแผนนี้เพื่อให้ไปช่วยกันทำงาน และเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น และ กพอ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภค ภายใต้คณะอนุกรรมการของนายอุตตมฯ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะทำงาน ซึ่งเอกชนก็รับทราบในเงื่อนไขนี้ โดยทาง รฟท. จะนำมติ กพอ.ไปเข้าคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อทำเอกสารแนบท้ายสัญญา และเตรียมพร้อมลงนามวันที่ 25 ตุลาคมนี้
เลขาธิการ กพอ. กล่าวว่า 2 เดือนที่ผ่านมา เรื่องที่พยายามทำกันอยู่คือเรื่องส่งมอบที่ดิน ที่เป็นเรื่องของหลายหน่วยงาน จนกระทั่งพิจารณาว่า รฟท. จะทำหน่วยเดียวคงไม่ไหว จึงได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม กพอ. ขออำนาจ กพอ. บริหารจัดการทำแผนเรื่องนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการบริหารแผนส่งมอบที่ดินและสาธารณูโปคที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน มีเรื่องงบประมาณชัดเจน เวลาที่เสียไป 2 - 3 เดือนไม่ได้เสียเปล่า
"ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันว่า แผนนี้ทำได้ เป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย โดยภาพใหญ่แล้วการส่งมอบที่ดิน 2 ปี กับ 4 ปี และเร่งรัดเป็น 1 ปี 3 เดือน กับ 2 ปี 3 เดือนนั้น หน่วยงานทั้งหลายมั่นใจว่าส่งมอบได้ ทั้งนี้ ถ้าส่งมอบไม่ได้ตามแผนเร่งรัดดังกล่าว หรือมีเหตุจำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร สามารถขยายเวลาให้เอกชนต่อไปได้ ถ้าช้า 3 เดือน ก็ขยาย 3 เดือน เป็นการขยายเวลาเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยไม่มีการกำหนดให้ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคเอกชน เงื่อนไขเป็นไปตาม RFP หรือ TOR ชัดเจนว่า จะต้องมีความเสี่ยงเรื่องแบบนี้ เมื่อประมูลเข้ามา เอกชนก็ต้องบวกความเสี่ยงนั้นอยู่ในตัวเงินที่ประมูลมาด้วยแล้ว ดังนั้นเอกชนย่อมรู้อยู่แล้วว่าต้องมีความเสี่ยงอะไรบ้าง"
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภค และแผนการส่งมอบพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ เพราะหากทำงานกันแบบเดิมก็จะเร่งรัดการก่อสร้างไม่ได้ จะทำให้เป็นปัญหาอย่างที่แล้ว ๆ มา ในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนี้ไปจะเป็นการเตรียมเอกสาร นัดคณะกรรมการคัดเลือกไปปรับปรุงเอกสารแนบท้ายให้ตรงตามมติ กพอ. ยืนยันว่า เป็นไปตาม TOR เป็นไปตาม RFP รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีทุกประการ สามารถลงนามสัญญาได้วันที่ 25 ตุลาคมนี้ และส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องรับผิดชอบโครงการฯ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
ผลการประชุม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/