มีคำชี้แจงจากผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เกี่ยวกับปัญหาของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานีที่ร้ายแรงถึงขั้นต้อง "หยุดการผลิต" จนถูกวิจารณ์เป็น "ผลงานชิ้นโบดำ" ว่าเป็นการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน และเป็นความเข้าใจผิดของสื่อมวลชน ตลอดจนผู้ที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้ (อ่านประกอบ : ปิด รง.เฟอร์ฯปัตตานี ผลงานชิ้นโบดำแห่งปีของ ศอ.บต.?)
โรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานีเป็นของ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์มาตรฐานส่งออกสหรัฐอเมริกา ใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" ในโครงการ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล ซึ่งมีหน่วยงานขับเคลื่อนระดับพื้นที่ คือ ศอ.บต.
บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ เข้าไปลงทุนเมื่อปลายปี 62 จ้างงานมากกว่า 200 อัตรา เป็นคนในพื้นที่ปัตตานีทั้งหมด แต่เดินเครื่องการผลิตได้เพียง 1 ปีเศษก็ต้องย้ายฐานไปแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และส่งหนังสือแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอหยุดการผลิตทั้งหมด เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและ ศอ.บต.ตามที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อครั้งชักชวนให้เข้าไปลงทุน
ในหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 ธ.ค.63 ได้สรุปความเสียหายของบริษัทฯ จากอุปสรรคปัญหาของการลงทุน ดังนี้
1. ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการส่งออกแล้วกว่า 200 ตู้ คิดเป็นส่วนต่างค่าขนส่งที่สูงขึ้นกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ
2. มูลค่าการลงทุนในที่ดิน 211 ไร่ เพื่อขยายโรงงาน แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะไม่มีการรเปลี่ยนแปลงผังเมืองจาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อสร้างโรงงาน
3. เสียโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้
4. สูญเสียเงินลงทุนไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท
ที่สำคัญจากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" ยังพบว่า ที่ดินจำนวนกว่า 2,000 ไร่ ที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ให้สำหรับลงทุนขยายโรงงานนั้น เป็นที่ดินเอกชน แต่กลับไม่มีความไม่พร้อมทั้งเรื่องระบบประปา ไฟฟ้า และระบบสื่อสารต่างๆ หนำซ้ำแต่เดิมไม่มีถนนลาดยางเข้าถึง เพิ่งจะมีการตัดถนนเข้าไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้บริษัทไม่ยอมซื้อที่ดินผืนนี้ แต่ไปซื้อที่ดิน 211 ไร่ติดถนนสายหลักแทน ทว่าเป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้ก่อสร้างโรงงานไม่ได้ (อ่านประกอบ : บุกพิสูจน์ถนนสายใหม่ตัดเข้าที่ดินเอกชน 3,000 ไร่ รองรับเขตอุตสาหกรรมหนองจิก! , แกะรอย "ที่ดินร้อยล้าน" อีกหนึ่งปมเหตุ รง.เฟอร์ฯ ย้ายฐานพ้นปัตตานี)
ทางบริษัทฯพยายามเรียกร้องให้ ศอ.บต.ช่วยเหลือ แต่ไม่มีความคืบหน้า ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่ามีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ที่ ศอ.บต.และคนในรัฐบาลพยายามผลักดัน มีการเร่งรัดแก้ไขผังเมืองจาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" จากการประชุมคณะกรรมการผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา เพียงแค่นัดเดียว (อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์เปลี่ยนผังเมือง "จะนะ" รับนิคมฯ - ชาวบ้านฮือบุกศาลากลางไร้ผล)
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้บริหาร ศอ.บต.พยายามผลักดันให้มีการขยายสถานีรถไฟปัตตานี ที่ อ.โคกโพธิ์ ให้สามารถรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรางได้ แต่ก็ถือเป็นโครงการระยะยาวที่ไม่ทันกับความต้องการของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ (อ่านประกอบ : พลิกโฉมสถานีรถไฟปัตตานี รับโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว จชต.)
@@ "ดร.เจ๋ง" อ้าง "สวนอุตสาหกรรม" เอกชนต้องลงทุนเอง
จากประเด็นทั้งหมดนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ "ดร.เจ๋ง" รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เรื่องผังเมือง ระบบขนส่งทางราง เรื่องพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน ทั้งหมดแก้ไขปัญหาใกล้จะเสร็จแล้ว ข่าวที่เสนอทางเว็บไซต์ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" น่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะการพัฒนาความพร้อมของที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ขยายโรงงาน
"เรื่องการพัฒนาความพร้อมตามเนื้อหาข่าวที่นำเสนอ ภาคเอกชนเขาเป็นคนลงทุนทำให้ทั้งระบบ (หมายถึงที่ดินเอกชน 3,000 ไร่ที่ ศอ.บต.แนะนำให้ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ ซื้อเพื่อขยายโรงงาน) ส่วนพื้นที่ที่บริษัทฯไปซื้อ จำเป็นจะต้องให้การประปาขยายระบบบริการเข้าไป ซึ่งก็เป็นการลงทุนของภาครัฐอีก แต่หากไปทำในพื้นที่เอกชน เขาดำเนินการทำให้เสร็จสรรพ เพราะถือว่าเป็นการซื้อที่ดินของเขา และเขาสามารถบริหารจัดการได้ เรื่องถนนก็เช่นกัน"
ดร.เจ๋ง ยืนยันว่า การขยายโรงงานเฟอร์นิเจอร์ อยู่ในหลักการ "สวนอุตสาหกรรม" ที่เอกชนต้องไปลงทุนกันเอง ไม่ใช่ "นิคมอุตสาหกรรม" ที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ทั้งหมด
"ขอให้เข้าใจว่า 'สวนอุตสาหกรรม' เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนลงทุนกันเอง เป็นการเจรจาระหว่างเอกชนกับเอกชน รัฐทำหน้าที่ประสานงานให้เท่านั้น"
@@ "สวนอุตสาหกรรม" คนละเรื่อง "นิคมอุตสาหกรรม"
ดร.เจ๋ง อธิบายต่อว่า สวนอุตสาหกรรมเป็นที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนาโดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของ กนอ. หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถเข้าไปซื้อที่ดินได้ หากได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ฉะนั้น "สวนอุตสาหกรรม" จึงเป็นเขตอุตสาหกรรมบนที่ดินส่วนบุคคลที่ได้รับการพัฒนา จัดจำหน่ายและบริหารโดยบุคคลธรรมดา และเนื่องจากอยู่นอกเหนือการดูแลของ กนอ. จึงไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจาก กนอ.ได้
"ในทางกายภาพแล้ว สวนอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมมีลักษณะเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรม แต่คุณภาพของโครงการจะไม่ได้ถูกพัฒนาและบริหารโดย กนอ. แต่จะขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการสวนอุตสาหกรรมนั้นๆ เขตอุตสาหกรรมบางแห่งอาจทำการออกใบอนุญาตก่อสร้างเอง ผู้ซื้อที่ดินต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ดำเนินโครงการในเรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และอื่นๆ ซึ่งต่างจากบริการที่ได้รับจากนิคมอุตสาหกรรมที่ดูแลโดย กนอ. ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยกว่า"
ดร.เจ๋ง ย้ำอีกครั้งว่า แนวคิด "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" ที่ อ.หนองจิก การดำเนินการจะเป็นลักษณะของ "สวนอุตสาหกรรม"
"ที่หนองจิกเป็นสวนอุตสาหกรรมครับ เป็นแนวคิดที่ให้เอกชนบริหารกันเอง เพื่อให้เกิดการลงทุนระหว่างเอกชนกับเอกชน รองรับการพัฒนาอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของรัฐที่มีระบบงบประมาณค่อนข้างจำกัด แต่หากให้เอกชนบริหารจัดการให้ได้ โดยอยู่ภายใต้การอำนวยการสนับสนุนและการเอื้อทางกฎหมาย เช่น เรื่องอุตสาหกรรมหนองจิก ก็ใช้การดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน ไม่ใช่กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม"
@@ ชี้ นิคมฯฮาลาล ปะนาเระเจ๊ง ทำรัฐเปลี่ยนนโยบาย
รองเลขาธิการ ศอ.บต.ให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่เตรียมไว้สำหรับเป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล แต่สุดท้ายไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม กนอ.ต้องประกาศยุบเขตอุตสาหกรรม (อ่านประกอบ : ยุบเขตอุตสาหกรรมนิคมฮาลาลปัตตานี! "สะมะแอ ท่าน้ำ" มึน-หวังแค่เปลี่ยนผู้ดูแล) รัฐลงทุนไปหลายพันล้านบาท เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จ ก็กลายเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ
"เมื่อมีความเสียหาย หลังจากรัฐลงทุนนับพันล้านบาท เราจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบให้เอกชนลงทุนกันเอง เอกชนเป็นคนรับความเสี่ยงด้านการลงทุน แต่รัฐจะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการและการอำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์และทางกฎหมาย เพื่อให้เอกชนนำไปใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมดำเนินการพัฒนาพร้อมกัน โดยในส่วนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ"
"วันนี้เราน่าจะต้องให้เอกชนเป็นหน่วยลงทุนและพัฒนา โดยภาครัฐทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่หลายประเทศดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นจีน สิงคโปร์ หรือชาติอื่นๆ เพราะรัฐไม่มีงบประมาณในการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ทำคือเราเตรียมระดับฐานรากเพื่อเชื่อมต่อไปยังอุตสาหกรรมให้ได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถเป็นกลไกหลักในการพัฒนาไปสู่ประชาชนอีกทีหนึ่ง" นายชนธัญ กล่าวทิ้งท้าย