โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล และจะว่าไปก็เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยในขณะนี้ก็คือ เราจะก้าวพ้นปัญหาการชุมนุมแบบดาวกระจายรายวันอย่างไม่มีจุดจบนี้ไปได้อย่างไร นอกจากแนวทางนายกฯลาออก (ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นหรือไม่)
ที่น่ากังวลก็คือ หากยิ่งปล่อยให้เนิ่นนานไป อารมณ์ของผู้คนก็จะยิ่งคุกรุ่น รอเพียงไม้ขีดไฟเพียงก้านเดียว อาจเกิดอะไรที่ใหญ่โตเกินจะควบคุม
ยิ่งไปกว่านั้น การสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่ายก็ไม่เชื่อมถึงกัน เพราะรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเหมือนอยู่คนละแพลตฟอร์ม คือ "อนาล็อก" กับ "ดิจิทัล" แถมยังไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน สถานการณ์นี้จึงยังไม่มีจุดจบ
นักสันติวิธีชื่อดังอย่าง นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เสนอให้ใช้แนวทางที่เรียกว่า "สานเสวนาหาทางออก" วิธีการนี้เป็นอย่างไร และจะเป็นทางออกของปัญหาระดับ "เบิ้มๆ" นี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสดับตรับฟังไม่น้อยเลย
O การบังค้บใช้กฎหมายที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ จะยุติความขัดแย้งและหยุดผู้ชุมนุมได้หรือไม่?
ผมคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้มันเลยสิ่งที่จะเอาผิดเอาถูกกันไปแล้ว เราใช้กฎหมายสร้างความยุติธรรมก็จริง แต่บางทีมันก็ใช่ บางทีมันก็ไม่ใช่ เราต้องมาทำความเข้าใจว่า ความยุติธรรมมี 2 อย่าง คือ legal justice หมายถึงยุติธรรมตามกฎหมาย กับ social jutice หมายถึงยุติธรรมทางสังคม สถานการณ์ขณะนี้มีการแบ่งฝ่ายชัดเจนแล้ว เราคงต้องมามองเรื่องยุติธรรมทางสังคมมากกว่าหรือไม่ ส่วนทางกฎหมายอาจจะแขวนเอาไว้ก่อน แล้วหาทางทำความเข้าใจกัน ด้วยการฟังกันและกัน
กระบวการทำความเข้าใจกันและกันจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะถ้าเราจะทำแต่ทางกฎหมาย ทุกฝ่ายก็จะอ้างว่าของฉันถูก ของเธอผิด อย่างที่เราเห็นกันอยู่ ก็จะเกิดการแพ้และชนะ และนำไปสู่ความรุนแรงไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นขณะนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ อยากให้ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางกฎหมาย อำนาจในการดูแลความสงบ กับอีกฝ่ายมีอำนาจของกลุ่มคนที่มองเห็นต่าง ได้พูดคุยกัน เราคงไม่เอาความเห็นต่างมาบอกว่าใครถูกใครผิด และไม่ใช่เอาผู้มีอำนาจมาคุยกันโดยตรง แต่จำเป็นต้องมีคนกลาง เพื่อทำให้เกิดกระบวนการหันหน้ามาพูดคุยกัน
O แต่ถามคือใครจะเป็นคนกลางในภาวะแบบนี้?
ในกระบวนการที่เคยสัมผัสมา ขณะนี้เราหาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายคงจะยาก แต่ที่เป็นไปได้คือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็แล้วแต่ น่าจะมีคนที่เขาฟัง คนที่เขาเชื่อใจ และเป็นคนที่สามารถสื่อสารกับคนที่อีกกลุ่มหนึ่งได้บ้าง คืออีกกลุ่มหนึ่งก็ฟัง เราหาคนแบบนี้จากทั้งสองฝั่ง แล้วหันหน้ามาพูดคุยกัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมเห็น ส.ส.จากบางพรรคไปประกันตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับ ส.ส.กลุ่มนี้ก็จะได้รับความไว้ใจจากผู้ชุมนุม หาก ส.ส.บางคนในกลุ่มนี้ สามารถพูดกับอีกฝั่งหนึ่งได้ ก็จะเริ่มขยับไปได้ เราต้องหาคนแบบนี้ทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เริ่มต้นพูดคุยกันได้ก่อน
แต่ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจว่า กระบวนการพูดคุยไม่ได้เอาแพ้เอาชนะกัน แต่ต้องมองโจทย์ใหญ่ เช่น อยากให้ประเทศชาติสงบสันติสุขหรือไม่ โดยจะไม่มองว่าใครผิดใครถูก แต่เอาสิ่งที่แต่ละฝ่ายห่วงใยขึ้นมาพูดกันบนโต๊ะ
O แบบนี้เหมือนเป็นการเจรจาต่อรองกันหรือเปล่า?
สังคมไทยมักจะมองว่านี่คือการเจรจาแบบเกลี้ยกล่อม ต่อรองให้อีกฝ่ายหนึ่งยอม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ และเป็นศิลปะ รุัฐธรรมนูญของเรามีแต่หมวดสิทธิ เสรีภาพ กับหมวดศาล ไม่มีหมวดปรองดอง ถ้ามีหมวดปรองดอง ก็จะมีสถาบันที่สอนหรือทำงานด้านนี้ในลักษณะของกระบวนการหันหน้ามานั่งคุยกัน เป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง เรียกว่าประชาธิปไตยแห่งการสานเสวนาหาทางออก ประชาธิปไตยแห่งการไตร่ตรอง หรือ Deliberative Democracy
ถ้าเราเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างที่เรียกร้องกันอยู่นี้ ประชาธิปไตยที่จะเป็นทางออกได้ คือ ประชาธิปไตยแบบ deliberative หรือการสานเสวนา เราต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ ผู้มีอำนาจต้องฟังผู้มีอำนาจน้อยกว่า ไม่เอาเรื่องต่างๆ มาต่อรอง แต่มาหาทางออกในโจทย์ที่ใหญ่กว่า เช่น ทำอย่างไรจะทำให้ประเทศชาติสงบสุข
ช่วงที่มีวิกฤติเสื้อเหลืองเสื้อแดงเผชิญหน้ากัน ตอนนั้นผมยังมีบทบาทอยู่ในสถาบันพระปกเกล้า ก็ได้เชิญคนสองฝ่ายมาขึ้นเวทีอย่างมีกติกา ทำความเข้าใจกัน มองไปอนาคตว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
O เมื่อมีเวทีแล้ว ต้องคุยแบบลับๆ หรือคุยแบบเปิดเผย?
เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันระหว่างผู้ที่จะมาพูดคุย เพราะฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกว่าไม่อยากให้ใครรู้ก็ได้ว่าได้คุยกับอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว จนกว่าฝ่ายแรกจะพร้อม ถึงจะเปิดเผย เพราะกระบวนการเหล่านี้ต้องเป็นกระบวนการที่แต่ละฝ่ายสามารถอธิบายคนที่อยู่ข้างหลังได้ว่า เรากำลังจะหาทางออกเพื่อสันติ เราไม่ได้มายอมแพ้ ไม่ใช่ยอมแพ้ และไม่ใช่เราอ่อนแอกว่า เพราะคนกล้าต่างหากที่มาเจรจา เป็นกระบวนการที่คนกล้าเท่านั้นถึงจะทำ
ดังนั้นผู้มีอำนาจต้องหาวิธีการสื่อสารกับแต่ละฝ่าย โดยคนที่แต่ละฝ่ายไว้วางใจ และมาหาทางออกในการเจรจากัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Shuttle Diplomacy คือการใช้คนที่อีกฝ่ายไว้ใจ และอีกฝ่ายหนึ่งก็ไว้ใจ หรือพอยอมรับได้ แล้วก็วิ่งรอกคุยกันทีละฝ่าย หาสิ่งที่ลงตัว แต่ไม่ใช่ต่อรองกัน
O ฟังๆ ดูแล้วเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันที่จะเกิดกระบวนการนี้ได้
จะบอกว่ายากก็ยาก แต่ต้องเข้าใจ เราจะต้องเริ่มที่โจทย์ใหญ่คือสิ่งที่แต่ละฝ่ายเรียกร้อง ก็ต้องเข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าต้องการเรียกร้องให้มากที่สุด แต่ถ้าเราบอกว่า เอาอยางนี้มั้ย เราจะมาช่วยกันทำให้ประทศชาติไปสู่ความสันติสุข สงบ มีอะไรบ้างที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้ แต่ละฝ่ายก็ต้องฟังอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วค่อยๆ เอาสิ่งที่เรียกว่า "จุดสนใจ" มาค่อยๆ คุยกัน ส่วน "จุดยืน" เอาไว้ทีหลัง เพราะถ้าเอาจุดยืนมาเถียงกันก็ไม่มีวันจบ
การเอาจุดสนใจมาคุยกัน เพื่อหา "จุดร่วม" บางอย่างที่ไปด้วยกันได้ และหาฉันทามติ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการที่สุด แต่เป็นสิ่งที่พอยอมรับได้ เป็นจุดกลางทึ่จะนำไปสู่ความสงบสันติสุขได้
O วิธีการแบบนี้จะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเจนเนอเรชั่นด้วยหรือไม่?
เรื่องนั้นผมก็เห็นอยู่ แต่คิดว่ายยังไม่ใช่ประเด็นหลักในขณะนี้ แต่เจนเนอเรชั่นที่อาวุโสกว่า ก็ต้องเข้าใจเจนเนอเรชั่นที่อ่อนกว่าว่าอาจจะเรียนรู้หรือมีประสบการณ์มาระดับหนึ่ง ฉะนั้นผู้อาวุโสก็ไม่ควรไปตำหนิ หรือไปบอกว่าอาบน้ำร้อนยังไม่พอ กระบวนการนี้จะต้องไม่ไปดูถูกอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน คนที่เป็นคนกลางต้องทำให้แต่ละฝ่ายมีอำนาจเท่ากัน หรือ balance of power ซึ่งไม่ใช่ถือปืนมาสู้กัน แต่ให้เวลาในการฟังแต่ละฝ่าย มีภาษาท่าทางที่ให้เกียรติกันและกัน และจะต้องเป็นสถานที่ที่เป็นกลาง ซึ่งมีความสำคัญมาก
กระบวนการนี้ไม่ใช่ทำคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่น่าจะเป็นทีมงานที่เรียนรู้เรื่องการสานเสวนา ซึ่งผมคิดว่าถ้ารัฐบาลสนใจก็น่าจะลองดู เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องระวังมากคือความสูญเสีย ก็ยังดีที่วันนี้ยังไม่มีความสูญเสียอะไรเกิดขึ้น ฉะนั้นารัฐบาลก็น่าจะต้องรีบตัดสินใจ
O ต้องหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงมาคุยหรือไม่?
ตรงนั้นเป็นสิ่งที่เราคงไม่ไปขุดคุ้ยว่าใครอยู่เบื้องหลังใคร แต่โจทย์ใหญ่คือทำให้เกิดสันติสุข สันติภาพได้อย่างไร ถ้าเรามัวแต่ไปขุดว่าคนนั้นอยู่เบื้องหลัง คนนี้อยู่เบื้องหน้า ก็ไม่มีทางจบ
วิธีการคือต้องแยกคนออกจากปัญหา ต้องนุ่มนวลในประเด็นของคน และเอาจริงเอาจังในประเด็นปัญหา คนเรามีหัวจิตหัวใจ ต้องเข้าใจหัวจิตหัวใจคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจฝ่ายปกครองบ้านเมืองว่าเขาก็ต้องรักษาความสงบ
วิธีการสร้างกระบวนการหันหน้ามาพูดคุยกันนั้น ยังไม่ค่อยมีสถาบันไหนในบ้านเราสอน แต่เป็นรากฐานประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ตั้งแต่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการเลือกตั้ง ยังไม่เป็นประเทศด้วยซ้ำ หลักการคือ we have problem, we have to talk
ฉะนั้นการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็ต้องหันมาคุยกัน ถ้าเราเอาแต่เอาแพ้เอาชนะกันในแง่กฎหมาย ก็จะไม่จบ เพราะะจะมีแต่คนแพ้คนชนะ ผมอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน และจะชนะไปด้วยกันทุกฝ่ายข คนที่มาอำนาจมากกว่าจะต้องหาทาง ไม่ใช่การประนีประนอมแบบ เฮ้ย! ยอมๆ หยุดๆ มันไม่ได้ เพราะคนที่เขาเรียกร้อง เขาต้องการให้ผู้มีอำนาจฟังเขา เมื่อฟังกันก็จะเข้าใจ และมีทางออกร่วมกันที่แต่ละฝ่ายพอยอมรับกันได้
หัวใจของกระบวนการสานเสวนาคือ หาคนกลางที่แต่ละฝ่ายไว้ใจ หรือพอยอมรับกันได้มาขับเคลื่อนกระบวนการ โดยการมาร่วมพูดคุยหรือร่วมเวทีต้องมีกติกา ห้ามชี้หน้าด่ากัน แต่ต้องฟังซึ่งกันและกัน โดยมีภาษาพูดและภาษาท่าทางที่ให้เกียรติกัน เลือกจุดสนใจของแต่ละฝ่ายขึ้นมาหาทางออกร่วมกันก่อน โดยละเรื่องจุดยืนของแต่ละฝ่ายเอาไว้ เมื่อมีจุดสนใจร่วมกัน ก็จะค่อยๆ ขยับแก้ปัญหาไปได้
---------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เตือนรัฐเผชิญแฟลชม็อบ - ดาวกระจาย - ไม่จบเร็ว
นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี - หาดใหญ่ ร่วมชุมนุมไล่นายกฯ-ปล่อยเพื่อนเรา