ความรุนแรงของเหตุระเบิด “คาร์บอมบ์” หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ในวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นคาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 2567 แต่สร้างความเสียหายในระดับร้ายแรง และส่งผลทางจิตวิทยาอย่างมาก เนื่องจากเป้าหมายโจมตี คือสถานที่ราชการ อันเป็นที่พักของผู้บังคับใช้กฎหมาย
แต่ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ไม่ได้มีแค่กำลังพลของตำรวจและครอบครัว เพราะผู้สูญเสียที่ต้องสละชีวิตไป คือ รอกีเยาะ สาระนะ ครูตาดีกาวัย 45 ปี ซึ่งขับขี่จักรยานยนต์ผ่านรถคาร์บอมบ์พอดี ในขณะที่กำลังไปหาซื้ออาหารสดเพื่อนำไปทำอาหารเลี้ยงลูกศิษย์ของตน
การจากไปของครูรอกีเยาะ ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงเด็กๆ ตาดีกา ไม่มีครูสอนพวกเขา และหาข้าวปลาอาหารให้พวกเขากินเท่านั้น แต่ครอบครัวของครูรอกีเยาะ ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน
ครูรอกีเยาะมีลูกๆ 3 คนสามีของครูมีอาชีพทำสวน แม้เรื่องราวร้ายๆ จะผ่านมานานกว่า 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังทำใจไม่ได้ในการจากไปของครูรอกีเยาะ ซึ่งเสมือนเป็นเสาหลักของบ้าน
“ผมไปกรีดยาง ไปถางป่าในสวนยางหรือสวนผลไม้ยังไม่ได้เลย เพราะยังเห็นภาพเก่าๆ ตอนที่ภรรยายังอยู่ มันทรมานมาก ทุกวันนี้จึงเน้นดูแลลูกๆ เป็นทั้งพ่อและแม่ให้พวกเขา ทั้งหุงข้าว ล้างจาน ซักผ้า รีดผ้า รวมทั้งแต่งตัวให้ลูกไปโรงเรียน ผมพยายามทำให้ได้ เพื่อให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง” อับกา สะมะแอ สามีของครูรอกีเยาะ เล่าถึงสภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังต้องสูญเสียภรรยา
กิจวัตรที่พลิกเปลี่ยนอย่างปัจจุบันทันด่วน ทำให้ อับกาและลูกๆ ยังยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้...ยังดีที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมและมอบความช่วยเหลือทันทีหลังเกิดเหตุ มิฉะนั้นคงเดือดร้อนและย่ำแย่หนักกว่านี้
ที่สำคัญความช่วยเหลือไม่ได้จบลงแค่เงินเยียวยา แต่ ศอ.บต.ยังระดมหน่วยงานต่างๆ เข้าดูแลคุณภาพชีวิตทั้งของตนเองและลูกๆ ให้ดีขึ้น เพื่อผ่านคืนวันอันเลวร้ายไปให้ได้
“ทุกวันนี้ยังโชคดีที่ได้รับการเยียวยาจาก ศอ.บต. ทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่ไม่ต้องเดือดร้อนมากไปกว่าที่เป็น ถือว่า ศอ.บต.มาต่อลมหายใจ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ไปไหน แต่ชีวิตต้องเดินต่อไปด้วย รายจ่าย จึงขอขอบคุณ ศอ.บต.และหน่วยงานทั้งหมดที่ช่วยค้ำจุนครอบครัว ทั้งมอบเงินเยียวยาและให้กำลังใจ อย่างล่าสุดทางอำเภอได้นำกระเบื้องและเสาเพื่อมาต่อเติมบ้าน และบอกว่าจะให้ อส.และทหารมาสร้างให้ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณทุกคน” อับกา สะมะแอ สามีของครูรอกีเยาะ กล่าว
การเยียวยาในลักษณะที่ไม่ใช่แค่ “จ่ายแล้วจบ” แต่ได้รับการยกระดับและขยายขอบเขตขึ้นจนครบวงจร เกิดขึ้นในยุคที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ทำงานงานเยียวยาเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่รับผิดชอบดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้
นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.เล่าให้ฟังว่า การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง ซึ่งมี ศอ.บต.เป็นแม่งานหลักนั้น แท้จริงแล้ว ศอ.บต.ไม่ได้ทำแค่หน่วยงานเดียว แต่ได้ขับเคลื่อนแบบบูรณาการกับอีก 4 กระทรวงคือ มหาดไทย สาธารณสุข ศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การช่วยเหลือก็จะมีทั้งในรูปตัวเงิน เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในเบื้องต้นสำหรับครอบครัวที่อัตคัต จากนั้นก็จะมีโปรแกรมสร้างงาน สร้างอาชีพ เสริมทักษะ รวมถึงการเยียวยาสุขภาพจิต และจิตใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการนัดตรวจเป็นวงรอบ ไม่ทอดทิ้งใครให้เผชิญกับความสิ้นหวังอย่างเดียวดาย
“การเยียวยาคุณภาพชีวิตมีความจำเป็นและสำคัญมาก เพียงแต่ว่าเราจะจำแนกตามสภาพของครัวเรือนและกลุ่มคน ถ้าเป็นเรื่องของอาชีพ ก็จะดูว่าอาชีพอะไรบ้างที่เขาถนัด ศอ.บต.ก็จะมีทุนหรือดูว่าทักษะที่เขามี เหมาะสมกับงานอะไร หรือถ้าไม่มีทักษะ เราก็จะให้เข้าโปรแกรมพัฒนาอาชีพ ถ้าเป็นเรื่องเกษตรเราก็จะประสานงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน เพียงแต่ว่าการทำงานเราก็จะมีงบจาก ศอ.บต. เป็นตัวตั้งต้นให้”
”บางเรื่องกระทรวงแรงงานจะเข้ามาพัฒนาทักษะฝีมือให้ หรือในบางโอกาส ในภาคเอกชน เขาอาจมีทักษะพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ก็เอาคนเหล่านี้ไปร่วมปฏิบัติงานและฝึกทักษะในภาคเอกชนและจ้างงานต่อไป“ รองฯนันทพงศ์ อธิบาย
รองเลขาธิการ ศอ.บต.ยังบอกข่าวดีด้วยว่า กระบวนการเยียวยา เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมาแล้วถึง 20 ครั้ง ขณะนี้ได้มีการประมวลและประเมินผล ตลอดจนพิจารณาปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำมายกร่างเป็นระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อออกแบบการเยียวยาที่รวดเร็ว ครบวงจร และอุดช่องโหว่ที่ยังมีอยู่ทั้งหมด...ต่อไป