สถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ หลายฝ่ายถามไถ่กันมากว่าสุดท้ายจะจบลงที่ตรงไหน เมื่อรัฐบาลงัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาใช้ แต่ก็ยังไม่สามารถสยบม็อบได้อย่างราบคาบ แถมยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ และสุ่มเสี่ยงเป็นน้ำผึ้่งหยดเดียวอย่างยิ่ง
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้ระดับหนึ่ง แต่จะยังไม่ยุติเสียทีเดียว เนื่องจากการชุมนุมคณะนี้ไม่มีโครงสร้างแกนนำที่ชัดเจน และใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร นัดหมาย รวมถึงปลุกระดม คาดว่าจะมีการใช้มวลชนดาวกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงแรก ซึ่งก็ต้องรอดูว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน
ในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อาจารย์ปณิธาน คาดการณ์ว่า หลังจากนี้รัฐบาลน่าจะใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีประกาศและคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมารองรับ เพราะลักษณะของการชุมนุมเช่นนี้ ทำให้การดำเนินการทางกฎหมายต้องรัดกุม เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้มีการจัดตั้งในรูปแบบเดิม ไม่มีการส่งกำลังบำรุงที่เป็นระบบเหมือนม็อบอื่นๆ จึงคาดว่าไม่สามารถชุมนุมปักหลักที่ใดที่หนึ่งได้นาน วิธีการจึงเน้นใช้โซเชียลมีเดียนัดหมาย และจะเคลื่อนย้ายมวลชนไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นจึงต้องรอดูว่าการนัดชุมนุมในช่วงแรกๆ จะมีมวลชนร่วมมากแค่ไหน แนวโน้มเป็นอยางไร ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าเมื่อรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นขึ้นแล้ว มวลชนยอมปฏิบัติตามในระดับใด เชื่อว่าหากไม่มีการขนมวลชนจากต่างจังหวัดมาเติม รัฐบาลน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด เนื่องจากกระแสสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบรับ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาพที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จฯ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมบางส่วนที่สร้างความวุ่นวายเกินความจำเป็น
รศ.ดร.ปณิธาน ยังบอกด้วยว่า การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 มุ่งประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย็์มากเกินไป ทำให้มีแนวร่วมไม่มากนัก แม้จะพยายามปรับแผนไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ยังพูดประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันเป็นหลักของชาติ ไม่ยอมเคลื่อนไปสู่ประเด็นทางการเมืองจริงๆ แม้จะย้ายไปชุมนุมที่ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว ซึ่งเนื้อหาการชุมนุมแบบนี้ทำให้เกิดปัญหา และสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการกระทำที่ผิดฎหมาย
นอกจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว ยังมีกระเแสตั้งคำถามเกี่ยวกับการระดมกำลังตำรวจจำนวนมากเพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมด้วย แม้ว่าจะมีการสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและจับกุมแกนนำบางส่วนไปแล้ว
ประเด็นนี้ แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง อธิบายว่า หากมาตรการของภาครัฐไม่เข้มแข็งเพียงพอ กลุ่มผู้ชุมนุมอาจนัดรวมตัวกันแบบต่างคนต่างมาคราวละมากๆ โดยใช้ "ฮ่องกงโมเดล" คือการปิดสถานที่ ปิดถนน ปิดเส้นทางคมนาคม และเผาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องที่ตนต้องการ เช่น การปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับ เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ควรต้องยอมรับการถูกดำเนินคดี
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แม้จะใช้มาตรการเข้มข้น แต่จะไม่มีการจับกุมแบบเหวี่ยงแห เพราะจะมุ่งเฉพาะแกนนำที่มีพฤติการณ์ปลุกระดม หรือใช้เฟกนิวส์ ให้ข้อมูลเท็จเพื่อปั่นสถานการณ์เท่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตาเป็นพิเศษก็คือ "ท่อน้ำเลี้ยง" ของผู้ชุมนุม หลังจาก "ผู้สนับสนุนหลัก" ถอนการสนับสนุนไปพอสมควรในการชุมนุมรอบล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.63 ที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบของฝ่ายตำรวจพบว่า ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญยังมาจากกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างสับๆ ซึ่งตอนแรกประเมินว่าเมื่อท่อน้ำเลี้ยงเหลือน้อยลง จะทำให้การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค.มีปัญหา ไม่สามารถชุมนุมยืดเยื้อได้
แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน มีการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค. ทำให้ผู้ชุมนุมปรับเปลี่ยนยุทธวิธีมาใช้การนัดแฟลชม็อบ และชุมนุมแบบระยะสั้นแทน เมื่อชุมนุมเสร็จก็กลับบ้าน จากนั้นวันถัดไปก็นัดใหม่ การชุมนุมรูปแบบนี้มีต้นทุนต่ำกว่าการชุมนุมยืดเยื้อ ฉะนั้นการที่ท่อน้ำเลี้ยงของม็อบลดลงไปบางส่วน จึงไม่ส่งผลกระทบกับสถานการณ์การชุมนุม ค่าใช้จ่ายหลักของการชุมนุมรูปแบบนี้จึงมีเพียงค่าจ้างกลุ่มการ์ดกับค่าเช่าเครื่องเสียงเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีการประเมินว่า หากม็อบนัดชุมนุมต่อเนื่องรายวัน และมีแนวโน้มพลิกมาเป็นฝ่ายได้เปรียบรัฐบาล เมื่อนั้นก็จะสามารถเรียก "ท่อน้ำเลี้ยง" เก่าๆ ที่เคยถอนตัวไปให้กลับมาสนับสนุนใหม่ได้เช่นกัน