เป็นข่าวขึ้นมาอีกครั้งสำหรับเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com หลังจากที่ 2 นักสิทธิฯ อังคณา นิละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายหลายล้าน
เหตุผลหลักๆ ก็คือมีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะนักสิทธิฯชายแดนใต้ ทางโลกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Pulony ที่ทั้งสองเชื่อว่าเป็นเว็บ "ไอโอ" (เว็บปฏิบัติการข่าวสาร information operation) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สนับสนุนงบประมาณ (อ่านประกอบ : เปิดใจ "อังคณา-อัญชนา" เมื่อสองนักสิทธิ์ท้าชนเว็บไอโอ)
เว็บไซต์ Pulony เป็นเว็บบล็อกที่เสนอบทความ ข่าวสารเหตุการณ์ และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มเสนอบทความแรกเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.54 เป็นต้นมา บทความมีทั้งเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น การอธิบายคำสอนศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง (ในมุมของผู้เขียนและแอดมินเว็บไซต์) รวมไปถึงบทความที่มีเนื้อหาตอบโต้และโจมตีการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมไปถึงนักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว แม้แต่สื่อมวลชนที่นำเสนอหรือเคลื่อนไหวในทิศทางเป็นลบกับหน่วยงานด้านความมั่นคง (อ่านประกอบ : เว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?)
วิธีการคือนำเสนอบทความในลักษณะเปิดโปงพฤติกรรม และอ้างความเชื่อมโยงของบุคคลเป้าหมายว่ามีความสัมพันธ์หรือให้การสนับสนุนเป็นแนวร่วมทั้งทางตรงและมุมกลับกับกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ตลอดหลายปีที่เว็บไซต์แห่งนี้มีความเคลื่อนไหว ปรากฏว่ามียอดผู้อ่านไม่มากนัก แต่บทความบางชิ้นถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้มีผลเพิ่มยอดคนอ่านที่ตัวเว็บบล็อก
กระทั่งวันที่ 25 ก.พ.63 เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ถูกโจษขานอย่างกว้างขวางและโด่งดังชั่วข้ามคืน เมื่อ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบบัญชีรายชื่อ สังกัดอดีตพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันพรรคก้าวไกล) ได้นำเอกสารงบประมาณของ กอ.รมน.ที่มีการรายงานผลการปฏิบัติการข่าวสาร (ไอโอ) ของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com มาอภิปรายกลางสภา ในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี (ในฐานะ ผอ.รมน.) แล้วสรุปว่าเป็นเว็บที่ กอ.รมน.ให้การสนับสนุน โดยมีเนื้อหาในเว็บสร้างความเกลียดชังในพื้นที่ชายแดนใต้ (อ่านประกอบ : ส.ส.สีส้มอ้างเอกสารกองทัพ-กอ.รมน.แฉปฏิบัติการ IO-จ่ายรายหัว 100-300 บ./ด.)
ต่อมา พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. (ในขณะนั้น) ได้ออกมาแถลงว่า เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ไม่ใช่เว็บของ กอ.รมน.หรือส่วนราชการใด และยังระบุว่า เป็นเว็บไซต์ที่ทาง กอ.รมน.จับตาและเฝ้าระวังอยู่เช่นกัน (อ่านประกอบ : กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony)
หลังถูกพาดพิงกลางสภา และถูกฝ่ายการเมืองนำไปขยายผลทั้งในสื่อสารมวลชนรวมถึงช่องทางออนไลน์ ทำให้สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เดิมเฉลี่ยอยู่ที่หลักสิบคนต่อวัน ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เฉพาะวันที่ 25 ก.พ.63 วันเดียว มีผู้เข้าชมเว็บไซต์สูงสุดถึง 9,694 คน มีจำนวนครั้งเข้าชม 23,731 ครั้ง
จากนั้นในวันที่ 26 ก.พ.63 มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ 8,848 คน มีจำนวนครั้งเข้าชมมากถึง 26,171 ครั้ง และยังคงมีผู้เข้าชมเว็บไซต์หลักพันคนต่อวันอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
เมื่อเปรียบเทียบยอดการเข้าชมตั้งแต่ปี 54 จนถึงวันที่ 24 ก.พ.63 มีจำนวนการเข้าชมรวมอยู่ที่ 2,786,938 ครั้ง แต่หลังเป็นข่าวดัง วันที่ 25 ก.พ.63 จนถึงวันที่ 29 ก.พ. รวม 5 วัน จำนวนการเข้าชมเว็บไซต์รวมเพิ่มขึ้นแตะ 3 ล้านครั้ง ทั้งที่หลังเป็นข่าว ทางเว็บไซต์ไม่มีการนำเสนอบทความใหม่ โดยบทความสุดท้ายก่อนเป็นข่าวถูกอัพโหลดขึ้นในวันที่ 23 ก.พ.63
ทิ้งช่วงมาเกือบ 1 เดือนหลังถูดพาดพิงกลางสภา เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com จึงเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 17 มี.ค.63 โดยเผยแพร่บทความเรื่อง ละครลวงโลกเพื่อยกระดับปัญหาชายแดนใต้ของไทยไปสู่เวทีโลก มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวขบวนการบีอาร์เอ็นในการพยายามมีตัวตนในเวทีโลก ด้วยการลงนามแถลงฝ่ายเดียวว่าด้วยเรื่อง "การปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ (Armed Conflict)" แต่หลังจากลงนามได้ไม่ถึงเดือน ได้เกิดเหตุระเบิดที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์นี้ทางเว็บไซต์ Pulony จึงสรุปว่าเป็นการเคลื่อนไหวลวงโลกของบีอาร์เอ็น
หลังจากนั้น ทางเว็บไซต์ก็ยังมีการนำเสนอบทความออกมาเผยแพร่อยู่บ้าง แต่น้อยกว่าช่วงก่อนถูกอภิปรายพาดพิงในสภา เฉลี่ยเดือนละ 2-4 บทความ มีเดือน เม.ย.63 เผยแพร่ 9 บทความ ส่วนหนึ่งเป็นการโจมตีภาคประชาสังคมบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมในช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ในเดือน ก.ค.-ก.ย.63 เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ไม่มีการเคลื่อนไหวในการเผยแพร่บทความเลยแม้แต่ชิ้นเดียว กระทั่งเริ่มกลับมาเผยแพร่บทความอีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค.63 ซึ่งมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงรอยต่อของปีงบประมาณ
นอกจากนั้น บทความที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือน ต.ค.63 เป็นบทความที่มีการเขียนตัวอักษรรูมี (ภาษามาเลย์) ภาษามลายู และอาหรับ โดยแปลเป็นภาษาไทยควบคู่ไปด้วย เนื้อหาหลักๆ มีทั้งเรื่องโควิด-19 และเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีการรวมตัวชู 3 นิ้วของกลุ่ม PerMAS (สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี) ซึ่งเดิมทีบทความในเว็บไซต์นอกจากภาษาไทยแล้ว ก็มีการแปลเป็นภาษามาเลย์อยู่บ้าง แต่เป็นเพียงบางชิ้นเท่านั้น จึงเชื่อว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้เขียนบทความของเว็บไซต์ หรือไม่ก็มีการเพิ่มทีมงาน
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เว็บไซต์ Pulony ถูกเข้าถึงจากสหรัฐอเมริกา มากกว่าในมาเลเซียเสียอีก!
ส่วนบทความที่ 2 นักสิทธิฯ คือ อังคณา นิละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ระบุว่ามีการบิดเบือนใส่ร้ายนั้น จากการตรวจสอบพบว่า บทความที่มีเนื้อหาพาดพิงนักสิทธิฯทั้ง 2 รายนี้ เผยแพร่ก่อนปี 63 ทั้งสิ้น อย่างบทความที่เผยแพร่วันที่ 11 พ.ย.62 เรื่อง อดีตนักสิทธิฯ กลุ่ม PerMAS หัวหน้าพรรคประชาชาติ "คนละบ้าน แต่มุ้งเดียวกัน" ซึ่งเนื้อหากล่าวถึงอังคณา และยังมีบทความอีกหลายชิ้นที่กล่าวถึงการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนแบบเหมารวม ไม่ได้เจาะจงชื่อบุคคล แต่กลับมีการนำรูปของ อังคณา มาใช้ประกอบบทความ
ส่วนบทความที่มีลักษณะโจมตีอัญชนา มีหลายบทความ เช่น บทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 เม.ย.59 เรื่อง บทพิสูจน์ "กลุ่มด้วยใจ" เขียนโดย ซอเลาะห์ บินคอลีฟ, บทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.60 เรื่อง นักสิทธิฯแห่งปี ขยันผิดที่ผิดเวลากับเรื่องร้องเรียนคดีบึ๊มสายบุรี เขียนโดย กะ กันดา, บทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.61 เรื่อง เปิดโปงกลุ่มด้วยใจ กับผลงานชิ้นโบว์ดำแห่งปี เขียนโดย กะ กันดา เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายบทความที่เขียนในเชิงโจมตีการทำงานของอัญชนา และภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ ในเครือข่ายเดียวกัน แต่นำรูปอัญชนามาประกอบในบทความ
นอกจากนักสิทธิมนุษยชน 2 รายนี้แล้ว ยังมีคนทำงานในเครือข่ายภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว และสื่อมวลชนอีกหลายรายที่ถูกกล่าวถึงในทางลบจากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ในจำนวนนี้มีบทความที่พาดพิงบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศราด้วย
แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางบทความที่ลอกข้อมูลเนื้อหาจากศูนย์ข่าวอิศรา นำไปเผยแพร่ในชื่อของตน เช่น บทความที่ชื่อว่า เมื่อ 'อับดุลอากิม ดาราเซะ' ประกาศแตกหักกับขบวนการ เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.57 อ้างว่าเขียนโดย แบมะ ฟาตอนี แต่เนื้อหาทั้งหมดกลับเหมือนกับบทความที่ชื่อ เปิดใจ อส.ฮากิม ตัวตนที่แท้จริง กับปริศนาทำไมถูกไล่ล่า ที่เผยแพร่ก่อนในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา (วันที่ 12 มิ.ย.57)
ทั้งหมดนี้คือบทบาทของพฤติกรรมของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ที่ยกตนเป็นดั่งศาลเตี้ย ทั้งวิพากษ์และพิพากษาบุคคลอื่นอยู่ตลอดมา!
-------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดใจ "อังคณา-อัญชนา" เมื่อสองนักสิทธิ์ท้าชนเว็บไอโอ
สำรวจแนวรบหลังทวิตเตอร์แฉ"ไอโอไทย" ไฉนมีแต่กองทัพที่โดน?
เว็บ Pulony เริ่มขยับ หลังโดนถล่มยับ "ไอโอทหาร"
เว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?
ไอโอรัฐพ่าย สาดโคลนทั้ง 2 ฝ่าย คนเสียหายคือประชาชน
กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony
ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว
"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"