เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com กลับมาเคลื่อนไหวโพสต์บทความในแนวเดิมอีกครั้ง หลังจากหยุดนิ่งไป 20 กว่าวัน นับตั้งแต่ถูก ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ออกมากล่าวหากลางสภาว่าเป็นเว็บที่ทำภารกิจ "ไอโอ" หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ให้กองทัพ
ส.ส.ที่ออกมาเปิดข้อมูลเรื่องนี้ คือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันย้ายไปสังกัด "พรรคก้าวไกล" โดยเขาอ้างระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อช่วงกลางดึกของวันอังคารที่ 25 ก.พ.63 ว่า เว็บ Pulony เป็นเว็บ "ไอโอ" ของกองทัพ ใช้เดินเกมถล่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชน และขบวนการนักศึกษา ภาคประชาสังคมในพื้นที่ จนทำให้เกิดการแตกแยกแบ่งฝ่าย
เว็บไซต์ Pulony หยุดความเคลื่อนไหวก่อนที่นายวิโรจน์อภิปรายในสภา 2 วัน จากนั้นก็เงียบยาวต่อเนื่องอีก 21 วัน ไม่มีการโพสต์บทความหรือข้อเขียนใดๆ หน้าเว็บยังคงค้างบทความสุดท้ายที่โพสต์เอาไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ.63 เวลา 10.55 น.
กระทั่งวันอังคารที่ 17 มี.ค. เว็บไซต์ Pulony จึงกลับมาเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง นับถึงวันสุดท้ายของเดือน มี.ค. คือวันที่ 31 มีการโพสต์บทความใหม่ 2 ชิ้น
บทความแรก โพสต์เมื่อเวลา 10.40 น. วันอังคารที่ 17 มี.ค. หัวเรื่องว่า "ละครลวงโลกเพื่อยกระดับปัญหาชายแดนใต้ของไทยไปสู่เวทีโลก" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการบีอาร์เอ็นที่พยายามสร้างพื้นที่ให้มีตัวตนในเวทีโลก โดยการลงนามแถลงฝ่ายเดียวว่าด้วยเรื่อง "การปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ (Armed Conflict)" และมีการเผยแพร่เอกสารแถลงฝ่ายเดียวในเว็บไซต์ theirwords.org ที่เป็นของ Geneva Call องค์กรอิสระที่เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธทั่วโลกเคารพในหลักการและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
แต่หลังลงนามได้ไม่ถึงเดือน ได้เกิดเหตุระเบิดที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ ทำให้ผู้เขียนบทความมองว่าการกระทำของบีอาร์เอ็นเป็นการสร้างภาพ คล้ายเล่นละครลวงโลก ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับปัญหาชายแดนใต้ไปสู่เวทีโลก ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาภายในของไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า บทความนี้น่าจะถูกเขียนหลังวันที่ 13 มี.ค.63 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาของขบวนการบีอาร์เอ็น เพราะในวันดังกล่าว ทางเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ได้นำเสนอบทความเรื่อง "ครบรอบ 60 ปี บีอาร์เอ็น เปิดคำแถลงว่าด้วยเรื่องการปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธที่สังคมไทยต้องจับตา" และบทความของเว็บไซต์ Pulony ได้นำภาพจากบทความของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์มาใช้ประกอบในบทความของตนด้วย
บทความที่สอง โพสต์เมื่อเวลา 10.43 น. วันจันทร์ที่ 23 มี.ค.63 หัวเรื่องว่า "ภาคประชาสังคมชายแดนใต้อ้างโควิด-19 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติหน้าที่..เพื่อใคร.." เนื้อหาบทความกล่าวถึงกรณีที่ทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 มี.ค.63 เรียกร้องให้รัฐและบีอาร์เอ็นหยุดปฏิบัติการทางอาวุธอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จะกลับสู่ภาวะปกติที่ควบคุมได้
ผู้เขียนบทความนี้ตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามถึงเจตนาขององค์กรภาคประชาสังคมที่ออกแถลงการณ์ ว่าเหตุใดถึงเรียกร้องให้รัฐหยุดปฏิบัติการทางอาวุธด้วย ทั้งที่เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นการทำร้ายซ้ำเติมประชาชน เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงและบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น ทำไมถึงไม่ประณามหรือเรียกร้องให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงและบีอาร์เอ็นหยุดการกระทำ แต่กลับเรียกร้องให้รัฐหยุดปฏิบัติทางอาวุธในการติดตามไล่ล่าคนร้าย
การกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ชัดเจนว่าเนื้อหาและท่วงทำนองการเขียนยังมีลักษณะคงเส้นคงวาเหมือนเดิม คือชี้แจงให้รัฐและฝ่ายความมั่นคง ขณะเดียวกันก็ตรวจสอบและตั้งคำถามกับบทบาทของขบวนการก่อความไม่สงบ ผู้ก่อเหตุรุนแรง ภาคประชาสังคม และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ ในลักษณะที่มีข้อมูลสนับสนุนมากพอสมควร
เปิดคำชี้แจงเชิงลึกอีกที...เว็บ Pulony ไม่ได้รับงบทหาร?
จากท่าทีของเว็บไซต์ Pulony อาจยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อของใครหลายๆ คนว่า เว็บนี้เป็น "เว็บไอโอ" ของทหาร ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ทาง ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ก็ได้อ้างหลักฐานเป็นเอกสารของ กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ระบุว่า กอ.รมน.ให้การสนับสนุนงบประมาณกับเว็บไซต์ Pulony ในการทำ "ไอโอ"
อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน. (ลธ.รมน.) เคยออกมาแถลงยืนยันว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้อภิปราย เพราะเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ไม่ใช่ของ กอ.รมน. ส่วนเอกสารที่นำมาอ้าง เป็นเอกสารของ กอ.รมน.ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เป็นรายงานการปฏิบัติตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 และถูก ส.ส.หยิบมาใช้ประกอบการอภิปรายในสภา ทั้งๆ ที่เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เป็นเว็บหนึ่งที่ถูกฝ่ายความมั่นคงเฝ้าระวังและจับตามอง
ขณะที่มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับจากแหล่งข่าวใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งอธิบายว่าเอกสารที่ ส.ส.นำมาอภิปราย เป็นเอกสารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ทำชี้แจงคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งตัวผู้อภิปรายเองก็อยู่ในอนุกรรมาธิการฯชุดนี้ และได้ตั้งคำถาม 11 ประเด็นให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงเกี่ยวกับการทำปฏิบัติการข่าวสาร
โดยในประเด็นที่ 10 เป็นรายงานผลการปฏิบัติการข่าวสารของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 ขณะที่ในประเด็นอื่นๆ ก็เป็นการตั้งคำถามเรื่องอื่น เช่น นิยามความหมายของคำว่า "หัวรุนแรง" คืออะไร, นิยามความหมายของคำว่า "ความจริงที่ถูกต้อง" คืออะไร, โครงการเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง เป้าหมายที่เด็กอายุ 1-5 ปี มีรายละเอียดอย่างไร ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อธิบายต่อว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำถามมาจากอนุกรรมาธิการฯ ก็ได้จัดทำรายงานเพื่อชี้แจงข้อมูลทั้งหมด โดยในประเด็นที่ 10 เป็นการชี้แจงในภาพรวมของการทำปฏิบัติการข่าวสาร ไม่ได้เจาะจงไปที่เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เพียงแต่ตั้งหัวข้อตามคำถามของอนุกรรมาธิการฯ ฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เป็นของ กอ.รมน. หรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายความมั่นคง
จากการตรวจสอบเนื้อหาคำชี้แจงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในข้อที่ 10 นี้ ก็พบว่าเป็นการชี้แจงปฏิบัติการข่าวสารในภาพรวม ทั้งเผยแพร่บทความ เปิดสปอตโฆษณาทางวิทยุ การเปิดเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย การพามวลชนเข้าเยี่ยมสถานีวิทยุทักษิณสัมพันธ์ ฯลฯ โดยปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของการเผยแพร่บทความนั้น มีบางส่วนที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com และเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ แต่ไม่ได้ระบุว่ามีการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งภายหลังเสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.ก็ออกมาชี้แจงทำนองว่า การนำเสนอบทความชี้แจงแทนฝ่ายความมั่นคง เป็นการตัดสินใจของแอดมิน หรือผู้ดูแลเว็บไซต์เอง ทาง กอ.รมน.ไม่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง เว็บไซต์ Pulony มี "ม็อตโต้" ที่ประกาศไว้บนหน้าเว็บว่า "ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้" เริ่มนำเสนอบทความครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.54 และนำเสนอเรื่อยมาจนถึงวันที่ 23 ก.พ.63 จากนั้นหยุดไป 23 วัน จึงกลับมาโพสต์ใหม่อีก 2 บทความ รวมบทความทั้งหมด 863 ชิ้น มีทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลย์ และภาษาอาหรับ มีการเข้าชมกว่า 3 ล้านครั้งตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?
ไอโอรัฐพ่าย สาดโคลนทั้ง 2 ฝ่าย คนเสียหายคือประชาชน
กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony
ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว
"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"