เกิดคำถามที่แหลมคม 2 คำถามทันทีที่มีข่าวทวิตเตอร์แจ้งปิดบัญชีผู้ใช้ในไทยเกือบ 1,000 บัญชี โดยอ้างว่าเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสาร หรือ "ไอโอ" ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองทัพบกไทย
คำถามแรก คือ ทำไมถึงมีการเปิดรายงานและตีข่าวในช่วงนี้
คำถามที่ 2 คือ ทำไมจึงมีแต่บัญชีที่เชื่อมโยงกับกองทัพที่โดนตรวจสอบและแจ้งปิด แม้หัวข้อการตรวจสอบจะมุ่งไปที่ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐก็ตาม เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในโลกของการสื่อสารทุกวันนี้ ไม่ได้มีแต่ฝ่ายรัฐหรือรัฐบาลเท่านั้นที่ทำ "ไอโอ"
ก่อนอื่นเรามาย้อนดูต้นตอและความเคลื่อนไหวของข่าวนี้กันก่อน
ฝ่ายความปลอดภัยของทวิตเตอร์ หรือ ทวิตเตอร์เซฟตี้ เปิดเผยรายงานการตรวจสอบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้ที่มีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐ (state-linked information operations) และดำเนินการระงับบัญชีผู้ใช้ที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 1,594 บัญชีใน 5 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย คิวบา ไทย และรัสเซีย
เหตุผลของการระงับบัญชีผู้ใช้งาน ทวิตเตอร์อ้างว่า เนื่องจากเจ้าของบัญชีละเมิดนโยบายด้านการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลเพื่อชี้นำความเห็นในทวิตเตอร์ โดยในส่วนของไทยถูกปิดบัญชีมากที่สุดถึง 926 บัญชี
รายงานระบุในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยว่า จากการตรววจสอบพบเครือข่ายบัญชีผู้ใช้ที่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับกองทัพบกของไทย เผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะสนับสนุนกองทัพบกและรัฐบาลไทย และมีพฤติกรรมพุ่งเป้าโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองคนสำคัญ พร้อมกันนี้ทวิตเตอร์ได้เปิดเผยบัญชีผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านข่าวสาร 926 บัญชีในไทย และระบุว่าจะเดินหน้าตรวจสอบกิจกรรมย่อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้ต่อไป
ทวิตเตอร์ระบุด้วยว่า เป้าหมายของการเปิดเผยบัญชีผู้ใช้ที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการไอโอทั่วโลก ก็เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความพยายามของภาครัฐที่ต้องการทำลายการสื่อสารอย่างเปิดเผยตามหลักประชาธิปไตย และทวิตเตอร์เชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบที่ต้องปกป้องการสื่อสารของสาธารณชน
เปิดรายงานถล่มซ้ำ ทบ.ไทย
ทันทีที่ทวิตเตอร์ปิดบัญชีผู้ใช้เกือบพันบัญชีที่เชื่อมโยงกับกองทัพบกไทย ปรากฏว่าทางศูนย์นโนบายไซเบอร์ Stanford Internet Observatory ได้เผยแพร่รายงานรองรับในเรื่องนี้ทันที โดยรายงานมีชื่อว่า "การนำเชียร์โดยปราศจากแฟนๆ : ปฏิบัติการภายในที่ส่งผลกระทบต่ำโดยกองทัพไทย"
รายงานมีความยาว 33 หน้า ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2020 เนื้อหาระบุถึงการที่ทวิตเตอร์ประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปิด 926 บัญชีผู้ใช้ที่ถูกใช้ในปฏิบัติการไอโอของกองทัพไทย และทางทวิตเตอร์ได้แชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้กับ Stanford Internet Observatory เมื่อวันที่ 24 กันยายน
ทาง Stanford Internet Observatory ระบุว่า จากทั้ง 926 บัญชี มีบัญชีที่แอ็คทีฟอยู่ 455 บัญชี แม้บัญชีเหล่านี้จะมีการประสานงานกัน แต่ก็เป็นปฏิบัติการที่สร้างผลกระทบต่ำ บัญชีเหล่านี้ส่วนมากไม่มีฟอลโลเวอร์ (ผู้ติดตาม) และทวีตส่วนมากก็ไม่มีเอ็นเกจเมนต์ อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงระยะเวลาของปฏิบัติการที่จำกัด คือบัญชีส่วนมากสร้างเมื่อเดือนมกราคม และส่วนมากเครือข่ายหยุดทวีตไปเมื่อเดือนมีนาคม ช่วงเวลาแอ็คทีฟที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์ ตอนที่เกิดเหตุการณ์ยิงถล่ม 30 ศพที่โคราช และการยุบพรรคอนาคตใหม่
เท่าที่รู้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ระงับเครือข่ายบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวโยงกับกองทัพไทย แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพถูกกล่าวหาเรื่องไอโอ เพราะพรรคอนาคตใหม่ก็เคยกล่าวหารัฐบาลเรื่องการใช้ไอโอมุ่งโจมตีพรรคฝ่ายค้าน
กลุ่มต้านรัฐบาลฉวยใช้ประโยชน์การเมือง
นี่คือที่มาที่ไปของข่าวที่นำเสนอออกมาอย่างสอดรับกัน ซึ่งแน่นอนว่าในยามที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศกำลังขัดแย้งและแย่งชิงความได้เปรียบกันอยู่เช่นนี้ หนำซ้ำคู่ขัดแย้งไม่ได้จำกัดเฉพาะฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่ยังมีมวลชนนอกสภาเตรียมนัดชุมนุมใหญ่กันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้รายงานของทวิตเตอร์ และ Stanford Internet Observatory ถูกหยิบมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาลทันที
มีความเคลื่อนไหวของโฆษกสาวพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแถลงเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรคก้าวไกลที่โพสต์ข้อความตอกย้ำ โดย ส.ส.รายนี้เคยสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และเคยอภิปรายกลางสภาโจมตีกองทัพในเรื่องนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในวาระพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่ามีการใช้งบประมาณของกองทัพและ กอ.รมน.ให้กำลังพลทำไอโอ แต่ครั้งนั้นกองทัพออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง (อ่านประกอบ : ส.ส.สีส้มอ้างเอกสารกองทัพ-กอ.รมน.แฉปฏิบัติการ IO-จ่ายรายหัว 100-300 บ./ด., เว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?, ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีคำถามจากบางฝ่ายว่า สิ่งที่นักการเมืองกำลังทำจัดเป็นปฏิบัติการไอโอรูปแบบหนึ่งด้วยหรือไม่?
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับรายงาน 2 ชิ้นนี้ ก็มีการตั้งประเด็นสะท้อนความฉงนสนเท่ห์ เช่น เหตุใดทวิตเตอร์ และ Stanford Internet Observatory จึงพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย และลงรายละเอียดปัญหาภายในของไทยอย่างละเอียดยิบเหมือนร่วมอยู่ในวงจรของปัญหาด้วย ทั้งๆ ในรายงานก็บอกเองว่าเครือข่ายที่ทวิตเตอร์อ้างว่าเป็นไอโอนั้น เป็นปฏิบัติการที่สร้างผลกระทบต่ำ
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่า จริงหรือที่บางประเทศใน 5 ประเทศที่ถูกตรวจสอบ มีบัญชีไอโอที่เชื่อมโยงกับรัฐน้อยกว่าไทย หรือว่าทวิตเตอร์ยังตรวจไม่พบกันแน่ บ้างก็สงสัยว่าประเทศที่ถูกตรวจสอบมีอยู่เท่านี้หรือ สหรัฐอเมริกาในฐานะ "เจ้าตำรับไอโอ" ไม่มีการใช้ไอโอบ้างเลยหรืออย่างไร และทวิตเตอร์ใช้หลักเกณฑ์อะไรที่นำมาสู่ข้อสรุปว่าแอคเคาท์เหล่านั้นทวีตข้อความบิดเบือน
ทำไมต้องตอนนี้?
ย้อนกลับไปที่ 2 คำถามแรกที่ตั้งเอาไวัตั้งแต่ตอนต้น โดยเฉพาะข้อแรกที่ว่าเหตุใดจึงเลือกเปิดเผยรายงานที่ส่งผลกระทบกับรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงของไทยในช่วงเวลานี้ แน่นอนว่าหลายคนโยงไปถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่กำลังจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม
เรื่องนี้ รัฐมนตรีดีอี หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณฑ์ ก็รู้สึกแปลกใจเช่นเดียวกัน
"ผมเองรู้สึกแปลกใจที่ทวิตเตอร์ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ แทนที่จะดำเนินการตามคำสั่งศาลไทยที่ให้ปิดกั้นหรือลบบัญชีของผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ส่งคำสั่งศาลไปแล้ว แต่ทวิตเตอร์ยังเพิกเฉย ไม่ทำการลบให้จำนวน 65 รายการ และอีก 1 ชุดที่กำลังจะส่งไปเพิ่มเติม อีกจำนวน 253 รายการ" นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ข่าวชิ้นนี้ที่อ้างอิงจากเว็บไซต์เนชั่นทีวี ระบุด้วยว่า นายพุทธิพงษ์ได้เรียกร้องไปยังทวิตเตอร์ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลและเคารพกฎหมายไทยอย่างจริงจัง เพื่อแสดงความจริงใจในการทำงานที่โปร่งใสของทวิตเตอร์เอง
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของฝั่งกองทัพ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะโฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบกจริง โดยเฉพาะงานช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ แต่ไม่เคยมีนโยบายให้ใช้อวตารสร้างข่าวปลอมหรือชี้นำสถานการณ์ทางการเมือง
ทำไมไอโอกองทัพตกเป็นเป้า?
สำหรับคำถามที่ 2 ที่ตั้งไว้ตอนเปิดเรื่องว่าเหตุใดจึงมีแต่บัญชีที่เชื่อมโยงกับกองทัพที่โดนทวิตเตอร์ตรวจสอบและแจ้งปิด ซึ่งแม้หัวข้อการตรวจสอบจะระบุชัดว่ามุ่งไปที่ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐก็ตาม แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คืออาจมีกระบวนการรายงานความผิดปกติของบัญชีผู้ใช้บางส่วนไปยังทวิตเตอร์อย่างเป็นระบบ โดยเจาะจงบัญชีที่เชื่อมโยงกับคนของกองทัพ จนได้รับความสนใจจากทวิตเตอร์ และตรวจสอบกระทั่งแจ้งปิดบัญชีผู้ใช้กลุ่มนี้ในที่สุด
เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในโลกของการสื่อสารทุกวันนี้ ไม่ได้มีแต่ฝ่ายรัฐเท่านั้นที่ทำ "ไอโอ" เหตุใดทวิตเตอร์จึงไม่สนใจบัญชีผู้ใช้ที่เรียกกันในกลุ่มผู้เล่นทวิตเตอร์ว่า "แอคเคาท์หลุม" คล้ายๆ "อวตาร" ในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มจัดการอย่างเป็นระบบ
หรือทวิตเตอร์มองผู้ใช้เหล่านั้นว่าเป็นพลเรือนที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ตามหลักประชาธิปไตย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็น "แอคเคาท์จัดตั้ง" เพื่อสร้างกระแสบางอย่างโดยหวังประโยชน์ทางการเมือง
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากเหตุผลตามที่ทวิตเตอร์กล่าวอ้างแล้ว เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ทวิตเตอร์ตรวจสอบบัญชีไอโอที่เชื่อมโยงถึงกองทัพและผู้สนุับสนุนรัฐบาลเป็นหลัก เพราะทวิตเตอร์จับความเคลื่อนไหวเหล่านี้จากการ "รีทวีต" ของกลุ่มการเมืองที่มีความเชี่ยวชาญในการทำไอโอ และใช้วิธีรีพอร์ตหรือ "รีทวีต" ข้อความไอโอของฝั่งกองทัพ จากนั้นก็ให้เครือข่ายของตนเองรีทวีตต่อๆ กันให้มากที่สุด คล้ายๆ การแชร์และรีพอร์ตในเฟซบุ๊กหรือ YouTube จนทำให้ทวิตเตอร์จับความเคลื่อนไหวได้ และสั่งปิดแอคเคาท์ไอโอของกองทัพในที่สุด
ส่วนแอคเคาท์ไอโอของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่มีจำนวนมากเช่นกัน ไม่ได้ถูก "รีทวีต" อย่างเป็นขบวนการเพื่อโจมตีว่าเป็นไอโอเหมือนของกองทัพ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า แอคเคาท์ของกองทัพหรือของฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลไม่มีทีมงานที่มีความพร้อมในการทำเรื่องนี้ จึงเสียเปรียบฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีการจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มการเมือง
ความจริงของ "ไอโอ" ยุคโซเชียลฯ
"ไอโอ" ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operations หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งในอดีตถูกนำมาใช้ชิงความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงคราม
หลักการสำคัญของ "ไอโอ" คือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของ "ฝ่ายเรา" ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของ "ฝ่ายเรา" ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้าม หรือ "ฝ่ายศัตรู" เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิดความเชื่อต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของ "ฝ่ายเรา" ได้
ส่วนวิธีการเผยแพร่ความคิดความเชื่อที่สามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด แน่นอนว่าจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อทุกชนิด ฉะนั้นในอดีต ฝ่ายที่ทำไอโอหนักๆ ได้จึงเป็น "ฝ่ายรัฐ" เพราะคุมสื่อแทบทุกชนิดอยู่ในมือ แต่ในยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย หรือ "สื่อสังคมออนไลน์" ที่ทุกคนเป็นสื่อและผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง ทำให้งาน "ไอโอ" ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป ฉะนั้นหากใครมีขีดความสามารถ หรือ "ทักษะ" ในการใช้สื่อประเภทต่างๆ ได้มากกว่า ก็จะทำไอโอได้เหนือกว่าอีกฝ่าย
ที่สำคัญ ความเชี่ยวชาญการใช้ "สื่อใหม่" หรือ "นิวมีเดีย" ยังสามารถระงับหรือขัดขวางการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย เช่น วิธี report หรือวิธีใช้คนจำนวนมากเข้าไปใช้เว็บ เพจเฟซบุ๊ค หรืออินสตราแกรมของฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆ กันจนเว็บหรือเพจล่ม หรือถ้าเป็นระดับมืออาชีพมากกว่านั้นอาจใช้การโจมตีด้วยไวรัส หรือ บ็อท (robot) กันเลยทีเดียว
สถานการณ์จริงของไอโอ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ คนทั่วๆ ไปที่มีความรอบรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ อาจมีความสามารถในการทำ "ไอโอ" เหนือกว่าหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย หรือบุคลากรไม่พัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ (อ่านประกอบ : "ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว)
นี่คือความซับซ้อนของ "ไอโอยุค 5จี" ทำให้สิ่งที่เห็น บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็น!
----------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เว็บ Pulony เริ่มขยับ หลังโดนถล่มยับ "ไอโอทหาร"
เว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?
ไอโอรัฐพ่าย สาดโคลนทั้ง 2 ฝ่าย คนเสียหายคือประชาชน
กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony
ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว
"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"