ภาพประกอบของเรื่องนี้ (ภาพครึ่งล่าง) คือหน้าเพจ "ซูรอ ปาตานี" (Suara Patani) ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันพุธที่ 26 ก.พ.63
เพจ "ซูรอ ปาตานี" ได้โพสต์ภาพเป็นหน้าเว็บเพจ http://pulony.blogspot.com/ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "เว็บพูโลนี" เมื่อครั้งเสนอบทความในปี 60 วิจารณ์เพจ "ซูรอ ปาตานี" ว่ารายงานข้อมูลบิดเบือนความจริง
"เว็บเพจพูโลนี" คือเว็บที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ อ้างระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อค่ำคืนของวันอังคารที่ 25 ก.พ.63 ว่าเป็นเว็บ "ไอโอ" หรือเว็บปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) ของทางกองทัพ มีการสนับสนุนงบประมาณให้อย่างชัดเจน
โดย ส.ส.ผู้อภิปรายอ้างว่า "เว็บพูโลนี" มีเนื้อหาคอยเสี้ยมโจมตีนักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนักการเมืองในพื้นที่ที่พยายามนำปัญหาภาคใต้มาแก้ไขผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ขณะเดียวกัน "เว็บเพจพูโลนี" ก็เคยกล่าวหาเปิดโปงเพจ "ซูรอ ปาตานี" ว่าเป็นเฟซบุ๊คของแนวร่วมสนับสนุนกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ มีการปลุกระดมก่อให้เกิดความเกลียดชังในเรื่องของเชื้อชาติและศาสนา สร้างความขัดแย้งทางความคิด ส่งผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกแยก เกิดความหวาดระแวงในการดำเนินชีวิตต่อกัน
นี่คือตัวอย่างของการใช้โซเชียลมีเดียในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ "ไอโอ" ซึ่งมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และปฏิบัติการไอโอในดินแดนปลายด้ามขวานยังมุ่งเน้นการโจมตีแฉกันไปมา มากกว่าการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยความจริง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำไอโอ (อ่านประกอบ : "ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว)
จริงๆ แล้วความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสงครามจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง โดยฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งชิงมวลชนกันมานานแล้ว ในอดีตทั้งสองฝ่ายจะทำไอโอได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากรูปแบบและ "แพลทฟอร์ม" การสื่อสารทำได้ในวงแคบ เช่น ใช้สื่อบุคคลในการปล่อยข่าวลือ บอกเล่ากระจายข่าวสารตามแหล่งชุมชนและร้านน้ำชา รวมไปถึงแจกใบปลิว โดยรูปแบบวิธีการจะทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นหลัก
แต่ในช่วง 6-7 ปีมานี้ การเข้าถึงและการแพร่หลายของสื่อสังคมออนไลน์ในพื้นที่มีมากขึ้น รูปแบบการทำไอโอของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐจึงปรับเปลี่ยนมาใช้โลกออนไลน์ในการเข้าถึงผู้คน โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค เน้นการแพร่ข้อมูลข่าวสารจากฝั่งของตนเองไปยังประชาชนอย่างรวดเร็วและกว้างขวางที่สุด
จุดเด่นของการทำไอโอในโลกออนไลน์ คือสร้างกระจายข่าวจากที่ใดก็ได้ในโลก ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ และใช้สื่อบุคคลน้อยลง เพราะมีช่องทางการกระจายผ่านแพลทฟอร์มใหม่ๆ ได้ง่าย รวมถึงเทคนิควิชามารอย่างเช่นการใช้ "อวตาร" หรือบัญชีผู้ใช้ที่ไม่ระบุตัวตน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาการต่อสู้ในสมรภูมิข่าวสารโดยใช้สื่อออนไลน์จึงเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เกิดเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊ค ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นเพจที่ให้ข้อมูลข่าวสารความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน แต่เพจประเภทนี้จะแตกต่างจากเพจข่าวสารปกติตรงที่มีการใช้ภาษาเรียกขายฝ่ายตรงข้ามของตนในลักษณะ "แบ่งแยก" รวมทั้งเสริมเติมแต่งความคิดเห็นและข้อมูลเท็จเข้าไปในข่าวสาร จากนั้นก็มีระบบแชร์ต่อๆ กันในวงกว้างผ่านเครือข่ายจัดตั้ง
การใช้เพจเฟซบุ๊คในการทำไอโอ เห็นผลชัดเจนในการสร้างความคิดความเชื่อสนับสนุนฝายตน แต่ผลลบที่ตามมาก็คือ มีบรรยากาศการแบ่งแยก "พวกเขา-พวกเรา" ชัดเจนมาก มีการกดติดตาม กดถูกใจ แชร์ต่อ และคอมเมนท์ตอบโต้กันอย่างกว้างขวางในแต่ละข่าวสารที่นำเสนอ ผลที่ตามมาก็คือสามารถชี้นำความคิดผู้ที่ติดตามเพจนั้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าบางเรื่องที่มีการคอมเมนท์หรือแสดงความคิดเห็น เป็นการจัดฉาก-วางงานกันมาก่อน ยิ่งเนียนเท่าไหร่ยิ่งสร้างผลตอบรับมากและรวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
เช่น เหตุการณ์คนร้ายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ไปก่อเหตุยิงผู้นำศาสนาหรือยิงชาวบ้านในมัสยิด ทันทีที่เกิดเหตุ เพจไอโอฝั่งตรงข้ามฝ่ายความมั่นคงก็จะพยายามให้ข้อมูลในลักษณะเจ้าหน้าที่รัฐทำเองทันที หรือพยายามให้ข้อมูลว่าการก่อเหตุในมัสยิด ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม ต้องเป็นฝีมือของคนนอกศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน (ทั้งๆ ที่หลายกรณีเมื่อมีการสอบสวนดำเนินคดี ก็พบว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น)
ส่วนเพจไอโอที่เชื่อว่ามีคนของรัฐหรือทหารทำขึ้น ก็จะนำเสนอข่าวสารในมุมบวกของฝ่ายรัฐ มีการนำภาพความรุนแรงที่เกิดจากฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบมาเผยแพร่ให้เห็นความโหดร้ายทารุณที่ผู้บริสุทธิ์ถูกกระทำ บางเพจก็นำเสนอข้อมูลเกินเลยจนสร้างความเกลียดชัง แบ่งแยกศาสนากันไปเลยก็มี ขณะที่บางเพจก็มีการหยิบประวัติหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เคลื่อนไหวทำงานในพื้นที่ เช่น นักสิทธิมนุษยชน มาเปิดเผยในลักษณะคุกคามทางออนไลน์
ผลจากการทำไอโอผ่านสื่อโซเซียลฯ ทำให้ผู้คนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนขึ้นกว่าในอดีต ประกอบกับการแสดงความเห็นหรือการประกาศจุดยืนเลือกข้างสามารถทำได้ง่ายกว่าเดิม เพราะสามารถปกปิดตัวตนได้ ทำให้มีการตอบโต้ โจมตี ด่าทอฝ่ายตรงข้ามผ่านกันอย่างรุนแรง จนเกือบจะเป็นสงครามย่อยๆ ในโลกไซเบอร์ ส่งผลให้เกิดความเกลียดชังกันมากขึ้นระหว่างกลุ่มคน
สิ่งสำคัญที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้นก็คือ จุดเด่นของสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ผู้กระจายข่าวไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน และไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่จริงๆ จากการตรวจสอบพบว่า แอดมินเพจไอโอบางเพจ ไม่ได้พำนักอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แอดมินบางคนอยู่ต่างประเทศด้วยซ้ำ และข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันยังกระจายไปยังกลุุ่มคนภูมิภาคอื่น หรือแม้แต่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ทำให้หลายประเด็นสร้างความเข้าใจผิด หรือก่อความเกลียดชังได้ในวงกว้าง
ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวกระโดด และแต่ละฝ่ายมีแฟนคลับหรือ "สาวก" ของฝ่ายตน ทำให้ระยะหลังเริ่มเกิดกรณีชี้นำ หรือ "เปิดวาร์ป" ให้คนที่เห็นด้วยกับเพจตัวเอง เข้าไปโจมตีเฟซบุ๊คส่วนบุคคลของคนที่เห็นต่าง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการทำไอโอผ่านสื่อโซเซียลฯได้เป็นอยางดี ว่าน่ากลัวขนาดไหน
หลายกรณีลุกลามไปถึงการเปิดภาพและข้อมูลส่วนบุคคลของคนในครอบครัวที่ถูกเปิดวาร์ป กระทั่งลูกเพจเข้าไปโจมตีด่าทอหรือแม้แต่ไล่ล่าคนเหล่านั้น คล้ายการ "ล่าแม่มด" ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นพิพาทหรือประเด็นที่เห็นต่างกันแม้แต่น้อย
ฉะนั้นสงครามไอโอที่ชายแดนใต้จึงมีการยั่วยุเร่งเร้าจากทั้งสองฝ่าย แต่ในฐานะที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และไม่ควรตกเป็นคู่ขัดแย้งแบบผิดๆ กับผู้เห็นต่าง จึงไม่แปลกที่มีกระแสเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐใช้การเผยแพร่ข่าวสารในช่องทางที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และด้วยข้อมูลความจริง ภายใต้กลไกและเครื่องมือของภาครัฐเองที่มีอยู่มากมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม
และหยุดความแตกแยกแบ่งฝ่ายที่รัฐกลายเป็นผู้ปลุกเร้าเสียเอง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว