ตกเป็นข่าวอีกครั้งสำหรับเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เมื่อสองนักสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้หน่วยงานรัฐชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากข้อเขียนในเว็บปริศนาเว็บนี้
สองนักสิทธิฯที่ยื่นฟ้อง คือ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ กับ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้อง คือ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก
มูลฟ้องคือ จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงในเอกสารที่ กอ.รมน.เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สภาผู้แทนราษฎร และได้ถูกนำมาประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาในเวลาต่อมาว่าเป็นเว็บไซต์ของ กอ.รมน. (อ่านประกอบ : ส.ส.สีส้มอ้างเอกสารกองทัพ-กอ.รมน.แฉปฏิบัติการ IO-จ่ายรายหัว 100-300 บ./ด.)
แม้ในส่วนหนึ่งของคำฟ้องจะระบุว่า กอ.รมน.ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเว็บไซต์ Pulony เป็นของ กอ.รมน. แต่ในการแถลงข่าวของ กอ.รมน.หลายครั้งไม่เคยยอมรับในเรื่องนี้ และยืนยันว่าเว็บไซต์แห่งนี้ไม่ใช่ของ กอ.รมน. (อ่านประกอบ : กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony, เว็บ Pulony เริ่มขยับ หลังโดนถล่มยับ "ไอโอทหาร")
สำหรับค่าเสียหายที่มีการยื่นฟ้อง คือ 3,000,000 บาทในส่วนของนางอังคณา และ 2,000,000 บาทในส่วนของ น.ส.อัญชนา
คำฟ้องสรุปว่า สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่ 1 เนื่องจาก กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในสำนักงานนายกรัฐมนตรี ส่วนจำเลยที่ 2 คือกองทัพบก ขณะที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรอง ผอ.รมน. และแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้กำกับดูแล กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ ถ้าไม่ตรวจสอบก็จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามกฎหมาย ตามวิสัยทัศน์หรือพันธกิจที่วางเอาไว้
อีกทั้งในโลกออนไลน์ ผู้กระทำการยังไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวและอาศัยความเป็นนิรนาม ส่งผลให้เหยื่อเกิดความรู้สึกไร้อำนาจ ตกอยู่ในภาวะเปราะบาง เกิดความเครียดและวิตกกังวลเป็นระยะเวลานาน เทียบเท่าได้กับการทุกข์ทรมานทางจิตใจอย่างหนักหน่วง ซึ่งถือว่าเป็นการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นรัฐไทยจึงมีหน้าที่ชดเชยค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนต่อผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม เพียงพอ ซึ่งเป็นค่าเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณ และค่าเยียวยาความเสียหายต่อจิตใจจากการถูกใส่ร้ายอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตประชาชนทุกหมู่เหล่า
อังคณา เปิดใจถึงการยื่นฟ้องครั้งนี้...
"ตกเป็นเหยื่อของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ มาตลอดตั้งแต่ทำงานสิทธิมนุษยชน โดยตั้งข้อสังเกตว่าถูกโจมตีด้วย IO มากขึ้นช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 โดยเฉพาะในขณะปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทบทุกครั้งที่ให้ความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน มักถูกโจมตีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ บิดเบือน ผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งทำให้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นมีการใช้ถ้อยคำโจมตีด้วยความเกลียดชัง รวมถึงมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจ
แม้ว่าจะมีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีไปแล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งการแจ้งที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และสถานีตำรวจ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าทางคดีใดๆ จึงคิดว่าต้องใช้สิทธิ์ทางศาลด้วยตัวเอง โดยขออำนาจศาลเป็นที่พึ่งในการอำนวยความยุติธรรม และยุติการกระทำเหล่านี้
รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองพลเมืองของตนไม่ให้ถูกล่วงละเมิด ถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือทำให้ถูกเกลียดชัง การทำ IO ไม่ว่าจะกระทำโดยการสั่งการของรัฐ หรือรัฐรู้เห็นเป็นใจ หรือรู้แล้วแต่ไม่ห้ามและไม่ยุติการกระทำนั้น ย่อมถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น การที่ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลในวันนี้ เนื่องจากเมื่อต้นปี ได้มีการอภิปรายงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดเผยรายงานการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ให้การสนับสนุนสื่อออนไลน์ที่ทำข่าวสารเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ต่อมามีการนำมาอภิปรายในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย) ซึ่งสื่อออนไลน์นี้กระทำการโจมตีเรามาตลอด แม้บางครั้งไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ก็นำภาพเรามาใส่เป็นภาพประกอบ และพาดหัวเรื่องที่ทำให้เกิดความเกลียดชังนักสิทธิมนุษยชน ทำให้คนที่เข้ามาดูเกิดความเข้าใจผิด
ความมุ่งหวังในการฟ้องคดีครั้งนี้ เพื่อต้องการให้รัฐรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยยุติการกระทำในลักษณะนี้ ขอให้ผู้รับผิดชอบลบทิ้งข้อความอันเป็นข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ซึ่งเป็นการด้อยค่า พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และคืนศักดิ์ศรีให้ เช่น ให้มีการขอโทษ การรับประกันว่าจะไม่กระทำเช่นนี้อีกในอนาคต รวมถึงชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ หรือหน่วยงาน หรือองค์กรที่รัฐให้การสนับสนุน ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ตรวจสอบได้ และต้องไม่ละเมิดสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนโดยใช้ข่าวปลอม หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐต้องมีความจริงใจ การใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หากแต่กลับจะทำให้รัฐสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนมากขึ้น"
ขณะที่ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ และ ประธานกลุ่มด้วยใจ เปิดใจเอาไว้เช่นกัน
"หลังจากที่ทำรายงานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีการโจมตีเราผ่านทางออนไลน์ กล่าวหาและตอกย้ำความเท็จว่าเราสนับสนุนขบวนการ (หมายถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน) และเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ นอกจากนี้ยังมีการคุกคามทั้งตัวเองและครอบครัวด้วย
เราจะถูกจ้องมองตลอดเวลา มีคนคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก โจมตีด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ถูกดูหมิ่น ทำให้เราได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ รู้สึกนอยด์ กลายเป็นตัวตลก เขาไม่มองงานที่เราทำ แต่ไปเชื่อสิ่งที่ปรากฏในโซเชียลฯที่ถูกทำขึ้นมาโจมตีเรา เขาใช้ทั้งภาพ เนื้อหา ที่ลดทอนคุณค่างานที่เราทำ
จนถึงทุกวันนี้ภาพและข้อความที่เป็นเท็จยังมีการเผยแพร่อยู่ในสื่อออนไลน์ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมาย เพราะไม่อยากให้รัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนมาโจมตีประชาชน และเราเองก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ทำเรื่องที่ดี หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงประเด็นสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น แต่ทำไมกลับเป็นฝ่ายที่ถูกโจมตีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ"
นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความผู้รับผิดชอบคดีนี้ แจกแจงถึงที่มาและเหตุผลของการฟ้องร้อง
"การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ปรากฏรายละเอียดของรายงานการปฏิบัติข่าวสารของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com ว่าเป็นของ กอ.รมน. ที่ปฏิบัติการ 2 ส่วนคือการให้ข่าวสาร กับการทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร และภาษีจากประชาชนในการปฏิบัติภารกิจนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นการบิดเบือน และไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และภารกิจของ กอ.รมน.ที่หวังว่าจะสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่ทำคือการสร้างความแตกแยก
โจทก์ทั้งสอง (นางอังคณา และ น.ส.อัญชนา) ต้องการฟ้องเพื่อที่จะเปิดเผย เปิดโปงกระบวนการนี้ทั้งหมด เพื่อตั้งคำถามว่าต่อไปสภาจะอนุมัติงบประมาณให้งานประเภทนี้หรือ"
ถือเป็นคำถามสำคัญที่พุ่งตรงเข้าใส่ กอ.รมน.อีกครั้ง ในฐานะหน่วยงานความมั่นคงที่มีบทบาทอย่างมากในภารกิจดับไฟใต้ และภารกิจทางความมั่นคงแทบทุกด้านภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัย คสช. จวบจนถึงปัจจุบัน
---------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
สำรวจแนวรบหลังทวิตเตอร์แฉ"ไอโอไทย" ไฉนมีแต่กองทัพที่โดน?
เว็บ Pulony เริ่มขยับ หลังโดนถล่มยับ "ไอโอทหาร"
เว็บ Pulony ไม่ใช่ของทหารแล้วจะของใคร?
ไอโอรัฐพ่าย สาดโคลนทั้ง 2 ฝ่าย คนเสียหายคือประชาชน
กอ.รมน.แจง 2 รอบ ย้ำไม่ใช่เจ้าของเว็บ Pulony
ย้อนดู"ไอโอ"ชายแดนใต้ - สองฝ่ายระดมสร้างเกลียดชัง?
"ไอโอ"การเมืองถึงชายแดนใต้...เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ฉีกกฎสงครามข่าว