กรณีคนไทยตกค้างจากมาเลเซียเดินทางกลับบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีปัญหาลักลอบข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย จนทำให้จำนวนคนเข้าเมืองสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ส่งผลให้ศูนย์กักกันสังเกตุอาการระดับจังหวัดและอำเภอในพื้นที่ โดยเฉพาะนราธิวาส ใกล้ล้นเต็มที
ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย.63 ระบุตัวเลขคนไทยจากมาเลเซียที่เดินทางกลับภูมิลำเนาผ่านจุดผ่านแดน 5 แห่งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่รัฐบาลอนุญาต วันละ 350 คน คือ สตูล 2 แห่ง สงขลา 1 แห่ง ยะลา 1 แห่ง และนราธิวาส 1 แห่ง ปรากฏว่ายังมีปัญหาข้ามแดนผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบริเวณใกล้จุดแผ่นดินสุไหงโกลก จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 18-29 เม.ย.63 มีคนไทยข้ามแดนทั้งหมดผ่านจุดผ่านแดนทั้ง 5 ช่องทาง รวม 4,377 ราย แยกเป็นข้ามแดนแบบถูกกฎหมาย 3,123 ราย และข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย 1,245 ราย โดยทั้งหมดที่ข้ามแดนผิดกฎหมายเป็นพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส
สาเหตุที่มีการข้ามแดนผิดกฎหมายในบริเวณนี้มาก ก็เพราะมีแม่น้ำโกลกเป็นเส้นเขตแดน สามารถข้ามได้ทั้งเรือและเดินข้าม ขณะที่ฝั่งตรงข้ามคือรัฐกลันตัน มีชุมชนริมแม่น้ำเป็นระยะๆ ไม่เป็นป่าเขาเหมือนจุดผ่านแดนพื้นที่อื่น
กลุ่มที่ข้ามแดนผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อข้ามมาแล้ว จึงถูกกักตัวใน local quarantine ของ จ.นราธิวาส โดยหากมีภูมิลำเนาในนราธิวาส ก็จะกักจนครบ 14 วัน แต่หากมีภูมิลำเนาจังหวัดอื่น ก็จะกักที่นราธิวาสเพื่อรอส่งต่อ
มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงว่า ศูนย์กักกันเพื่อสังเกตอาการในนราธิวาส รองรับได้ราวๆ 1,200 คน กระจายอยู่ทุกอำเภอ ทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น สถานการณ์ขณะนี้เต็มเกือบหมดแล้ว รับได้อีกไม่เกิน 200 คน จึงต้องลุ้นให้ผู้ที่เข้ารับการกักตัวรุ่นแรกครบ 14 วันได้ทยอยออกไป เพื่อเปิดพื้นที่รับคนใหม่ (จะครบกำหนดชุดแรกวันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค.) แต่หากการลักลอบเข้าเมืองยังเยอะอยู่แบบนี้ ก็มีโอกาสที่ศูนย์กักกันล้น และบุคลากรที่ดูแลมีความเหนื่อยล้า
สำหรับการบริหารจัดการรับมือคนไทยที่กลับจากมาเลเซีย พบปัญหาหนักขึ้นเพราะทางการมาเลเซียยืดเวลาการปิดประเทศออกไปจากกำหนดเดิม ทำให้คนไทยในมาเลเซียทนอยู่ไม่ไหว เพราะขาดรายได้ ขณะที่ "ใบรับรองแพทย์" ซึ่งจะเป็นหลักฐานในการลงทะเบียนเดินทางเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย มีราคาแพง และหายาก จึงเกิดขบวนการปลอมใบรับรองแพทย์ และการลักลอบเข้าเมือง ส่งผลให้สถานที่กักกัน 14 วันที่เตรียมไว้ ใกล้จะไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังมีพวกที่เล็ดลอด ไม่ถูกจับกุม กลับไปยังชุมชน และเสี่ยงนำเชื้อไปแพร่ระบาด ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ประเมินจำนวนไม่ได้เลย
ที่น่ากังวลก็คือ มีรายงานการลักลอบข้ามแดนในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจาก อ.สุไหงโกลก เช่น จ.สงขลา และ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งมีการวางกำลังป้องกันชายแดนไว้ไม่หนาแน่นเท่าที่สุไหงโกลก (ใช้กำลัง 32 ชุด ตลอดแนวแม่น้ำ พร้อมติดไฟส่องสว่าง)
ส่วนกรณีการทำใบรับรองแพทย์ปลอมนั้น มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกคนไทยในมาเลเซีย ด้วยการอ้างตัวเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐในการเดินทางข้ามแดนกลับเข้าประเทศไทย โดยเก็บค่าใช้จ่ายคนละ 2,000 บาท เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมคือ ใบรับรองจากสถานทูตหรือสถานกงสุล ซึ่งต้องไปลงทะเบียนที่สถานทูต หรือลงทะเบียนออนไลน์ และใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่ามีสุขภาพพร้อมเดินทาง หรือ fit to travel แต่เมื่อคนไทยที่หลงเชื่อ จ่ายเงินให้ไป กลุ่มมิจฉาชีพก็จะเดินทางมาถึงด่านพรมแดนรันเตาปันยัง ตรงข้ามกับด่านสุไหงโกลก แล้วลอยแพทันที โดยคนไทยที่มาถึงจะไม่มีชื่อในระบบลงทะเบียน ขณะที่เอกสารที่นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ก็เป็นเอกสารปลอม ทำให้ไม่สามารถข้ามแดนมาตามปกติได้
เมื่ออับจนหนทางก็ต้องเลือกวิธีการข้ามแดนแบบผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ ทำให้มีจำนวนผู้ข้ามแดนแบบผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.สุไหงโกลก เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ศูนย์กักกันฯใกล้ล้น และยังเสี่ยงมีคนเล็ดลอดกลับไปยังชุมชน แล้วนำเชื้อไวรัสโควิด-19 ไประบาดด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
แรงงานต้มยำเจอมาตรการรัฐ มึนโดนสกัดเข้าประเทศ ต้องนอนริมถนน
3,000 ลูกจ้างร้านต้มยำตกค้างในมาเลย์ วอนรัฐช่วย-อยากกลับบ้าน
ปิดด่านยาว...แรงงานต้มยำนับแสนกระอัก มท.2 เร่งหาทางช่วย
มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ
จ่อเปิด 5 ด่านชายแดนใต้รับ 350 คนไทย/วัน เปิด 67 ศูนย์รอกักกัน
ทบทวนมาตรการเข้ม มท.-ชายแดนใต้ เปิดด่านรับคนไทยกลับบ้าน
เช็คพร้อมรอบสุดท้าย! ชายแดนใต้เปิดด่านรับคนไทยจากมาเลย์
ยอดกลับไทย 5 ด่านชายแดนใต้วันแรกต่ำกว่าเป้า - จับลักลอบเข้าเมืองได้อีก 3
หนีข้ามแดนมากกว่าผ่านด่าน! เรื่องวุ่นๆ ของแรงงานต้มยำกลับบ้านเกิด
หวั่นศูนย์กักกันล้น! สั่งห้ามผ่อนผันพวกออหน้าด่านกดดันข้ามแดน
จนท.เห็นใจแรงงานไทยลำบาก เข้าช่องทางธรรมชาติพร้อมดูแล แถมช่วยค่าปรับ
โควิดทำพิษกัก 144 ชีวิตต้องปิดด่านสะเดา คนไทยข้ามแดนย้ายไปปาดังเบซาร์