หลายคนคงคุ้นหู “โครงการโคบาลชายแดนใต้” กันมาบ้างแล้ว
โครงการนี้เป็นโครงการที่ผลักดันมาตั้งแต่ “รัฐบาลลุงตู่” ซึ่งมี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ศอ.บต.
และเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.
มีการ “คิกออฟ” โครงการมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท หวังให้สามจังหวัดชายแดนเป็นศูนย์กลางการเลี้ยงโค ส่งออกเนื้อวัวพันธุ์ดีสู่ตลาดฮาลาลโลก สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง จะได้หยุดยิง หยุดก่อเหตุรุนแรงกันเสียที
อ่านประกอบ : “บิ๊กป้อม”อนุมัติ 6 โครงการพัฒนา - ปชป.จี้ช่วย”ต้มยำกุ้ง” - ก้าวไกลชูเลิกใช้ กม.พิเศษ
อ่านประกอบ : 2 พรรครัฐบาลชิงผลงาน “โคบาลชายแดนใต้”
แต่หลังจากเริ่มต้นโครงการได้ไม่นาน อยู่ในช่วง “นำร่อง” เท่านั้น ปรากฏว่ามีเกษตรกรออกมาร้องเรียนว่า โคที่ได้รับจากโครงการ เป็น “โคผอม - อมโรค” ไม่ตรงปก เหมือนกับที่หน่วยราชการโฆษณา เกษตรกรถามแรงว่า แบบนี้เข้าข่าย “หลอกชาวบ้าน” หรือเปล่า
โครงการนี้ไม่ใช่โครงการขำๆ แต่เป็นโครงการจริงจัง อยู่ภายใต้โครงการใหญ่ชื่อ “โครงการเมืองปศุสัตว์” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้” งบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางปศุสัตว์ และส่งออกเนื้อฮาลาลของโลก
โครงการนี้อยู่ในช่วง “นำร่อง” มีกลุ่มเกษตรกรชายแดนใต้เริ่มได้รับโค ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.ปลายปีที่แล้ว โดยจะได้รับกลุ่มละ 50 ตัว แต่เมื่อได้รับโค ก็พบปัญหาทันที
1.แม่พันธุ์โค ไม่ตรงกับสัญญา เนื่องจากเป็นโคผอม น้ำหนักน้อย บางตัวติดโรค
2.คุณลักษณะเฉพาะของโค ไม่ตรงตามที่โครงการกำหนด
3.ไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ ไม่มีประวัติการรับวัคซีน
ผลที่ตามมาก็คือ
- เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ขายโคได้ราคาต่ำ
- หากโคตาย ก็จะยิ่งขาดทุน
- โคที่เหลือ มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร และยารักษาโรค
- เกษตรกรอีก 400 กลุ่มที่รอโคอยู่ เริ่มไม่มั่นใจในโครงการ
ที่สำคัญ โคเหล่านี้ ไม่ใช่ได้มาฟรี หรือรัฐแจก แต่เกษตรกรต้องกู้เงินจาก “กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร” มาซื้อโคไปเลี้ยง ขุนให้ได้น้ำหนัก และขายต่อในราคาที่ได้กำไร
โดยราคาโคที่ซื้อมา ตัวละ 17,000 บาท น้ำหนักต้องได้ 160 กิโลกรัมขึ้นไป แต่โคที่ได้มาจริง น้ำหนักแค่ไม่ถึง 150 กิโลกรัม หรือน้อยกว่านั้น
@@ ป.ป.ช.ขยับสอบ - ปศุสัตว์เจรจา “เปลี่ยนโค”
ปัญหาทั้งหมดของโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ทำให้เกษตรกรทนไม่ไหว โดยเฉพาะเกษตรกรใน จ.ปัตตานี จึงได้ร้องเรียนไปที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี
ไทม์ไลน์ของเรื่อง เป็นดังนี้...
เกษตรกรได้รับโคล็อตแรก ในโครงการนำร่อง กลุ่มละ 50 ตัว เมื่อต้นเดือน ธ.ค.2566 ปลายปีที่แล้ว
เมื่อเห็นสภาพโคก็ตกใจ เพราะเป็น “โคผอม - โรครุม” แต่ก็กัดฟันเลี้ยงเรื่อยมา พบปัญหาคือไม่มีหน่วยงานรัฐลงพื้นที่มาดูแล จะขายต่อก็ราคาตก ทนไม่ไหว จึงร้อง ป.ป.ช.
11 ม.ค.2567 นายธีรชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเก็บข้อมูล ซึ่งก็ได้ข้อมูลตามที่ชาวบ้านร้องเรียน คือ เสียเงินกู้ไป 17,000 บาท ได้โคมา 1 ตัว แต่โคผอม น้ำหนักไม่ถึง 150 กิโลกรัม ทั้งที่สเปคโค ต้องน้ำหนัก 160 กิโลกรัมขึ้นไป แถมบางตัวติดโรค ไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ ไม่มีประวัติการรับวัคซีน
17 ม.ค.2567 สำนักงาน ป.ป.ช.ปัตตานี ได้เชิญ นายศิริสินธุ์ เพียรแก้ว ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี เข้าให้ข้อมูล สรุปได้แบบนี้
- เกษตรกรในจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมโครงการจำนวน 16 กลุ่ม มีจำนวนสมาชิกรวมทั้งหมด 161 คน
- ปัจจุบันส่งมอบโคให้ครบทั้งหมด 16 กลุ่มแล้ว โดยมีการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อซื้อโคกลุ่มละ 50 ตัว ราคาตัวละ 17,000 บาท
- แนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่เกษตรกรร้องเรียน ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานีรับหน้าที่ไปประสานกับผู้ขาย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) วิชัย ฟาร์ม 2020 ให้เข้าไปสำรวจโคที่ส่งมอบแล้วทุกตัว และหากพบว่าโคมีน้ำหนักไม่ถึง 160 กิโลกรัม หรือมีอาการป่วย ไม่เป็นไปตามสเปคที่กำหนด ทาง หจก.วิชัย ฟาร์ม 2020 จะดำเนินการเปลี่ยนโคตัวใหม่ให้ทันที
@@ ศอ.บต.โบ้ยเลี้ยงผิดวิธี ต้นเหตุ “โคผอม-อมโรค”
จากการขยับของ ป.ป.ช.ปัตตานี ทำให้ปศุสัตว์จังหวัดเร่งประสานงานเพื่อแก้ปัญหา
ขณะเดียวกัน ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการนี้ ได้ออกมาให้ข่าวชี้แจงด้วยเช่นกัน
โดยนอกจากจะแจกแจงความคืบหน้าของโครงการช่วง “นำร่อง” ซึ่งมีการส่งมอบโค, ก่อสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงโค เป็น “คอกกลาง” ของกลุ่มเกษตรกร, ทำลานปล่อยโค, ทำแปลงหญ้า สำเร็จไปหลายพื้นที่แล้ว ยังมีการชี้แจงถึงปัญหาที่เกษตรกรร้องเรียนด้วย
โดย ศอ.บต.อ้างว่า จากลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่า
1.“คอกกลาง” ตามแบบในโครงการแคบ ไม่เหมาะสมกับการพักฟื้นของ “โคแม่พันธุ์พื้นเมือง”
2.เกษตรกรไม่ชอบการเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองในคอกกลาง เนื่องจากจัดการดูแลยาก จึงแยกกันนำไปเลี้ยงในสวนปาล์มของตนเอง
3.เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการทำแปลงหญ้าที่ชัดเจน อาหารเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้โคแม่พันธุ์พื้นเมืองทรุดโทรม อ่อนแอ และตายบางส่วน
4.พื้นที่จัด “คอกกลาง” บางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่สงวน ซึ่งไม่สอดรับกับหลักเกณฑ์คู่มือในโครงการ จึงทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้
จากปัญหาที่พบ ศอ.บต.จึงเสนอให้กรมปศุสัตว์ ปรับคู่มือการดำเนินงานตามโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” เสียใหม่ ให้สอดรับกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่
สรุปคำชี้แจงของ ศอ.บต. คือ ไม่ได้ตอบเรื่อง “โคผอม - อมโรค” ซึ่งเกษตรกรอ้างว่า ได้รับมอบโคมาแบบ “ไม่ตรงปก - ไม่ตรงสเปค” แต่ ศอ.บต.อ้างว่าที่ โคผอม โคป่วย โคตาย เพราะเกษตรกรเลี้ยงผิดหลัก ไม่ตรงตามคู่มือ นี่คือนัยจากคำอธิบายของ ศอ.บต.
@@ เกษตรกรโชว์ภาพถ่าย “โคผอม” ตั้งแต่วันส่งมอบ
จากคำชี้แจงของ ศอ.บต. ที่อ้างว่า โคผอม โคป่วย โคตาย เพราะเกษตรกรเลี้ยงผิดวิธี ทำให้เกษตรกรปัตตานีไม่พอใจ งัดภาพ “วันรับโค” มาโชว์กับ “ทีมข่าว” เพื่อยืนยันว่า ได้โคผอมมาตั้งแต่แรกแล้ว
@@ สวนรัฐ “เกษตรกรไม่ได้โง่”
“ทีมข่าว” ลงพื้นที่ไปที่ฟาร์มของ นายสุรเดช หะยีสมาแอ รองประธานสภาเกษตรจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเกษตรกรในโครงการโคบาลชายแดนใต้
นายสุรเดช เจอปัญหาโคผอม โคป่วย และได้ออกมาร้องเรียน กระทั่งปศุสัตว์จังหวัดมาเจรจา และประสานให้คืนโคได้ เพื่อนำโคไปเปลี่ยน
วันที่ทีมข่าวลงพื้นที่ (24 ม.ค.) เป็นวันนัดเปลี่ยนโค แต่ นายสุรเดช รอตั้งแต่เที่ยงจนเย็น รอเก้อ ก็ไม่มีรถมารับโค เจ้าตัวจึงตัดสินใจโทรถามเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ได้รับคำตอบว่า “วันนี้รถไม่ว่าง”
นายสุรเดช เล่าความเป็นมาของปัญหาว่า ตั้งแต่วันแรกที่โคส่งถึงฟาร์ม ดูด้วยตาก็รู้แล้วว่าน้ำหนักไม่ถึง ตัวเล็ก ผอม และยังไม่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ เพราะอายุไม่ถึงตามที่กำหนด
“ตอนแรกผมไม่ยอมเซ็นรับ แต่ปศุสัตว์ขอร้องให้ช่วยเซ็นจึงยอมเซ็น และขอให้สมาชิกร่วมเซ็นรับ ปรากฏว่ารับมาไม่ถึงเดือน ตอนนี้หมดทั้งหญ้าสดและหญ้าแห้งไปเป็นร้อยก้อนแล้ว หญ้ามีทั้งซื้อและปลูกเอง ทุกอย่างมีต้นทุน และยังมีอาหารเสริมอีกกระสอบละ 450 บาท หมดไปไม่รู้เท่าไหร่ โคยังผอมเหมือนเดิม พวกเราจึงต้องการส่งคืน 15 ตัว เพราะรับไม่ไหวจริงๆ น้ำหนักแค่ 95-120 กิโลกรัมเท่านั้น”
นายสุรเดช เล่าประวัติของตัวเองด้วยว่า เรียนจบปริญญาโท เคยเป็นข้าราชการตำรวจ การที่ ศอ.บต.มาบอกว่าเกษตรไม่มีความรู้ในการเลี้ยงโค ก็ถือว่าเกินไป เพราะตนมีประสบการณ์ และไม่ได้โง่ ตนดูพันธุ์ออก รู้ว่าติดเชื้อปากเปื่อยเท้าเปื่อย
“เรามีความรู้ ดูออกว่าวัวผ่านหรือไม่ผ่าน น้ำหนักถึงหรือไม่ถึง คนหลอกไม่ได้ ปิดหูปิดตาชาวบ้านชัดๆ ทำแบบนี้ทำเหมือนชาวปัตตานีเป็นคนโง่” รองประธานสภาเกษตรจังหวัดปัตตานี กล่าวอย่างเหลืออด
@@ ป.ป.ช.ปัดชี้มูลความผิด - ศอ.บต.โบ้ย ก.เกษตรฯ
“ทีมข่าว” ยังสอบถามไปยัง นายธีรชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องนี้ ได้รับคำชี้แจงว่า กรณีเรื่องร้องเรียนโครงการโคบาลชายแดนใต้ ทาง ป.ป.ช.ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการชี้มูลความผิดใดๆ ได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
ด้าน ผู้บริหาร ศอ.บต. รายหนึ่งกล่าวว่า โครงการนี้ร่วมกันทำหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ศอ.บต. และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ภายหลังทราบเรื่องร้องเรียนก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรับฟังปัญหาทั้งหมดแล้ว และได้ทำรายงานชี้แจงไปแล้ว
“ตอนนี้ต้องให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการแก้ไข เพราะกระทรวงเกษตรฯ นำคู่มือเข้า ครม. เป็นคู่มือเฉพาะของหน่วย โดยไม่ได้ใช้คู่มือฉบับแรกที่เสนอผ่าน กพต. ทราบว่ากระทรวงการเกษตรฯ ก็ยินดีแก้ไขปัญหาให้ทั้งหมดแล้ว” ผู้บริหาร ศอ.บต.รายนี้ กล่าว
-------------------------------
ขอบคุณกราฟฟิกบางส่วนจาก รายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี