เป็นเรื่องแปลกที่ในยุคนี้ ข่าวดีและโอกาสของประเทศไทย มักแฝงมาด้วย “ข่าวร้าย” จากความเสี่ยงในมิติความมั่นคง
เพราะต้องยอมรับว่า “งานความมั่นคง” เป็นจุดอ่อนอย่างเด่นชัดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
ดังเช่นการเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC ของไทย แม้จะเป็นโอกาส เพราะเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย
ทั้งยังเป็นกรอบความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของไทย เมื่อ 28 ปีที่แล้ว เพื่อเชื่อมสานนโยบาย Look East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ กับนโยบาย Look West ของไทย ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 1,700 ล้านคน
แต่การเป็นเจ้าภาพของไทยหนนี้ กลับกำลังถูกจับตามอง เนื่องจาก พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย ตัดสินใจเดินทางมาร่วมประชุมด้วย ในฐานะผู้นำเมียนมาซึ่งถูกบอยคอตไปทั่วโลก
ท่าทีของไทย โดยเฉพาะผู้นำไทยอย่างนายกฯแพทองธาร ที่แสดงต่อผู้นำทหารเมียนมา จึงอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้ไม่กี่วันมานี้ เมียนมาจะประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง แต่ก็ยังมีภาพกองทัพเมียนมายังคงส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิด จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เวทีนี้จึงกลายเป็นเดิมพันของไทยว่า จะปล่อยให้ พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย ได้ฟอกตัว หรือปิดตัวต่อสังคมโลกก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อรับรองสถานะของตนเองปลายปีนี้หรือไม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียด รอบด้าน และน่าสนใจยิ่ง!
@@ ปัญหาการเดินทางเยือนไทยของผู้นำทหารเมียนมาร์!
บทความนี้เป็นข้อสังเกตสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยของผู้นำทหาร พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย ที่จะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.นี้
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมีดังนี้
1.ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ คงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้นำเมียนมาจะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC เพราะจะทำให้ประเทศเข้ามาอยู่ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น
2.การเข้าร่วมประชุมในไทย จะทำให้ไทยตกเป็นเป้าของการถูกวิจารณ์ที่อนุญาตให้ผู้นำทหารเมียนมาเข้าประเทศ แต่ในฐานะประเทศเจ้าภาพก็อาจจะไม่ง่ายที่จะขอไม่ให้ผู้นำพม่าเข้าร่วม
3.การมาของ พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย จะนำไปสู่การประท้วงของกลุ่มต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลไทยจะกำหนดท่าทีต่อปัญหานี้อย่างไร และจะต้องไม่แสดงออกด้วยท่าทีที่ปกป้องผู้นำทหาร จนไทยกลายเป็นจำเลยไปด้วย
4.ถ้าไทยจะอนุญาตให้ผู้นำทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุม ไทยควรมีการต่อรองเพื่อให้ผู้นำเมียนมาควรจะต้องแสดงออกด้วยท่าทีเชิงบวกกับการแก้ปัญหาสงครามในพม่าด้วยเช่นกัน ไม่ใช่การโจมตีแม้ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาแผ่นดินไหว
5.ถ้า พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย มาแล้ว ไม่มีการแสดงออกในการแก้ปัญหาเชิงบวก รัฐบาลไทยจะถูกวิจารณ์ว่า พยายามที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา โดยอาศัยเวที BIMSTEC
6.ในเวทีเช่นนี้ ไทยควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะต้องยุติปฏิบัติการทหาร เพื่อทำให้การส่งความช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างปลอดภัย
7.ไทยโดยรัฐบาลในฐานะเจ้าภาพ หรือโดยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาของประธานอาเซียน ควรแสดงออกด้วยข้อเรียกร้องที่ชัดเจนที่ปฏิบัติการทหารจะต้องหยุด อย่างน้อยยุติเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการปูทางสำหรับการผลักดันเวทีสันติภาพเมียนมาที่จะเกิดในอนาคต และการส่งความช่วยเหลือ
8.ปัญหาแผ่นดินไหวที่กระทบอย่างมากกับสังคมเมียนมา ไทยควรแสดงออกในเชิงมนุษยธรรม และทั้งต้องอธิบายกับคนในสังคมไทยให้เข้าใจบทบาทของไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด แต่ก็ต้องอาศัยการให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ เป็นเครื่องมือในการจูงใจให้ผู้นำทหารเปิดพื้นที่การให้ความช่วยเหลือจากภายนอกมากขึ้น
9.รัฐบาลไทยควรส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่รัฐบาลทหารควรจะต้องยุติการโจมตีทางอากาศ ในการเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการเข้าประชุม มิเช่นนั้น BIMSTEC จะถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างภาพให้แก่ผู้นำรัฐบาลทหาร
10.หากเกิดการเจรจาที่ไม่เปิดเผยระหว่างที่ปรึกษาประธานอาเซียนกับ พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย แล้ว รัฐบาลควรต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของ Track 2 Diplomacy
11.แม้จะเป็นเรื่องของ Track 2 แต่อดีตนายกฯทักษิณ ควรหาทางชักจูง พลเอกอาวุโส มินอ่องลาย ให้มีท่าทีที่เป็นบวกในการแก้ปัญหาแผ่นดินไหว มากกว่าจะปล่อยให้เกิดภาพของการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่ประสบปัญหาก่อนการเยือนกรุงเทพฯ และภาพข่าวการโจมตีทางอากาศดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเวทีสากล
12.ไทยควรแสดงออกให้ชัดเจนในการสนับสนุนท่าทีของฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแสดงว่าไทยให้ความสำคัญกับอาเซียน และเวที BIMSTEC จะเป็นส่วนหนึ่งของโอกาสในการแก้ปัญหาสงครามในเมียนมา ไม่ใช่เวทีให้ผู้นำทหารมาฟอกตัวที่กรุงเทพฯ
13.รัฐบาลไทยต้องตระหนักว่า ไทยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา การแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์จะเป็นบทบาทที่สำคัญของไทยในเวทีภูมิภาค
14.สถานการณ์ในเมียนมามีความพลิกผันอย่างมาก การผลักดันให้เกิดการหยุดยิงชั่วคราว และการเปิดเวทีสันติภาพเมียนมาในอนาคต เป็นบทบาทที่ผู้นำไทยควรให้ความใส่ใจ เพื่อผ่อนคลายวิกฤติในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างบทบาทเชิงบวกของประเทศ
15.ไทยในฐานะของการเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด รวมถึงการมีช่องทางต่างๆ ทั้งทางเปิดและทางปิดในการสื่อสารกับผู้นำทหารเมียนมา ไทยควรเร่งผลักดันให้เกิดเวทีสันติภาพ โดยอาศัยการแก้ไขปัญหาวิกฤติแผ่นดินไหวเป็นประเด็นนำร่องเฉพาะหน้าที่สำคัญ
16.ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสงครามกลางเมือง และวิกฤติแผ่นดินไหว อาจทำให้เกิดความพลิกผันในการเมืองเมียนมาได้ ไทยจึงควรต้องพิจารณาถึงความพลิกผันด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างประเทศและความมั่นคงให้ชัดเจน เพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ปล: มีข่าวล่าสุดว่า รัฐบาลทหารเมียนมาร์ประกาศยอมรับการหยุดยิงชั่วคราว ระหว่างวันที่ 2-22 เม.ย.68 นี้ ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่า จะไม่ใช้การหยุดยิงในแบบของรัสเซียกับสงครามยูเครน