“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดศูนย์เรียนรู้ “เลี้ยงโค” ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล พร้อมประชุม กพต.อนุมัติ 3 โครงการยกระดับพัฒนาเมืองยะลา หนุนงบโครงการอาหารกลางวันตาดีกา เพิ่มค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ลุยติดตามปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนเขตป่าที่ปิเหล็ง นราธิวาส ด้านประชาธิปัตย์ที่คุมกระทรวงเกษตรฯ ส่ง “นิพนธ์” เร่งโครงการ “โคบาลชายแดนใต้”
วันศุกร์ที่ 17 มี.ค.66 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการการพัฒนาจังหวัดขายแดนภาคใต้ หรือ กพต. เดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติโครงการพัฒนา รวมถึงโครงการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่เคยคั่งค้างอยู่หลายเรื่อง หลายโครงการ
ที่ จ.ยะลา - เปิดศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงโค ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หมู่บ้านกำปงบารู ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ภายหลัง กพต.มีมติเห็นชอบการดำเนินกิจกรรม “โคบาลชายแดนใต้” ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ 7 ปี (พ.ศ.2565– 2571)
- ร่วมประชุม กพต.ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมพบปะผู้นำศาสนา ผู้แทนองค์กรชุมชนในพื้นที่ มอบอินทผลัม 1,000 ลัง ผ้าละหมาด 1,400 ชุด
- กพต.เห็นชอบ 3 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสวนสาธารณะขวัญเมืองให้มีหอชมเมืองและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ “Yala City Tower” พ.ศ. 2566-2568, โครงการยกระดับจังหวัดยะลาให้เป็นเมืองแห่งกีฬาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Sport Complex) และโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน (ศึกษาแนวเส้นทางใหม่และขุดเจาะอุโมงค์บ้านกระป๋อง) ระยะทางรวม ประมาณ 1.400 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 410 ตอนบ่อหิน-เบตง
ที่ จ.ปัตตานี - พบปะผู้นำศาสนาและเครือข่ายโรงเรียนตาดีกา ที่โรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ ต.ยะรัง อ.ยะรัง หลังจาก กพต.มีมติอนุมัติโครงการสนับสนุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และเสนอเพิ่มค่าตอบแทนให้กับครูสอนศาสนาจาก 2,000 บาท เป็น 2,500 บาท
ที่ จ.นราธิวาส เดินทางไปยังนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนนิคมสหกรณ์ในท้องที่ อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดี และ อ.เจาะไอร้อง เนื้อที่ 31,413 ไร่ ซึ่งทับซ้อนกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าพรุ จำนวน 27,467 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา และทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำบางนรา แปลงที่ 1 จำนวน 15,388ไร่ ประชาชนมีความเดือดร้อน จำนวน 1,344 ครัวเรือน
ปัญหานี้ยืดเยื้อมานาน 33 ปี กพต. มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประสานทุกกระทรวงและหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินงาน โดยขณะนี้ได้เกิดผลสำเร็จในระดับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของส่วนกลางที่จะดำเนินการให้มีโฉนดแก่ประชาชนในพื้นที่
@@ ปราศรัยที่โก-ลก มวลชน 4 หมื่น ลั่นเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกอำเภอ
ที่สวนสาธารณะมิ่งขวัญประชา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ เปิดเวทีปราศรัย และเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.ประวิตร ขึ้นปราศรัยนอกเวลาราชการ มีมวลชนจากสามจังหวัดมารอรับฟังและร่วมกิจกรรมกว่า 40,000 คน
กิจกรรมบนเวทีมีทั้ง นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค, นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร 12 คน
พล.อ.ประวิตร ไปถึงเวทีเวลา 17.30 น. ทางพรรคเตรียมรถกอล์ฟไฟฟ้ามารอรับเพื่อนั่งรถเข้าไปยังเวทีปราศรัย ซึ่งมีมวลชนจำนวนมากยืนเรียงแถวรอรับตลอดเส้นทาง หลายคนถือกุหลาบสีแดงมอบให้ มีเสียงเชียร์ให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯคนที่ 30 บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยไม่เข้มงวดเท่าช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เมื่อ 2 วันก่อน
พล.อ.ประวิตร ขึ้นปราศรัยตอนหนึ่งว่า พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯให้ครบทุกอำเภอ ภายในปี 2570 และจะเดินหน้าพัฒนาเต็มรูปแบบให้พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้กินดีอยู่ดี เข้าใจกัน มีงานมีเงินมีรายได้ มีความหวัง มีโอกาส ไม่ยากจน บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมผลักดันระเบียงเศรษฐกิจอาหารฮาลาลส่งออกทั่วโลก ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานอาหารสัตว์ และผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่ขนานกับ 3 รัฐของมาเลเซีย
@@ ปชป. ชิงเปิดประชุมเดินหน้า ”โคบาลชายแดนใต้”
วันเดียวกัน ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการการสร้างการรับรู้ “โคบาลชายแดนใต้” โดยมีรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์เขต 9 ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี เกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรในปัตตานีเข้าร่วมประชุม
นายนิพนธ์ กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวคิด หลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินโครงการให้แก่เกษตรกรได้รับทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการโคบาลชายแดนใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“โครงการนี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อลังกาสุกะ ได้ร้องขอไปยังกระทรวงเกษตรฯให้ช่วยเหลือเรื่องเงินทุนเพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนา ซึ่งรมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้ผมมาร่วมประชุมหาแนวทางช่วยเหลือ และได้มีการอนุมัติเงินทุนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่เกษตรกร 14 กลุ่ม วงเงิน 54 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการโอนเงินงวดแรกให้เกษตรกรแล้ว 20 ล้านบาท”
“ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมปศุสัตว์ยืม เพื่อใช้ดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ วงเงิน 1,566.20 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0 มีระยะเวลาโครงการ พ.ศ.2565–2572 เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ”
นายนิพนธ์ ย้ำว่า การดำเนินโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร” ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย และจะต่อยอดไปยังการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ การเลี้ยงไก่เนื้อต่อไป
@@ “นัจมุดดีน” ลงพื้นที่นราฯ เจาะฐานเสียงรากหญ้า
อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.นราธิวาส คือ พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส. 4 สมัย และแม่ทัพชายแดนใต้ของภูมิใจไทย ดูแลพื้นที่นราธิวาส
วันศุกร์ที่ 17 มี.ค. นายนัจมุดีน เดินสายพบปะชาวบ้านยาเดะห์ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส รวมทั้งพบปะแกนนำที่บ้านน้ำหอม และบ้านกาเต๊าะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส มีการพูดคุยประชาสัมพันธ์นโยบายต่างๆ ของพรรค เช่น ติดตั้งเครื่องกรองน้ำทุกหมู่บ้าน ลดรายจ่ายของครัวเรือน เพราะมีน้ำสะอาดดื่มฟรี
ถือเป็นการเจาะฐานเสียงรากหญ้าแบบ “น้ำซึมบ่อทราย” ของภูมิใจไทย นอกจากการเปิดปราศรัยใหญ่ และขายนโยบาย “พูดแล้วทำ”