“บิ๊กป้อม” ลุยปัตตานี หนุน 6 โครงการ กพต. ฟื้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชายแดนใต้ ด้าน “นิพนธ์” เสนอช่วยแรงงานต้มยำกุ้งมาเลย์ทำงานถูกกฎหมาย ขณะที่พรรคก้าวไกลบุกยะลาเปิดเวทีคุยนโยบายสันติภาพก้าวหน้า ชูปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนพื้นที่ความกลัวเป็นพื้นที่ความหวัง ยุบ กอ.รมน. ต่ออายุกฎหมายพิเศษต้องผ่านสภา ชู 3 หลักการ “สร้างประชาธิปไตย ลดกำลังทหาร กระจายอำนาจ”
วันจันทร์ที่ 19 ธ.ค.65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พร้อมด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางลง จ.ปัตตานี เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานตามมติ กพต. ครั้งที่ 5/2565 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยติดตามความคืบหน้าการพัฒนาและผลักดันพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การเป็น “เมืองปูทะเลโลก” พร้อมเปิดโรงเพาะเลี้ยงปู ที่โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ปูทะเลครบวงจร และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร
จากนั้นได้ประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการนำร่อง “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน”
พร้อมติดตามความก้าวหน้ากิจกรรม “โคบาลชายแดนใต้” ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2565 - 2571, ความก้าวหน้าการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่กรณี อ.จะนะ จ.สงขลา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ความก้าวหน้าการจัดทำแผนงานโครงการสำคัญการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ จ.นราธิวาส และปัตตานี ภายใต้การมีส่วนร่วมของจังหวัดและทุกภาคส่วน
ในที่ประชุมยังได้มีการพิจารณา 6 โครงการ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอขอความเห็นชอบอนุมัติหลักการ ประกอบด้วย
1.โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนในระดับหมู่บ้านและชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีกำนัน–ผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนหลักสำคัญ 2566–2570
2.กิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงแพะแบบครบวงจร ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2566–2570
3.โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2566–2570
4.โครงการจัดตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา 2566–2568
5. (ร่าง) แผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2567–2570
6.โครงการจัดหายานพาหนะและขนส่งสนับสนุนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2566
จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้พบปะกลุ่มตัวแทนครัวเรือนยากจน ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ตัวแทนคณะกรรมการหมู่บ้าน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และพบปะกับนายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาเอกชนในระบบทั้ง 5 จังหวัด, นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัด, ประธานชมรมตาดีกา 5 จังหวัด, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มเป้าหมายอาหารกลางวันเด็กตาดีกา พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการสาธิตการทำอาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่นจาก “เชฟชุมพล” เชฟชื่อดังของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงการขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร ภายใต้แนวคิด “มหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาลสู่ตลาดโลก”
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในนามของประธาน กพต. มีอำนาจหน้าที่ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกมิติ ซึ่งในที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลายโครงการ ได้แก่ กลุ่มโครงการที่ดำเนินการบนพื้นฐานการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
@@ “อันวาร์” รอรับ “บิ๊กป้อม” ตามคาด
สำหรับ กพต. คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ กฎหมาย ศอ.บต. รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ควบคู่กับคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
โดยยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา มี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ พร้อมเสนอแผนงานการพัฒนาจากในพื้นที่ขึ้นมาถึง กพต. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ
ตลอดกิจกรรมการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร ปรากฏว่า นายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.ปัตตานี ซึ่งเพิ่งลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และสมัครเข้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ได้ไปรอพบและต้อนรับ พล.อ.ประวิตร ด้วย
@@ “นิพนธ์” ชงแนวทางช่วยแรงงานต้มยำกุ้งมาเลย์
ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมประชุมในวงรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนแผนงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ที่หอประชุมภายใน ม.อ.ปัตตานี
โอกาสนี้ นายนิพนธ์ได้นำเสนอเรื่องการเพิ่มจำนวนแรงงานไทย (ต้มยำกุ้ง) ที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฏหมายให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน และขอให้อำนวยความสะดวกเรื่องงานทางทะเบียน การแจ้งเกิด-แจ้งตาย (ใบมรณบัตร) รวมถึงการจัดสอนภาษาไทยให้ลูกของแรงงานไทยที่เกิดในมาเลเซีย เพื่อให้อ่าน เขียนภาษาไทยได้ เพราะมีแรงงานไทยในมาเลย์กว่า 100,000 คน
นอกจากนี้ได้นำเสนอเรื่องเร่งผลิตพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ตามโครงการโคบาลชายแดนใต้ เพราะถือเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญ
@@ ก้าวไกลล่องใต้ตามนัด เปิดเวทีถก “สันติภาพก้าวหน้า”
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค.65 พรรคก้าวไกลจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนนโยบาย “สันติภาพก้าวหน้า” ที่ จ.ยะลา โดยมีแกนนำพรรคลงพื้นที่อย่างพร้อมเพรียง นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย นายอันวาร์ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 1, นายณรงค์ อาแว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 3 และนายรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานนโยบายชายแดนใต้-ปาตานี
นายพิธา กล่าวว่า สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นดินแดนที่ตนตกหลุมรักตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้สัมผัส ทั้งในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความมีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่น่าเศร้าที่นับตั้งแต่ 4 ม.ค.47 คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่กับความกลัวมาโดยตลอด ทั้งกลัวจะถูกจับ กลัวจะถูกซ้อมทรมาน-อุ้มหาย กลัวความรุนแรง พรรคก้าวไกลเห็นทั้งปัญหาและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในพื้นที่ จึงขอชวนทุกคนร่วมกันจินตนาการถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ด้วยความหวังว่า ถ้าสันติภาพกลับสู่พื้นที่ หน้าตาของสามจังหวัดชายแดนใต้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และนี่คือสิ่งที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้
“สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพหลายด้าน ทั้งการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (eco-tourism) ของเอเชีย ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชายแดนใต้มีศิลปะที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเองที่ส่งออกได้ทั่วโลก รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมแพะขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็กกว่าอุตสาหกรรมไก่ 10 เท่า แต่เติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมไก่ถึง 10 เท่า มีความต้องการอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ชาวมุสลิมที่กระจายอยู่ทั่วทุกทวีป”
@@ ชูปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนพื้นที่ความกลัวเป็นพื้นที่ความหวัง
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ก่อน คือการมีการเมืองที่ก้าวหน้า คือการปฏิรูปกองทัพออกจากการเมือง มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขียนด้วยประชาชนเอง ให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกนายกจังหวัดของตัวเอง ใช้ภาษีที่เก็บจากท้องถิ่นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนในท้องถิ่นได้เองโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง เมื่อนั้นสันติภาพที่ก้าวหน้าจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และศักยภาพของจังหวัดชายแดนใต้จะได้รับการระเบิดออกมา
“อย่าอยู่กับความกลัว เราต้องอยู่ด้วยความฝันและความหวัง ถ้าทุกคนอยากเห็นสิ่งนี้ ขอให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นครั้งที่สำคัญที่สุด ช่วยกันเลือกผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ให้มีมือในสภาพอที่จะผ่าน พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ การกระจายอำนาจ สวัสดิการที่ก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่จะปลดปล่อยศักยภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปลี่ยนจากพื้นที่แห่งความกลัวเป็นพื้นที่แห่งความหวังของพวกเราทุกคน” นายพิธา ระบุ
อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
@@ เลิกกฎอัยการศึก - ยุบ กอ.รมน. - ต่อกฎหมายฉุกเฉินต้องผ่านสภา
ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 ภาครัฐใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 7,000 คน อีกจำนวนมากบาดเจ็บและสูญหาย เป็นข้อพิสูจน์ว่าวิธีการที่ผ่านมาซึ่งถูกกำกับโดยวิธีคิดแบบทหารนั้นล้มเหลว
“ดังนั้นข้อเสนอเพื่อสร้างสันติสุขก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล จะยืนบน 3 หลักการ เรียกว่า ‘3D’ ประกอบด้วย Democratization การสร้างประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นจากคนทุกคนเท่ากัน อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน Demilitarization เอาทหารออกจากการเมือง การแก้ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ต้องนำโดยพลเรือน เลิกใช้กฎหมายที่เป็นวิธีคิดแบบทหาร เปลี่ยนเป็นมองความมั่นคงของประชาชนเท่ากับความมั่นคงของชาติ และ Decentralization คือกระจายอำนาจ ยกเลิกโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ เอาอำนาจและงบประมาณมาอยู่ที่ท้องถิ่น มีอำนาจตัดสินใจออกแบบสังคมที่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม”
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า จะนำหลัก 3D มารวมกับนโยบายสันติภาพก้าวหน้า อาทิ
1.ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับปรุงกฎอัยการศึกทั้งเนื้อหาและขอบเขตการใช้งานให้เป็นไปโดยจำกัดเฉพาะยามศึกสงคราม และไม่ให้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะใช้มา 19 ปีพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวและไม่ฉุกเฉินจริง เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ (เปลี่ยนจากพระราชกำหนด เป็นพระราชบัญญัติ) ที่จะใช้เมื่อถึงคราวฉุกเฉินจริงๆ ประกาศครั้งหนึ่งไม่เกิน 30 วัน ประกาศแล้วต้องขอให้สภาอนุมัติภายใน 7 วัน เมื่อจะต่ออายุต้องขอสภา รวมถึงไม่ให้อำนาจรัฐบาลในการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบุกจับควบคุมตัวประชาชนตามใจชอบ แต่ต้องเปลี่ยนไปใช้กระบวนการปกติ คือ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และต้องควบคุมในสถานีตำรวจ
3.เอา กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ออกจากกระบวนการจัดการสันติภาพในพื้นที่ และ ยกเลิก กอ.รมน.
4.สร้างกระบวนการสันติภาพที่ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร มีกระบวนการที่โปร่งใส สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่าย มีการจัดการกองกำลังติดอาวุธ เช่น กองอาสารักษาดินแดน (อส.) ทหารพราน เพื่อลดความขัดแย้ง พร้อมกับรักษาความปลอดภัยของประชาชน
“หลักการสำคัญของนโยบายสันติภาพก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล คือเอาประชาชนเป็นเป้าหมาย เอาทหารออกไป เราหวังว่าพรรคก้าวไกลจะมีโอกาสได้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นจริง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนใต้ออกจาก 19 ปีแห่งความมืดมน ความล้มเหลว และความรุนแรง เปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งความหวัง ฟื้นฟูศักยภาพ สร้างอนาคตใหม่ของทุกคน” นายชัยธวัชกล่าว