ใกล้สิ้นปี ใกล้วาระ 20 ปีปล้นปืน 20 ปีไฟใต้ (4 ม.ค.2567) มีการใช้กลไกสภา หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ในการตรวจสอบ “คดีตากใบ” ที่กำลังจะขาดอายุความในปีหน้านี้
โดยเมื่อวันพุธที่ 13 ธ.ค.66 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร ซึ่งมี นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เป็นประธาน ได้พิจารณากรณีการดำเนินคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส
เนื่องด้วยประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักงานประจำจังหวัดยะลา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันคดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าและกำลังจะขาดอายุความ
ในการประชุม กมธ. มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), สำนักงานอัยการภาค 9, ตำรวจภูธรภาค 9, สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เข้าชี้แจงประเด็นการเยียวยา การชดใช้ การช่วยเหลือบุคคลและครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และกรณีทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย
@@ ตะลึง! สำนวนคดีหาย ขอเวลาตามหา
แต่ในประเด็นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกระทำหรือรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว มีการชี้แจงว่า ไม่พบสำนวนการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่อเหตุ เป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการทางคดีได้
ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้ขอเวลาในการติดตามสำนวนการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง และจะแจ้งผลการดำเนินการหรือผลความคืบหน้าต่อคณะ กมธ. ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันประชุม
ทั้งทาง กมธ. มีมติให้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้เร่งรัดดำเนินการติดตามผลหรือความคืบหน้าของคดี และหากมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อาจเข้าข่ายความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมกรณีตากใบเป็นกรณีที่มีความร้ายแรง แม้รัฐจะดำเนินการเยียวยาบุคคลผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว แต่ก็ไม่อาจเป็นเหตุให้คดีซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินระงับไปได้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อตอบคำถามของสังคมก่อนที่คดีจะขาดอายุความ
@@ สส.ก้าวไกลตกใจ รับไม่ได้สำนวนคดีหาย
ในประเด็นเดียวกันนี้ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์กับ The reporter ยอมรับว่า รู้สึกตกใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่คำชี้แจงสรุปแล้วคือสำนวนคดีอาญาที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและการทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คน ไม่รู้อยู่ที่ไหน
โดยหลังจากผ่านกระบวนการชันสูตรไต่สวนการตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้เสียชีวิตเสียชีวิตจากการขาดการหายใจ ไม่ได้ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตโดยการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท่านไหนเป็นการเฉพาะ เป็นข้อจำกัดตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งเอกสารคำสั่งของศาล ที่จะส่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินคดีสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดนั้น “ไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน”
“มันขนาดนี้เลยเหรอ ขนาดที่ว่าเอกสารสำนวนมันหาไม่เจอ มันเป็นไปได้ไง ถ้าผมเป็นญาติผมจะบอกว่า เฮ้ยพี่ชายเราตายทั้งคน แล้วคนอีกตั้ง 70 กว่าคน แล้วตากใบไม่ใช่กรณีปัจเจกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นความทรงจำหมู่ของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคนมลายูแล้ว”
“แล้วคุณบอกว่าเอกสารย้ายโรงพัก ไปโรงพักใหม่แล้วหาไม่เจอ มันอยู่ในสำนวน ไปคีย์ดูในสารบัญของศาลก็ไม่รู้ว่าส่งไปที่ไหน อะไรยังไง อัยการก็ยังมึน ผมว่ามันเกินไป อย่างน้อยที่สุดสำนวนนี้อยู่ตรงไหนอย่างไร เป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ควรตอบง่ายที่สุด กลับหาไม่เจอ แสดงว่ามันซุกและซ่อนอยู่ขนาดนั้นเลยหรือ เรื่องนี้ไม่สามารถวางอยู่บนมาตรการปกติได้เลยหรือ ผมรู้สึกผิดหวัง“
“วันนี้ทำให้เห็นว่า 19 ปีผ่านไป งานอำนวยความยุติธรรมที่สำคัญที่สุดของกระบวนการยุติธรรมไทย บกพร่องอย่างน่าประหลาดใจมาก”
@@ จี้นายกฯ - รมว.ยุติธรรม คืนความเป็นธรรมเหยื่อตากใบ
นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่มีการร้องเรียนคือ การดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนทำให้เกิดผู้เสียชีวิต ดำเนินการถึงไหนแล้ว ขณะเกิดการนับถอยหลังที่คดีอาญานี้จะหมดอายุความในอีกประมาณ 10 เดือนข้างหน้า แต่ข้อเท็จจริงน่าเศร้า เพราะรู้สึกว่าไม่มีความคืบหน้า
ในที่ประชุม กมธ.จึงขอให้ทางอัยการและตำรวจไปตามหาว่า ตกลงสำนวนคดีอยู่ที่ไหน มีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งรับปากว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับอัยการ และจะมีการแจ้งความคืบหน้ามายัง กมธ.ภายในหนึ่งเดือน คือวันที่ 13 ม.ค.67
“ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาลและกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองมากพอ ถ้าไม่ทำอะไรภายในเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึงปีก่อนคดีหมดอายุความ ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงมีปมมืดปมนี้อยู่เสมอ ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาและจะทำให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อยรู้สึกกังขาต่อจุดยืนและท่าทีของรัฐบาล คนจะไม่เชื่อมั่นไว้วางใจในอำนาจรัฐ”
“ขอยืนยันว่าการเยียวยาที่ผ่านมา ไม่สามารถถมความรู้สึกเหล่านี้ได้ เราต้องการความจริงจัง ฟื้นความยุติธรรม และเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเอาจริง สามารถทำได้ รื้อฟื้นและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ”
@@ 10 เดือนก่อนหมดอายุความ ผู้เสียหายยังรอคำตอบ
ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการ และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า
“สำนวนคดีตากใบหาย !!! 10 เดือนก่อนคดีหมดอายุความ 20 ปี ในปีหน้า ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม การประชุมกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน วันนี้ทำความประหลาดใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมและผู้มาชี้แจง เรื่องกรณีคดีตากใบอย่างยิ่ง
แม้ว่าการเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะดำเนินการแล้วได้เป็นอย่างดีจากภาครัฐ ต้องขอบคุณรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา โดยผ่านทาง ศอ.บต. ทั้งเรื่องการเยียวยาด้วยตัวเงินและทางจิตใจ ประชาชนได้รับการตอบสนองอย่างดี แต่คดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน ที่ประชาชนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจขณะเคลื่อนย้ายคนจำนวนกว่าหนึ่งพันคนจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 80 คน
ที่น่าตกใจคือคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ได้รับความสนใจไม่เพียงแต่ภายในประเทศ เวทีระหว่างประเทศก็ให้ความสนใจอย่างสูง และอายุคดีความจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ต.ค.2567 เรื่องผ่านมาแล้ว 19 ปีกว่า และเหลือเวลาอีกแค่ 10 เดือน แต่ข้อมูลสำนวนในคดีนี้ในระบบฐานข้อมูลทางกระบวนการยุติธรรมกลับยังไม่สามารถหาได้ ตำรวจในพื้นที่ไปค้นหาข้อมูลสำนวนที่ศาล จ.สงขลา แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ อัยการท่านก็ไม่มีข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานอัยการในพื้นที่ คงเป็นไปไม่ได้ที่ข้อมูลสำนวนคดีสำคัญนี้จะหายไปจากสารระบบของกระบวนการยุติธรรมของไทย
ครอบครัวผู้เสียหายยังรอคำตอบจากภาครัฐถึงความเป็นธรรมอย่างใจจดใจจ่อมาเกือบ 20 ปีแล้ว กมธ.ได้ขอให้ทางอัยการและทางตำรวจช่วยหาคำตอบมาภายใน 1 เดือน ว่าการเดินทางของสำนวนนี้ติดขัดอยู่ที่ใด เพราะจริงๆ แล้วควรมาจากศาลถึงอัยการ ถึงตำรวจพื้นที่ เพื่อเร่งทำการสอบสวนตามสำนวนเพิ่มเติม แต่การเดินทางของสำนวนนี้เกินทางมาแล้ว 19 ปี 2 เดือน เหลืออีก 10 เดือนข้างหน้าที่คดีจะหมดอายุความ
10 เดือนนี้จะต้องมีการติดตามอย่างใจจดใจจ่อและไม่ลดละ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับความเป็นธรรม”
@@ รัฐไม่ใส่ใจ ไม่จริงใจกับครอบครัวผู้รับผลกระทบ
ด้าน นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายมุสลิมประจำจังหวัดยะลา และ อดีต สส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการประชุม กมธ.วาระเดียวกันว่า ทางผู้เข้าชี้แจง โดยเฉพาะเจ้าพนักงานตำรวจและอัยการ ไม่สามารถตอบข้อซักถามได้ว่า ปัจจุบันสำนวนคดีที่กล่าวหาผู้ที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 85 คน มีสถานะทางคดีอย่างไร โดยอ้างเหตุว่าขณะเกิดเหตุไม่ได้รับราชการในพื้นที่ เพิ่งย้ายไปรับตำแหน่ง และจากการติดตามเอกสารสำนวนดังกล่าวก็ไม่พบ
“ปัญหาที่พบในการเข้าชี้แจงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือ สำนวนที่เจ้าหน้าที่ได้ทำให้บุคคลทั้ง 85 คนตายนั้น ไม่พบสำนวนคดีทั้งที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส กรณีเสียชีวิต 7 คน (6 คนที่หน้าสถานีตำรวจ อีก 1 คนที่โรงพยาบาล) ไม่พบสำนวนคดีทั้งที่ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี กรณีที่พบการเสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 78 คน ส่วนอัยการที่รับผิดชอบก็ไม่พบสำนวนไต่สวนชันสูตรศพ ซึ่งผู้ชี้แจงไม่สามารถตอบได้ว่า อัยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนแล้วหรือยัง หรือพนักงานสอบสวนได้รับสำนวนการไต่สวนชันสูตรแล้วนำไปไว้ที่ใด หรือดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ แจ้งเพียงว่า ไปขอคัดถ่ายคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพที่ศาลจังหวัดสงขลาแล้วก็ไม่พบสำนวน”
ทนายมุสลิมประจำจังหวัดยะลา กล่าวอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในการจะอำนวยความยุติธรรม คืนความเป็นธรรมแก่ผู้ตาย แก่ครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทั้งที่คนทั่วไปทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสนใจมาโดยตลอด
“สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป รัฐจะกล่าวหาว่า คนสามจังหวัดไม่จริงใจ ไม่ตั้งใจจริง เพื่อให้เกิดความสงบไม่ได้ แต่รัฐเองกลับแสดงพฤติกรรมไม่จริงใจ ไม่ตั้งใจจริงที่จะให้เกิดสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้ ความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย สองมาตรฐานมีให้เห็นชัดเจนทั้งในส่วนกลางและในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ทนายอาดิลัน กล่าว
@@ ม็อบตากใบ...จากต้นสาย สู่การตายที่ปลายเหตุการณ์
สำหรับโศกนาฏกรรมตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายช่วงเวลา ต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งวัน
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เคยสรุปย่อเหตุการณ์เอาไว้ กล่าวคือ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอด มีผู้คนนับพันคนไปรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คนที่ถูกควบคุมตัวและสอบสวนมากว่าสัปดาห์ ด้วยข้อสงสัยว่ารู้เห็นเรื่องอาวุธปืนของทางราชการที่ถูกผู้ก่อความไม่สงบชิงไปหรือไม่
ช่วงนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบเดินสายข่มขู่ ชิงปืน และบางกรณีก็ปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ ตามยุทธศาสตร์ “ปืนของรัฐ คือปืนของเรา” เสมือนหนึ่งสะสมไว้เตรียมต่อสู้กับรัฐในสงครามระยะยาว
แต่รัฐบาลในขณะนั้นสงสัยว่า บางกรณีเหมือนเป็นการสมยอม รู้เห็นกัน ไม่ได้ปล้นชิง หรือข่มขู่กันจริงๆ จึงมีการออกมาตรการโดยกระทรวงมหาดไทย คาดโทษเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ชรบ. ที่ถูกชิงปืน ใครสูญเสียปืนไป จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดี
ทว่าบางกรณี คนในพื้นที่เหมือนจะรู้ว่า ชรบ.ก็โดนข่มขู่ชิงปืนไปจริง จึงรู้สึกเห็นใจคนที่โดนดำเนินคดี ต้องถูกจับ ถูกขัง ต้องประกันตัว ทำให้เกิดกระแสว่าไม่เป็นธรรม และนำมาสู่การปลุกม็อบขึ้นมา แม้ภายหลังจะบานปลายกลายเป็นประเด็นอื่นก็ตาม
ม็อบที่ตากใบก็เริ่มจากประเด็นนี้ แต่เป็นการชุมนุมยืดเยื้อ และคนจากทุกสารทิศหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย จากหลักร้อยเป็นหลักพัน เป็นหลายพัน กระทั่งบ่ายคล้อยเริ่มเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น คือ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี (ปัจจุบันยศพลเอก เป็นทหารเกษียณ) จึงมีคำสั่งสลายการชุมนุม โดยเริ่มจากการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตา และยิงตอบโต้ มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 คน เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย
เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ ก็ได้สั่งให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อ แล้วใช้เสื้อมัดมือไพล่หลัง และนำผู้ชุมนุม 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกในลักษณะนอนซ้อนทับกันไป เพื่อเดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ระยะทางไกลถึงเกือบ 200 กิโลเมตร ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว และผู้ถูกจับทั้งหมดถือศีลอด ไม่ได้รับประทานอาหารช่วงตะวันขึ้นถึงตะวันตกดิน
เมื่อรถไปถึงจุดหมายพบว่า มีผู้เสียชีวิตขณะเดินทาง 77 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน จากนั้นผลการชันสูตรศพระบุสาเหตุการตาย “ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน” นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในคราวเดียว อันดับ 2 รองจากเหตุการณ์กรือเซะ ตลอดห้วงเวลา 19 ปีของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ส่วนการดำเนินการหลังเกิดเหตุการณ์ ในมิติของการเยียวยา อ่านรายละเอียดได้ใน “17 ปีตากใบ...เหตุการณ์เดียวเยียวยา 641 ล้าน กระทบ 987 ชีวิต!”