เหตุการณ์ตากใบเหตุการณ์เดียว มีผู้เสียชีวิต 85 ราย มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไฟใต้ รองจากเหตุการณ์กรือเซะ
และเมื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ (ทั้งเหตุการณ์สลายการชุมนุม และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้ขาดอากาศหายใจ) รัฐย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเยียวยา
แม้เงินเยียวยาจะไม่อาจทดแทนคุณค่าของทุกชีวิตที่ดับสูญไปได้ แต่ยอดเงินจากการเยียวยาที่รัฐต้องสูญเสียไป ซึ่งเป็นภาษีจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ก็น่าจะทำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐได้ตระหนักว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประมาทเลินเล่อ หรือไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้วนตามมาด้วยผลกระทบที่หาบทจบไม่เจอ
เฉพาะเหตุการณ์ตากใบ ผู้เสียชีวิต 85 คน ได้รับเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 561,101,000 บาท (ยอดหักลดลงสำหรับรายที่ได้รับเยียวยาจากแหล่งอื่นไปก่อนแล้ว)
กรณีทุพพลภาพ เยียวยารายละ 7.5 ล้านบาทเช่นกัน มีจำนวน 1 คน ได้รับจริง 6,380,000 บาท โดยหักยอดเงินเยียวยาแหล่งอื่นที่ได้รับไปแล้วเช่นเดียวกับกรณีเสียชีวิต
กรณีบาดเจ็บ ผู้พิการ เยียวยารายละ 4.5 ล้านบาท จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 33,140,000 บาท
ผู้บาดเจ็บสาหัส เยียวยารายละ 1,125,000 บาท จำนวน 11 ราย เป็นเงิน 11,705,000 บาท
ผู้บาดเจ็บปานกลาง เยียวยารายละ 675,000 บาท มี 22 ราย รวมเป็นเงิน 13,970,000 บาท
ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย เยียวยารายละ 225,00 บาท จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 1,640,000 บาท
รวมกลุ่มบาดเจ็บทั้งหมด 49 ราย เป็นเงิน 60,455,000 บาท
นอกจากนั้นยังมีกรณีผู้ถูกดำเนินคดี เยียวยารายละ 30,000 บาท จำนวน 85 ราย รวมเป็นเงิน 2,025,200 บาท
กรณีผู้ถูกควบคุมตัว แต่ไม่ถูกดำเนินคดี เยียวยารายละ 15,000 บาท จำนวน 794 ราย รวมเป็นเงิน 11,532,000 บาท
รวมทุกกรณี 987 ราย เงินเยียวยาทั้งสิ้น 641,493,200 บาท
การจ่ายเงินเยียวยา เกิดขึ้นในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำรงตำแหน่ง พ.ย.2554 ถึง 24 พ.ค.2557 มีนโยบายสำคัญ คือ “ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร” โดยใช้ “ความเป็นยุติธรรมตามความเป็นจริง” ไม่ใช่ความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว
พ.ต.อ.ทวี ได้นำเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการเสียชีวิต บาดเจ็บ และความสูญเสียที่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปแล้ว แต่ประชาชนยังเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือรู้สึกไม่เป็นธรรม มาใช้กระบวนการที่เรียกว่า “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เปิดช่องทางให้บุคลที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบจากทุกเหตุการณ์ ร่วมกันพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยา โดยใช้ พระราชบัญญัติการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553
หลักการคือ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่ตัดสิทธิประโยชน์ที่ผู้นั้นได้รับตามกฎหมายอื่น
นอกจากนั้น ยังมีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2555 กรณีประชาชนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพเพิ่มเติม จากเดิมประชาชนได้รับการเยียวยา 100,000 บาท ส่วนข้าราชการได้รับเยียวยา รายละ 500,000 บาท ได้ปรับให้เยียวยาเท่ากันหมดทั้งประชาชนและข้าราชการรายละ 500,000 บาท กรณีประชาชนให้ย้อนหลังไปถึงเดือน ม.ค.2547 ถึงวันที่ระเบียบออก (พ.ศ.2555) โดยกำหนดให้ทยอยจ่ายเพิ่มเติม ปีละ 100,000 บาท