สภาเห็นชอบตั้ง “35 กมธ.วิสามัญสร้างสันติภาพชายแดนใต้” แบ่งสัดส่วน ครม. 8 คน พรรคการเมือง 27 คน “ช่อ-อัญชนา-รุ่งระวี-อ.ศรีสมภพ” โผล่พรึ่บโควต้าก้าวไกล-เพื่อไทย ขณะที่ภูมิใจไทยส่ง “หมอเพชรดาว - นัจมุดดีน - ซาการียา” ร่วมวง ระยะเวลาพิจารณา 90 วัน ภารกิจเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปลายด้ามขวาน
วันพุธที่ 11 ต.ค.66 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตติร่วม เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ที่พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ (เสนอคนละญัตติ และสารัตถะใกล้เคียงกัน จึงพิจารณาร่วมกัน)
หลังจากสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างขวางเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง นายรอมฏอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายสรุป โดยระบุว่า ถือว่าตื่นเต้น การอภิปรายของสมาชิกจากหลากหลายพรรคการเมืองเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะปัญหาชายเดนภาคใต้ห่างหายจากการอภิปรายในสภามาพักใหญ่ แต่วันนี้ต่างฝ่ายสนับสนุนและเห็นความจำเป็น ทำให้มีความหวังอีกครั้ง แต่ต้องวิจารณ์ตามตรงว่าทิศทางการแก้ปัญหาหรือสร้างสันติภาพของรัฐบาลใหม่ยังคงพร่าเลือน ต้องฝากความหวังของรัฐสภาในการค้ำจุนเพื่อเพิ่มบทบาท และต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้น
สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นายรอมฏอน ให้นิยามว่า ขอบเขตของสันติภาพจากการอภิปราย ครอบคลุมถึงด้านเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจ ประสบการณ์จากต่างประเทศ การเยียวยาและคืนความยุติธรรม การรักษาความทรงจำที่เจ็บปวดของผู้คน การแก้ไขกฎหมายและบัญญัติกฎหมายใหม่ ปูพื้นฐานข้อตกลงให้เป็นรูปธรรม
หลังจากอภิปรายสรุป ประธานในที่ประชุมแจ้งว่า เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ประธานฯจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 88 ของข้อบังคับการประชุมสภาฯ ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 35 คน กำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน
โดยมีสัดส่วนกรรมาธิการจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 8 คน และสัดส่วนกรรมาธิการของแต่ละพรรคการเมือง จำนวน 27 คน ตามรายชื่อดังนี้
สัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 คน
นายวัลลภ นาคบัว
นายนันทพงษ์ สุวรรณรัตน์
นายนันพง ศรียานงค์
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
นายซูการ์โน มะทา
นายซาการิยา สะอิ
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
นายอะห์หมัด บอสตา
สัดส่วนของพรรคก้าวไกล 8 คน
นายรอมฎอน ปันจอร์
นางสาวธิษะณา ชุนหะวัน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม
นายกัณวีร์ สืบแสง
นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
นางสาวพรรณิการ์ วานิช
นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ
นายมะยุ เจ๊ะนะ
สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 8 คน
นายสุธรรม แสงประทุม
นายอาลีฟี มินเซน
นายอรรถชาญ เชาวน์วานิชย์
นายอาหมัดบูรฮัน ติพอง
นางสาวรุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัตน์
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
นางสาวกฤตทัศชญา ดิษฐเนตร
นายมูหามัดเปาซี อาลีฮา
สัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย 4 คน
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ
นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา
นายนัจมุดดีน อูมา
นายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา
สัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ 2 คน
นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ
นายคอซีย์ มามุ
สัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน
นายวัชระ ยาวอหะซัน
นายสมโภช โชติชูช่วง
สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่
สัดส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน
นายกูเฮง ยาวอหะซัน
และสัดส่วนของพรรคประชาชาติ 1 คน
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ