พลันที่ “ครม.เศรษฐา 1” ตั้งรัฐมนตรีแบบ “ผิดฝาผิดตัว” ไม่ได้ใช้หลักการ “put the right man on the right job” ทำให้ความเชื่อมั่นลดต่ำ
ยิ่งเมื่อ ครม.เข้ารับหน้าที่ แถลงนโยบายเรียบร้อย และมีการแบ่งงานให้รองนายกฯรับผิดชอบ ความเชื่อมั่นยิ่งดิ่งลงไปอีก
โดยเฉพาะในเนื้องานด้านความมั่นคงที่ไม่มี “รองนายกฯ” กำกับดูแลอย่างชัดเจน เป็นเอกภาพ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในมิติความมั่นคงอย่างมาก ทั้งในและนอกประเทศ
ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาชายแดนใต้ก็สุดลักลั่น พรรคการเมืองที่คนพื้นที่เชื่อมั่น และได้ สส.มากที่สุด กลับไม่ได้รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ทั้งๆ ที่เป็นพรรคแกนหลักร่วมรัฐบาลตั้งแต่ต้น แต่นายกฯเศรษฐากลับไปตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาปลายด้ามขวานเลย มากำกับดูแล
หนำซ้ำยังแยกส่วน “องค์กรที่รับผิดชอบ” ขึ้นบังคับบัญชาแบบแยกสาย มองไม่เห็นเอกภาพและบูรณาการ
ในขณะที่ภาคส่วนต่างๆ ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งสร้างสันติภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นเสียที เพราะประชาชนต้องตกอยู่ภายใต้ภยันตรายของสถานการณ์ความไม่สงบมานานเกือบ 20 ปีเต็ม เศรษฐกิจพัง สังคมแทบล่มสลาย
@@ จี้รัฐบาลเพื่อไทยรื้อคดี “ตากใบ-กรือเซะ”
เมื่อเร็วๆ นี้มีเวทีสัมนาหัวข้อ “โอกาสยุติ (ทำ) สันติภาพ 20 ปีชายแดนใต้” ภายใต้ธีมหลัก “2 ทศวรรษกับความยุติธรรมชายแดนใต้” ที่หอประชุมชูเกียรติ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ภายในงานมีการพูดถึงโศกนาฏกรรมตากใบ สะพานกอตอ เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ การบังคับบุคคลให้สูญหาย การแจ้งความนักศึกษาที่จัดกิจกรรม ฯลฯ พร้อมข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาชายแดนใต้ยังถูกจับตา ได้รับความสนใจ และยังห่างไกลสันติสุขมากเหลือเกิน
อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรื้อฟื้นคดีตากใบ กรือเซะ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลไทยรักไทยในอดีต (ปี 2547) ให้อัยการนำคดีขึ้นสู่ศาล ก่อนจะขาดอายุความในปีหน้า เพื่อไม่ให้คนผิดลอยนวล และต้องรับผิดชอบ พร้อมคืนศักดิ์ศรีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุม และขอโทษต่อสาธารณะจากผู้นำ
อับดุลเราะมัน มอลอ หรือ “อ.เบ็น” คณะทำงานเลขาธิการพรรคประชาชาติ เสนอผลวิจัยจากผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 100 คน สรุปทางออกของปัญหาชายแดนใต้ 8 แนวทาง คือ
1.บางชุมชนไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ให้ย้อนไปอยู่เหมือนก่อนปี 2547 นั่นคือสันติภาพ สันติสุขของคนกลุ่มนี้
2.ควรจะมีการกระจายอำนาจให้มากขึ้น
3.ยกระดับ ศอ.บต.ให้เป็นกระทรวงชายแดนใต้ ให้มีรัฐมนตรีเฉพาะดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.ให้มีการเลือกตั้งเลขาธิการ ศอ.บต.
5.เลือกตั้งผู้ว่าฯ รายจังหวัดโดยเริ่มจากจังหวัดที่พร้อมก่อน
6.จัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือเขตบริหารขนาดใหญ่
7.จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐ เพื่อความเท่าเทียมกันของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับคนภาคเหนือ คนอีสาน
8.ต้องเป็นเอกราชจากประเทศไทย
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าสำนักงานกฎหมายอดิล อดีต สส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ตอกย้ำข้อเรียกร้องยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้รัฐบาลเยียวยา ไถ่บาป ไถ่โทษ ให้กับเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ เพราะเป็นรัฐบาลเดียวกันกับช่วงที่เกิดเหตุ
@@ แนะออกกฎหมายสันติภาพชายแดนใต้ รองรับโต๊ะพูดคุย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอว่า น่าจะมีกฎหมายสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การพูดคุยและข้อตกลงต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีกฎหมายรองรับ
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา อดีต สส.พรรคภูมิใจไทย ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ.สันติภาพฯ ส่วนการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขอให้สอบถามความเห็นของประชาชนจริงๆ ก่อนตัดสินใจ
ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่แสดงท่าทีให้ชัดเจนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้ หรือยังเกรงใจทหารเหมือนเดิม ที่สำคัญการมีกฎหมายพิเศษ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุข
ในการเสวนาหัวข้อ “โอกาสเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอจากเวทีว่า
- เรื่องการพูดคุยสันติภาพยังถือว่าเปราะบาง เสี่ยงล้มเหลว
- การพูดคุยวางเป้าหมาย “สันติภาพเชิงลบ”
- มีคนจำนวนมากเห็นว่า “คนพื้นที่” ไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับกระบวนการสันติภาพ
@@ ไม่น้อยใจวืดคุมไฟใต้ “ทวี”ลุยใช้หมวก ยธ.ขับเคลื่อน
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากผู้นำรัฐบาลเป็นพิเศษ ให้รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเรียกร้อง
เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ “ตอบ 3 คำถาม” กับสื่อ “คมชัดลึก ออนไลน์” ในเรื่องนี้ว่า ไม่รู้สึกน้อยใจที่ไม่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ เพราะเป็นหลักการอยู่แล้วที่นายกฯต้องมอบงานให้รองนายกฯดูแล
สำหรับตนเอง จะขับเคลื่อนงานภาคใต้ในมิติของความยุติธรรม จะทำให้ภาคใต้มี “หลักนิติธรรม” ซึ่งการฟื้นหลักนิติธรรมเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย
“หลักนิติธรรมอันหนึ่งก็คือ การทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ตามอำเภอใจ เรื่องปัญหาภาคใต้ เรื่องความเป็นธรรม ถ้าเรามีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะมีหลักนิติธรรมคอยกำกับ ส่วนปัญหาภาคใต้มีอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ และกระทรวงยุติธรรมดูแลเรื่องนี้ทั้งกระทรวง เราเป็นหลักในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และจะใช้ความยุติธรรมนำการเมืองการทหาร”
“เราเชื่อมั่นในแนวนโยบายนี้ และตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมสามารถทำได้อยู่แล้ว” พ.ต.อ.ทวี ย้ำทิ้งท้าย