รองแม่ทัพ 4 ยอมรับยังไม่มีแจ้งข้อหาใครเพิ่ม คดีประชามติแยกดินแดน รอเรียกสอบสวน สอบพยานให้ครบก่อน หากโยงถึงใครดำเนินคดีหมดไม่มีข้อยกเว้น ด้านกลุ่มด้วยใจพร้อมเครือข่ายเรียกร้อง กอ.รมน.ภาค 4 ยุติดำเนินคดีนักศึกษา – นักกิจกรรม มองเป็นการฟ้องปิดปาก
ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน สภ. เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ซึ่งภายในงานมีการจัดทำประชามติจำลอง สอบถามให้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง หรือ Self Determination (ประชามติแยกดินแดน) สามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องล็อตแรกไปแล้ว 5 คน และมีการให้ข่าวเพิ่มเติมว่าจะมีการแจ้งดำเนินคดีล็อต 2 นั้น
ล่าสุด พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงความคืบหน้าคดีนี้ว่า ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลอื่นเพิ่ม เนื่องจากต้องรอดูผลการสอบสวนและพยานหลักฐานที่สอบเพิ่มก่อน โดยกรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นกระแสในสังคมอย่างต่อเนื่อง อยากให้ติดตามอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมายนั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ภายหลังจากที่ กอ. รมน ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการประชุมคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินการ ซึ่งในการพิจารณาคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พี่น้องประชาชนจะมองแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมก่อนหน้านี้ รวมทั้งความเชื่อมโยง
@@ จ่อเรียกผู้ถูกกล่าวหาเข้าให้ปากคำ
รองแม่ทัพภาค 4 กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเชิญพยานมาให้ปากคำ อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะเชิญผู้ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษมาให้ปากคำตามห้วงระยะเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีการตรวจสอบเชื่อมโยงไปถึงบุคคล หรือคณะบุคคลใด เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้
ทั้งนี้อยากจะให้สังคมติดตามความคืบหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะนำเรียนให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นระยะๆต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยสอบถาม 1 ใน 5 รายที่ถูก กอ.รมน.แจ้งความดำเนินคดีล็อตแรก ปรากฏว่ายังไม่ได้รับหมายจับหรือการติดต่อจากพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด
@@ วิจารณ์แซ่ด “คดีแยกดินแดน” รอขยับใหญ่ใกล้โหวตนายกฯ
เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ค.66 มีการพูดถึงคดี “ประชามติแยกดินแดน” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปหลายวัน เนื่องจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา ซึ่งถูกสั่งยุบสมาคม และปัจจุบันตั้งองค์กรใหม่ชื่อ “องค์กรรักชาติ รักประชาชน” แสดงท่าทีคัดค้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานรัฐสภา โดยอ้างว่าลูกพรรคถูกโยงว่าเกี่ยวข้องกับการสัมนาประชามติแยกดินแดน
ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้ที่ฝ่ายความมั่นคง “ฮึ่มๆ” จะดำเนินคดี “ล็อต2” ปัจจุบันคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
จากการตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน และส่งทีมกฎหมายไปแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง “ล็อตแรก” ไปแล้ว 5 ราย ได้ความว่า การแจ้งข้อหา “ล็อต 2” ยังไม่มีการดำเนินการ เพราะยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุด ช่วงที่ผ่านมา มีเฉพาะการเชิญ “พยาน” หลายปากมาสอบปากคำ
เป็นที่น่าสังเกตว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งข้อหาผู้เกี่ยวข้องล็อตแรก 5 ราย ไปตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. และประกาศว่า จะมีแจ้งความดำเนินคดี “ล็อต 2” แต่ผ่านมากว่า 10 วันแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ส่วนคดีที่ “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา แจ้งความเอาไว้ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ด้วยข้อหาฉกรรจ์ ทั้งกบฏ ตระเตรียมก่อกบฏ ยุยงปลุกปั่น และทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114 116 และ 119 นั้น ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพิ่มเติม
เช่นเดียวกับคดีการเมืองที่ “พี่ศรี” ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ไต่สวนการกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองของพรรคที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา “ประชามติแยกดินแดน” ซึ่งไปยื่นหลักฐานถึง 2 ครั้ง แต่ กกต.ก็ยังนิ่งอยู่
งานนี้จึงไม่ชัดเจนว่า คดีไปต่อไม่ได้ หรือว่าฝ่ายความมั่นคง และผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังรอจังหวะอะไรหรือไม่
แต่จากการตรวจสอบกับฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่า หลักฐานมีครบหมด ทั้งการสัมมนา และการพูด การแสดงออก ก่อนเลือกตั้ง โดยเชื่อมโยงกับ ส.ส.และแกนนำพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 พรรค
จากคำชี้แจงของฝ่ายความมั่นคง ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์เชิงตั้งคำถามมากขึ้นว่า การที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจน น่าจะเป็นการ “รอจังหวะทางการเมือง” มากกว่าเหตุผลอื่นหรือไม่ และคาดว่าจะมีการขยับแรงช่วงใกล้วันโหวตนายกรัฐมนตรี
@@ กลุ่มด้วยใจจี้ยุติดำเนินคดี 5 นักศึกษา - นักกิจกรรม
วันพุธที่ 5 ก.ค.66 กลุ่มด้วยใจ และภาคีเครือข่ายประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF), สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ( CAP), เครือข่าย ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี (HAP) ได้ลงนามร่วมในแถลงการณ์เรื่องขอให้ยุติการดำเนินคดีต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมจากกรณีทำกิจกรรมประชามติจำลอง โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า
“จากกรณีกิจกรรมเสวนา “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยขบวนนักศึกษาแห่งชาติ [ Pelajar Bangsa ] เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 โดยได้มีการจัดทำบัตรลงประชามติจำลอง “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติเเยกตัวเป็นเอกราชถูกต้องตามกฎหมาย”
ต่อมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีเมื่อวันที่ 23มิ.ย.66 เพื่อให้ดำเนินคดีกับนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวนรวม 5 คน
โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญในมาตรา 34 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น รักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และป้องกันสุขภาพของประชาชน”
นอกจากนี้การจำลองประชามติก็เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อตกลงจากการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยที่นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติและตัวแทนจากขบวนการปลดปล่อยปาตานี ที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรี ที่ในการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 ม.ค.65 โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับรองกรอบการพูดคุยต่อไปจะยึดถือสารัตถะ 3 ประเด็นหลัก คือ (1) การลดความรุนแรง (2) การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ (3) การแสวงหาทาง ออกทางการเมือง
การดำเนินคดีนักศึกษา นักกิจกรรมและนักการเมืองรวม 5 คน ดังกล่าวจึงเป็นการใช้กฎหมายที่เรียกว่า SLAPP LAW “SLAPP” ที่ย่อมาจากคำเต็มว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า “การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก” จากข้อกล่าวหากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการแจ้งความนั้นมีถึง 4 มาตรา และนั่นก็อาจทำให้พวกเขามีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคุมขังยาวนานถึง 34 ปี เพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองโดยสันติวิธี
กลุ่มด้วยใจและภาคีเครือข่ายจึงขอเรียกร้องต่อ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะประสานงาน คณะพูดคุยสันติสุขในระดับพื้นที่ (The Area-based Inter-agency Coordination Working Group) ยุติการใช้กฎหมายคุกคามนักศึกษา นักกิจกรรม และนักการเมืองที่ร่วมจัดและเข้าร่วมกิจกรรมการจำลองประชามติเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66”