สุไหงโก-ลกจัดฉลองสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ ปิด “ถนนน้ำบูดู” เต้นสาดน้ำกันมันหยด เบตงปิดถนนจัดงานประเพณีสงกรานต์ นักท่องเที่ยวมาเลย์-สิงคโปร์หลั่งไหล ขณะที่พี่น้องมุสลิมแห่จับจ่ายซื้อเสื้อผ้าคึกคัก เตรียมใส่ฉลองฮารีรายอ ด้านผู้กำกับ ตม.นราธิวาส เลี้ยงอาหารละศีลอดเด็กกำพร้าและผู้นำศาสนา
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่พลาดงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ โดยที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วันพฤหัสบดีที่ 13 เม.ย.66 ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ได้จัดพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์จำนวน 33 รูป เนื่องในวันเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 ที่ บริเวณถนนหน้าโรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก โดยมีประชาชน และข้าราชการ หอบลูกจูงหลานมาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
จากนั้นได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขึ้นรถแห่ไปรอบเมือง โดยใช้ถนนในเขตเทศบาล เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมงาน ได้สรงน้ำพระ ซึ่งเป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า อานิสงส์ที่ได้จากการสรงน้ำพระ จะช่วยชำระล้างผู้ที่คิดร้ายด้วยความอคติออกไป แถมยังช่วยชำระความรุ่มร้อน นำพาแต่ความสงบร่มเย็น โดยถือฤกษ์วันปีใหม่ไทย
ทางเทศบาลยังได้จัดขบวนแห่จากชุมชนไทยพุทธ 11 ชุมชน จำนวนนับพันคน ร่วมรำกลองยาวไปตามถนน โดยทั้ง 11 ชุมชนที่เข้าร่วมยังได้สวมเสื้อผ้าลายดอกไม้ ซึ่งนิยมสวมใส่กันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่ข้ามแดนเข้ามาเที่ยง รวมทั้งพี่น้องประชาชน และพ่อค้าแม่ค้าที่เปิดร้านขายของกันอย่างคึกคัก หลายคนบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก
ส่วนที่บริเวณ “ถนนน้ำบูดู” หรือซอยมารีน่า ถนนเจริญเขต ซอย 3 ซึ่งทางเทศบาลจัดสถานที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวเพื่อเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันนั้น ปรากฏว่าผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้าที่ตั้งอยู่บนถนนน้ำบูดู ได้นำเครื่องขยายเสียงมาเปิดเพลงขับกล่อม เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเล่นสาดน้ำกันตลอดวัน คาดว่ามีเงินหมุนเวียนนับล้านบาท
@@ เบตงสุดคึก นักท่องเที่ยวแห่สาดน้ำมากกว่าทุกปี
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพุธที่ 12 เม.ย. ในตัวเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ประชาชนได้เริ่มเล่นน้ำสงกรานต์กันแล้ว โดยมีชาวเบตง นักท่องเที่ยวชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ นำปืนฉีดน้ำมาฉีดเล่น กันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว นับเป็นปีแรกที่ได้เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างเสรี หลังจากต้องงดไปเพราะสถานการณ์โควิด-19
เจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองเบตง ได้นำถังน้ำไปวางตามจุดต่างๆ ทั้ง 4 มุมเมือง พร้อมให้รถดับเพลิงคอยเติมน้ำและฉีดน้ำคลายร้อนให้กับนักท่องเที่ยวที่ออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ ขณะเดียวกันมีจัดเวทีแสดงดนตรี และเปิดเพลงฮิตจากเหล่าดีเจ เสิร์ฟความสนุก ตอกย้ำความบันเทิงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ
โอกาสนี้ทางเทศบาลได้ปิดถนนหลายสายในเขตเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนสองฝั่งถนนอย่างเรียบร้อย
@@ เปิดกฎเหล็กนั่งท้ายปิคอัพสาดน้ำ เล่นแป้ง
พ.ต.อ.สัญญา ทองสวัสดิ์ ผู้กำกับการ สภ.เบตง กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ทุกๆปี ภาพที่ชินตาอย่างหนึ่ง คือ การนั่งท้ายรถกระบะเล่นแป้งและสาดน้ำกัน ซึ่งยังเป็นความสับสนว่าแท้จริงแล้วตามกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเสี่ยงอันตราย อาจเกิดอุบัติเหตุได้
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกประกาศเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจน เป็นประกาศว่าด้วย “การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ.2566” ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา
ใจความสรุปได้ว่า ประชาชนสามารถนั่งท้ายกระบะ หรือ แค็บกระบะได้ ในช่วงวันสงกรานต์ แต่มีเงื่อนไขที่ต้องปฎิบัติตาม คือ
- กำหนดให้คนขับ และผู้โดยสารที่นั่งหน้าข้างคนขับต้องรัดเข็มขัดนิรภัยเสมอ
- นั่งในแค็บได้ไม่เกิน 3 คน
- กำหนดจำนวนนั่งท้ายรถกระบะไม่เกิน 6 คน โดยต้องนั่งในกระบะ และปิดฝาท้ายกระบะ
- ห้ามยืนโดยสารท้ายกระบะ
- ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ผู้มีส่วนสูงไม่ถึง 135 เซ็นติเมตร นั่งท้ายกระบะ
- ห้ามนั่งซ้อน และห้ามนั่งขอบกระบะ
- ขณะขับขี่โดยมีผู้โดยสารตอนท้าย ต้องขับชิดขอบทางด้ายซ้าย ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.
@@ พี่น้องมุสลิมแห่ซื้อเสื้อผ้า เตรียมฉลองฮารีรายอ
ด้านบรรยากาศของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอด) ก็เริ่มมีการออกมาจับจ่ายหาซื้อเสื้อผ้า เพื่อเตรียมไว้สวมใส่เฉลิมฉลองในเทศกาลฮารีรายอ (สิ้นสุดเดือนรอมฎอน) กันอย่างคึกคัก
โดยที่บริเวณถนนเลี่ยงเมืองเลียบริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา พื้นที่ชุมชนตลาดเก่ายะลา บ้านจารู มีผู้ประกอบการในพื้นที่นำสินค้ามาจำหน่ายในราคาถูกหลากหลายชนิด เพื่อต้อนรับปีฮิจเราะห์ศักราช 1444 ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ระหว่าง วันที่ 11 – 20 เม.ย. ปรากฏว่ามีพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนมากออกมาจับจ่ายเลือกหาซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับเพื่อสวมใส่เฉลิมฉลองในเทศกาลฮารีรายอ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ และอปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) กระจายกำลังภายในบริเวณสถานที่จัดงานและรอบนอก
ภายในงานมีทั้งสินค้าของมุสลีมะห์ หรือสุภาพสตรี และเสื้อผ้ามุสลิมีน หรือสุภาพบุรุษ เสื้อผ้ามุสลิมที่เรียกว่า "อบายะห์" ผ้าคลุมสตรี ผ้าพันคอ รองเท้าชุดปากี เสื้อโต๊ป หมวกกะปิเยาะห์ ผ้าโสร่งชาย ฯลฯ พร้อมใช้สวมใส่ไปละหมาดในวันฮารีรายออีฎิลฟิตรี
นายอดุลย์ สูแอเสาะ เจ้าของแผงขายเสื้อผ้า ล็อค 42 กล่าวว่า สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีเสื้อผ้า หมวกกะปิเยาะห์ หมวกถักแฮนด์เมด ถักด้วยมือ และอีกหลากหลายชนิด สินค้านำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย วันแรกขายดิบขายดี มีลูกค้าออกมาซื้อไม่ขาดสาย เริ่มขายตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนถึงเวลาเที่ยงคืน ส่วนเรื่องการดูแลความปลอดภัย ปีนี้มีความสะดวกมาก เนื่องจากมีความเป็นระเบียบ ส่วนแผงค้าก็เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว
@@ ผู้กำกับ ตม.นราฯ เลี้ยงละศีลอดเด็กกำพร้า
วันอังคารที่ 11 เม.ย. ที่บริเวณใต้ถุนอาคารสำนักงานตำรวจตำรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.นราธิวาส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พ.ต.อ.พูลศักดิ์ แก้วสีขาว ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส (ผกก.ตม.จว.นราธิวาส) ได้จัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารละศีลอดแก่เยาวชนที่เป็นเด็กกำพร้าและเด็กยากจนผู้ด้อยโอกาส จากโรงเรียนดารุสอิสละห์ จำนวน 30 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก และผู้นำศาสนา ในช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ซึ่งถือว่าเป็นเดือนแห่งการแบ่งปัน
พ.ต.อ.พูลศักดิ์ ได้ถือโอกาสพูดคุยสอบถามเรื่องความเป็นอยู่และพร้อมให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจนผู้ด้อยโอกาส โดยได้ร่วมกับผู้นำศาสนา มอบเงินซะกาตจำนวนหนึ่งเป็นขวัญถุง ซึ่งเป็นเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและไทยพุทธได้ร่วมกันบริจาคให้เด็กกำพร้าและเด็กยากจนผู้ด้อยโอกาสนำไปใช้จ่ายในช่วงเทศกาลฮารีรายอ