จากกรณีมีการนำเสนอข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการสร้างมัสยิดภายในกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ไม่ชอบด้วยกฏหมายนั้น
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ที่มาของข่าวนี้ มาจากสื่อของรัฐเอง และเป็นสื่อของกองทัพด้วย คือ กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 หรือ ททบ.5 เมื่อวันที่ 23 มี.ค.66 ที่ผ่านมา
เนื้อหาข่าวเป็นการทำพิธีเปิดมัสยิดสมันตรัฐบุรินทร์ ตั้งอยู่ภายในกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ อ.เมือง จ.สตูล โดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน และมี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน รวมทั้ง นายอรุณ อุมาจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี
ในข่าวดังกล่าวระบุด้วยว่า “การก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้ เกิดจากกำลังพลของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 55 นับถือศาสนาอิสลาม ทางหน่วยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญ และความสะดวกของกำลังพลที่ปกติต้องไปละหมาดที่มัสยิดนอกพื้นที่ จึงได้มีการก่อสร้างมัสยิดขึ้นในพื้นที่ของหน่วย ขณะเดียวกันยังให้พี่น้องมุสลิมที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงสามารถเข้ามาประกอบศาสนกิจในมัสยิดดังกล่าวได้อีกด้วย”
จากข่าวที่ออกมาทำให้สื่อสังคมออนไลน์นำเรื่องการสร้างมัสยิดในค่ายทหารไปเสนอเชิงตั้งคำถามว่า การสร้างมัสยิดในสถานที่ราชการเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า และสื่อโซเซียลฯบางแขนงก็นำเสนอไปในลักษณะทางที่ส่อไปในทางทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา
ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 1 เม.ย.66 พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และโฆษกกองทัพภาคที่ 4 ได้ออกมาชี้แจงข่าวที่ออกมาว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วนแล้ว ซึ่งพบว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เป็นเพียงสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กำลังพลและครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นมัสยิด และไม่มีคณะกรรมการประจำมัสยิด จึงไม่ใช่เป็นการสร้างมัสยิดตามที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด
“ขอยืนยันว่า กองทัพบกได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้กำลังพลและครอบครัว ภายในค่ายทหารได้มีสถานที่สำหรับใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และประกอบศาสนกิจตามความศรัทธาของแต่ละศาสนา ซึ่งมีทั้งศาสนสถานสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ รวมทั้งสถานที่ประกอบศาสนกิจสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีอยู่ทุกค่ายทหาร แต่อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป”
รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวอีกว่า ในการก่อสร้างสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจภายในค่ายทหาร กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 จ.สตูล เกิดจากความคิดริเริ่มของหน่วยที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับกำลังพลและครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งพักอาศัยอยู่ในค่ายเป็นจำนวนมาก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณบริจาคจากพี่น้องประชาชน ตลอดจนกำลังพลและครอบครัวผู้มีจิตศรัทธา เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบศาสนกิจตามหลักความเชื่อทางศาสนาอิสลามสำหรับกำลังพลและครอบครัวภายในค่ายทหารเท่านั้น โดยไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการแต่อย่างใด
ทั้งนี้กองทัพภาคที่ 4 ต้องขอขอบคุณในความตั้งใจและความปรารถนาดีของผู้แจ้งข่าวและตั้งข้อสังเกต เพราะถือเป็นการทำหน้าที่พลเมืองดีในการช่วยกันตรวจสอบ และสอดส่องดูแลสิ่งผิดปกติที่อาจเป็นปัญหาขึ้นมาในสังคมในอนาคต และในโอกาสต่อๆ ไป หากพบเห็นกำลังพลหรือหน่วยงานในสังกัดกองทัพภาคที่ 4 กระทำการใดๆ ที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมาย ขอความกรุณาช่วยแจ้งให้กองทัพภาคที่ 4 ได้รับทราบด้วย เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
@@ เปิดกฎหมาย กฎกระทรวง จัดตั้ง-ก่อสร้างมัสยิด
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า การจัดตั้งมัสยิด ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 โดยจะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในพื้นที่ที่จะจัดตั้งมัสยิดด้วย
อ่านเพิ่มเติมใน พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540
ส่วนรายละเอียดในการก่อสร้าง การจัดทะเบียนจัดตั้ง การย้าย รวม และเลิกมัสยิด ให้เป็นไปตาม กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ.2542 ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540