โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชายแดนใต้ ตื่นตัวเร่งให้ความรู้โทษภัยของกัญชาแก่นักเรียนหน้าเสาธง ย้ำชัดขัดหลักอิสลาม ห้ามนำมาใช้ในทางที่ผิด พร้อมอธิบายเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ด้านผู้ประกอบการร้านอาหารปัตตานี วอนภาครัฐให้ความชัดเจนเรื่องการนำกัญชามาใช้ประกอบอาหาร เผยพร้อมจำหน่ายถ้าใช้ทางการแพทย์ และรักษาโรค
ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับกระแสต่อต้านนโยบาย “กัญชาเสรี” ของรัฐบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของพี่น้องมุสลิมที่มีความกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน และประเด็นการขัดกับหลักการศาสนา จึงได้รวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวต่อต้านในหมู่ผู้นำอิสลาม และสถานศึกษา
ล่าสุดเมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้กัญชาเป็น “สมุนไพรควบคุม” ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ครอบครองในทุกกรณี ส่งผลให้สถานศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้เริ่มเน้นหนักการให้ความรู้กับนักเรียนในโรงเรียน บางแห่งมีการประกาศหน้าเสาธง
@@ เพิ่มเนื้อหาให้ครูทำความเข้าใจนักเรียน
ที่โรงเรียนสตรีธรรมวิทยายะลา อ.เมือง จ.ยะลา มีการเริ่มให้ครูผู้สอนสอดแทรกเนื้อหาการให้ความรู้ถึงโทษและประโยชน์ของกัญชา เพื่อให้รู้เท่าทันต่อพืชสมุนไพรชนิดนี้ รวมทั้งเรื่องสมรสเท่าเทียมที่สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งรับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 4 ฉบับ
ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ทั้งเรื่องกัญชาและสมรสเท่าเทียม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่
นายอิรฟาน สุหลง ผู้บริหารโรงเรียนสตรีธรรมวิทยายะลา กล่าวว่า ข้อกังวลหลังมีมติปลดล็อกกัญชา ส่วนตัวมองว่าถ้ากัญชาเสรีในทางการแพทย์ก็เข้าใจและไม่ว่ากัน แต่ในภาพรวมเมื่อเยาวชนได้ยินคำว่า “กัญชาเสรี” ทำให้เข้าใจและนำมาใช้ในทางที่ผิด เพราะเข้าใจผิดคิดว่ากัญชาทุกชนิดสามารถใช้หรือเสพได้หมด จุดนี้เราเป็นห่วงเยาวชนโดยเฉพาะโรงเรียนสอนศาสนา
“โรงเรียนผมดีหน่อยเป็นโรงเรียนผู้หญิงล้วน แต่โรงเรียนภาพรวมทั่วไปที่มีเด็กผู้ชาย น่าเป็นห่วง เพราะกัญชาเป็นสิ่งมึนเมา มันขัดกับหลักศาสนาอยู่แล้ว นโยบายที่จะนำมาใช้ ถ้าเราควบคุมไม่ได้ ควบคุมไม่อยู่ ดูแลไม่ได้ ไม่มีมาตรการตรงนี้ น่าเป็นห่วงและอันตรายต่อเยาวชนในภายภาคหน้า” อิรฟาน กล่าว
@@ ผิดหลักศาสนา แต่รักษา-บำบัดทำได้
นอกจากนี้ ยังมีสมาคมภาคธุรกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาเคลื่อนไหวและเสนอมุมมองเรื่องกัญชาอย่างเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมไปข้างหน้า
นายพันศักดิ์ คุ้มครองพันธ์ เจ้าของร้านชิมิ อ.เมือง จ.ปัตตานี ในฐานะองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมศึกษาและหาความรู้จากผู้รู้ในเรื่องของกัญชาเสรี ทั้งในมุมของกฎหมาย มุมสาธารณสุข
“แน่นอนอยู่แล้ว ตามหลักศาสนาอิสลามเราห้ามในเรื่องนี้ แต่ถ้าเพื่อรักษาโรคก็สามารถทำได้ ท่านจุฬาราชมนตรีออกมาเป็นหลักที่สมเหตุสมผล เรื่องของการฮารอม แต่ถ้าเสพอย่างถูกต้อง ในเรื่องบำบัดรักษา อันนี้ถือว่าเป็นยารักษา ถ้าเสพเพื่อรื่นเริงเพลิดเพลินรู้อยู่แล้วว่ามันผิดในการเสพ หลักศาสนาไม่มีอะไรซับซ้อน”
“ในฐานะที่เป็นมุอัลลัฟ (คนต่างศาสนามาเข้ารับอิสลาม) ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกอะไรกับการที่กัญชาจะปล่อยเสรี การที่กัญชาจะปล่อยเสรีมันต้องมีเหตุและผลของมัน ก่อนที่จะออกกฎหมายตรงนี้ ผมก็เชื่อว่ามันก็ต้องมีการคัดค้านกันมาก่อนหน้านี้ สุดท้ายกฎหมายตัวนี้ก็หลุดออกมาจนได้ พอหลุดออกมาแล้ว มันก็ต้องทำความเข้าใจแล้วล่ะว่าสิ่งที่เรานำไปใช้ถูกต้องหรือไม่ ถ้านำไปบำบัดรักษา เรารู้ว่าป่วย บำบัดรักษาไม่เป็นไร บุคคลไปเสพไม่ถูกต้องก็ฮารอมไป”
@@ แนะใช้กลไก อสม.ทำความเข้าใจ
นายพันศักดิ์ กล่าวอีกว่า อยากฝากเรื่องการทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งภาครัฐกับภาคประชาชนและทางด้านศาสนา สาธารณสุขเองก็มีเครื่องมือที่ดีอยู่แล้ว คือ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เราน่าจะให้ความรู้ได้เยอะ หลักศาสนามีวัด มัสยิด ที่จะทำความเข้าใจ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุด
ปัตตานีในอดีตกัญชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็จะหลบๆ ซ่อนๆ ก็หายากหน่อย ปัจจุบันเปิดเผยก็หาง่ายขึ้น ทุกอย่างตอนนี้ต้องศึกษาและต้องให้คำปรึกษา สองส่วนนี้คือส่วนที่สำคัญมาก สำหรับโลกปัจจุบันที่มีกฎหมายตัวนี้ออกมา มันต้องให้คำแนะนำอย่างเร่งด่วน เท่าที่ผมมองส่วนใหญ่จะใช้เพื่อความเพลิดเพลิน ควรให้ข้อมูลเพื่อไปด้วยกัน กระทรวงศึกษาธิการควรให้ข้อมูลกับเด็กและเยาวชน อะไรควรอะไรไม่ควร สาธารณสุขควรจะให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ กับผู้ป่วย ฝ่ายปกครองควรให้ความรู้ข้อกฎหมายกับทุกหน่วยงาน และจะต้องมาบูรณาการร่วมกัน
เจ้าของร้านชิมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่ ก็พอจะเริ่มเห็นการจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ บ้างในโลกออนไลน์ แต่ไม่แน่ใจว่า ร้านที่เปิดๆ นั้นถูกต้องหรือยัง จริงๆ แล้วควรจะมีการควบคุม
“ผมมองว่ามันไม่น่าจะจบแค่แบบพอเปิดเสรีแล้ว จะไปทำลักษณะมากเกินไป สาธารณสุขก็ต้องเข้าไปดูแล ร้านอาหารก็ควรที่จะไปขึ้นทะเบียน และมีการบอกชัดเจนว่า ร้านมีการผสมกัญชา ตอนนี้สาธารณสุขก็ยังไม่ได้ลงมาเลย จริงๆ สิ่งที่สามารถทำได้ก่อนคือ เรียกประชุมผู้ประกอบการให้เร็ว และสาธารณสุขจะต้องออกมาระบุให้ชัดเลยว่าจะให้หรือไม่ให้ ถ้าให้ก็ไปออกใบอนุญาตมาเลย ถ้าไม่ได้ก็ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้”
“อย่างตอนนี้ ร้านผมก็ศึกษาและปรึกษาผู้รู้ และถ้ามีผู้ป่วยที่ต้องการกินอาหารเพื่อรักษาด้วยกัญชา เราก็ยินดีที่จะทำ แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและปรึกษาและดูความชัดเจนของแต่ละหน่วยงาน” นายพันศักดิ์ กล่าว