ช่วงเปลี่ยนปีงบประมาณ ปลาย ก.ย. ต่อต้นเดือน ต.ค. เป็นช่วงที่ส่วนราชการมีการขยับสับเปลี่ยนกันหลากหลายมิติ
ทั้งเปลี่ยนตัวผู้นำหน่วย มีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งแทนผู้ที่เกษียณอายุ, ทั้งการปรับโครงสร้างหน่วย โครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหม่ๆ หรืองบประมาณก้อนใหม่ที่ได้รับ หากถูกหั่นงบประมาณก็ต้องถูกยุบเลิกส่วนงาน หรือเลิกจ้างกันไป (เหมือนที่เกิดขึ้นกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อ่านประกอบ : เช็คด่วน! ลูกจ้าง ศอ.บต.ส่วนไหนเสี่ยงตกงาน หลังงบประมาณถูกตัดอื้อ )
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเคลื่อนไหวช่วงเปลี่ยนปีงบประมาณมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องของการ "สับเปลี่ยนกำลัง" เนื่องจากหน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่หลายหน่วย เป็นหน่วยเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นจาก "หน่วยแม่" ที่อยู่นอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อสิ้นปีงบประมาณจึงมีการสับเปลี่ยนกำลัง ให้ชุดเก่ากลับบ้าน ชุดใหม่ลงไปทำหน้าที่แทน
ปีนี้ยิ่งมีความพิเศษมากขึ้นไปอีก เมื่อหน่วยระดับนโยบายมีการปรับเปลี่ยน นั่นก็คือ "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "คณะผู้แทนพิเศษ" มีข่าวถูกปรับโครงสร้างขนานใหญ่ และต้องหยุดทำงานไปในช่วงเปลี่ยนปีงบประมาณเพื่อรอความชัดเจน
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นข่าวที่รับรู้รับทราบกันในวงกว้างมากนัก เพราะแม้แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในภาพรวมพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
@@ "ผู้แทนพิเศษ" หยุดงานรอความชัดเจน
"ทีมข่าวอิศรา" สอบถามไปยังหนึ่งใน "ผู้แทนพิเศษ" ยอมรับว่าข่าวที่ออกมาเป็นความจริง แต่ตนก็ยังไม่ทราบรายละเอียดเช่นกันว่า โครงสร้างของผู้แทนพิเศษจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
"เรื่องผู้แทนพิเศษที่มีการปรับใหม่ เป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา (วันแรกของปีงบประมาณ 2565) มีหนังสือมาถึง เพื่อให้ยุติการทำงานในหน้าที่ผู้แทนพิเศษ ส่วนรายละเอียดไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวได้รับหนังสือให้ยุติงานตรงนี้" หนึ่งในผู้แทนพิเศษ กล่าว
@@ ลดงาน ลดคน รับนโยบายส่งคืนภารกิจให้หน่วยปกติ
ขณะที่ "คณะทำงาน" ที่สนับสนุนการทำงานของคณะผู้แทนพิเศษ ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า การปรับโครงสร้างใหม่ของผู้แทนพิเศษเป็นเรื่องจริง แนวคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือน ส.ค.-ก.ค.64 แต่ตนไม่แน่ใจในรายละเอียด เพียงแค่ทราบว่าโครงสร้างใหม่จะมีการปรับลดงานและคนลง เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มคืนงานหลักให้หน่วยปกติรับผิดชอบแทน ส่วนหน่วยงานพิเศษ หน่วยเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมา ก็จะเริ่มเก็บของกลับบ้าน
"เท่าที่ทราบ โครงสร้างใหม่ได้ปรับลดงานและคนลงทั้งหมด เหลือแค่บางส่วน ทราบว่าน่าจะมีผู้แทนพิเศษเหลืออยู่ 4 ท่านเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนงานต่อไป เป็นนโยบายคล้ายๆ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีการยุบงานหลายส่วน และมีการปรับโครงสร้างใหม่ขึ้น จนน่าจะสามารถยุบงานทั้งหมดในพื้นที่ แล้วย้ายกลับบ้าน คาดว่าในปี 2565-2566 แล้วส่งงานที่เหลือให้ตำรวจและหน่วยปกติทำงานต่อไป เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมของพื้นที่ดีขึ้นเป็นลำดับ งานทุกอย่างก็ต้องค่อยๆ ปรับและส่งคืนพื้นที่ไป"
@@ ผู้แทนพิเศษบางส่วนไม่ลงพื้นที่
ข้อมูลจาก "คณะทำงาน" ยังสะท้อนปัญหาการทำงานของคณะผู้แทนพิเศษ ซึ่งต้องเดินทางไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสำนักงานอยู่ในกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ใกล้ๆ กับค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่เมื่อถึงเวลาทำงานจริง กลับมีผู้แทนพิเศษบางส่วนไม่ได้ลงพื้นที่ เพราะไม่ได้รับราชการหรือพำนักอยู่ในพื้นที่แล้ว อาจเป็นเพราะระยะทางไกล และเดินทางไม่สะดวก เมื่อไปครั้งหนึ่งต้องพักแรมในพื้นที่หลายคืน
"เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่ตลอด มีการโยงไปเป็นเรื่องปัญหาภายใน เพราะมีผู้แทนพิเศษบางส่วนไม่ได้ลงพื้นที่จริง จนทำให้บางกลุ่มงานทำงานแบบไม่มีความเข้าใจกับบริบทพื้นที่ และมีความเห็นต่างในการทำงานพอสมควร"
"คณะทำงาน" รายนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เกิดกับการทำงานของผู้แทนพิเศษ จนต้องหยุดการทำงานชั่วคราวในขณะนี้เพื่อปรับโครงสร้าง สุดท้ายอาจถูกบีบให้มีโครงสร้างเล็กลงจนสามารถยุบเลิกไปได้เลยในปี 2565-2566
สำหรับคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงตัวบุคคลมาแล้ว 3 ครั้งใหญ่ๆ โดยผู้แทนพิเศษชุดปัจจุบันก่อนยุติการทำหน้าที่ชั่วคราวเพื่อปรับโครงสร้างใหม่ ได้รับแต่งตั้งเมื่อปี 62 มีผู้แทนพิเศษจำนวน 7 คน และต่อมาตั้งเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 9 คน มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษ
กรอบการทำงานอยู่ในแผนปฏิบัติเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2561-2564 ซึ่งผู้แทนพิเศษชุด พล.อ.ชัยชาญ ได้แบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 6 กลุ่มงาน คือ งานยุติเหตุรุนแรง, งานประชาชนผู้เห็นต่างสนับสนุนรัฐ, งานเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือ, งานเสริมสร้างพหุวัฒนธรรม, งานพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพพื้นที่ และงานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มงานครอบคลุมมิติด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนา
จากภารกิจขับเคลื่อน 6 กลุ่มงาน จึงมีการแบ่งงานให้ผู้แทนพิเศษแต่ละท่านรับผิดชอบแต่ละกลุ่มงาน ฉะนั้นกรณีที่มีผู้แทนพิเศษบางคนไม่ลงพื้นที่ หรือลงพื้นที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็อาจกระทบกับกลุ่มงานที่ผู้แทนพิเศษรายนั้นๆ รับผิดชอบ
@@ ย้อนความเป็นมา "ผู้แทนพิเศษ"
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนวัตกรรม "องค์กรดับไฟใต้" ที่ตั้งขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าควบคุมอำนาจการปกครองในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อปี 57 และตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศ
โดยโครงการ "ผู้แทนพิเศษ" เกิดขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 เรื่องการปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 14 ก.ย.59 เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้
หน้าที่คือประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีและราชการส่วนกลางกับหน่วยงานในพื้นที่ ประสานงานกับรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในเขตตรวจราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประสานงานกับ คปต. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, จังหวัด ส่วนราชการ และภาคส่วนต่างๆ ในการเชื่อมโยงงานให้เกิดการบูรณาการ และปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติและการพัฒนา ตลอดจนให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการ
หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้รายงานปัญหา อุปสรรค ตลอดจนเสนอแนวทางการป้องกันหรือแก้ปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะๆ
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดแรก ตั้งขึ้นโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2559 ลงวันที่ 6 ต.ค.59 มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เป็นหัวหน้า และมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นรองหัวหน้า
และมีผู้แทนพิเศษอีก 11 คน รวมเป็น 13 คน ประกอบด้วย พล.อ.จำลอง คุณสงค์, พล.อ.ปราการ ชลยุทธ, พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์, พล.อ.สกล ชื่นตระกูล, พล.อ.อักษรา เกิดผล, พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์, พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ, นายพรชาต บุนนาค, นายจำนัล เหมือนดำ และ นายภาณุ อุทัยรัตน์
ผู้แทนพิเศษทั้ง 11 คนส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหารระดับสูงของแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งแม่ทัพ รองแม่ทัพ, อดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.
ต่อมา 14 ธ.ค.60 มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของผู้แทนพิเศษ โดยให้ พล.อ.อุดมเดช พ้นจากหัวหน้าผู้แทนพิเศษ และให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษแทน และเติม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เข้ามาเป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษ
โดยการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น มาจากการปรับคณะรัฐมนตรี ที่ให้ พล.อ.อุดมเดช พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และตั้ง พล.อ.ชัยชาญ เข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแทน
ต่อมาช่วงปลายปี 61 มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในคณะผู้แทนพิเศษอีก 1 ครั้ง คือมีการแต่งตั้ง นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนพิเศษ แทน นายพรชาต บุนนาค ที่ป่วย และเสียชีวิต
กระทั่งวันที่ 16 ก.ย.62 มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษชุดใหม่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.62 โดยผู้แทนพิเศษชุดนี้มีเพียง 7 คน มี พล.อ.ชัยชาญ เป็นหัวหน้า มี พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นรองหัวหน้า และมี พล.อ.ปราการ ชลยุทธ, พล.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์, พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์, นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม และนายจำนัล เหมือนดำ เป็นผู้แทนพิเศษ
วันที่ 15 ม.ค.63 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องเพิ่มเติมองค์ประกอบผู้แทนพิเศษ อีก 2 คน คือ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล
โดย พล.อ.วัลลภ เป็นอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ พล.อ.สุทัศน์ เป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาเป็นผู้แทนพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะผู้แทนพิเศษชุดนี้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 วันที่ 30 ก.ย.64 และได้ยุติบทบาทลง เพื่อปรับโครงสร้างคณะผู้แทนพิเศษใหม่ ซึ่งมีข่าวหลายกระแสว่าอาจจะลดขนาดลง หรือจบภารกิจไปเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป