สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศเริ่มอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จากตัวเลขที่แถลงรายวันโดยโฆษก ศบค. แต่ตัวแปรที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในช่วงนี้ คือกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มาจากพื้นที่ระบาด และกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมทางศาสนา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสม ณ วันพฤหัสบดีที่ 9 เม.ย.63 อยู่ที่ 225 ราย แยกเป็น จ.ยะลา 71 ราย จ.ปัตตานี 66 ราย จ.สงขลา 48 ราย จ.นราธิวาส 25 ราย และ จ.สตูล 15 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นมากในระยะนี้ มาจากกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มดะวะห์ที่ไปร่วมชุมนุมของผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม (โยร์) ซึ่งเมื่อกลับมาแล้วตรวจพบเชื้อจำนวนมาก อย่างเช่น กลุ่มที่กลับจากอินโดนีเซีย 76 คน ติดเชื้อโควิดกว่าครึ่ง
ล่าสุดจังหวัดยะลาและทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ออกประกาศเพิ่มมาตรการเข้มในการค้นหาบุคคล 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้กลับจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือต่างจังหวัด
2. ผู้เข้าร่วมฮาลาเกาะห์ (ตั้งวง รวมตัวเพื่อทำกิจกรรม) ที่บ้านพงยามู อ.บันนังสตา จ.ยะลา ช่วงวันที่ 11–13 มี.ค.63
และ 3. ผู้ร่วมกิจกรรมมัสตูรอ (กิจกรรมเกี่ยวกับดะวะห์ของสตรี) ที่อาคาร 4 ชั้น มัรกัสยะลา (ศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย) ระหว่างวันที่ 22–26 มี.ค.63 โดยมีการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ให้ไปรายงานตัวโดยด่วน
ส่วนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อนถึงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งจะมีการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ในวันที่ 23 เม.ย.นี้นั้น มีการเน้นย้ำจากฝ่ายความมั่นคงไปยังทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องค้นหาแบบเอ็กซเรย์ ปูพรม 3 กลุ่มข้างต้นในทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งพี่น้องมุสลิมมีกิจกรรมที่ต้องกระทำร่วมกันมากขึ้นในช่วงเวลาของการถือศีลอด
สำหรับสถานการณ์ที่เป็นข้อห่วงกังวลของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยขณะนี้ คือการเดินทางกลับเข้าไทยหลังร่วมกิจกรรมทางศาสนาจากอินโดนีเซีย ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และระหว่างการกักตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขตามภูมิลำเนา พบว่าหลายคนยังไม่ตระหนักถึงการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนด ทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยง
หลังจากนี้จึงต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางกลับของกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งยังมีอีกใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งคือที่ประเทศอินเดีย รวมถึงกลุ่มนักศึกษาอิหร่านที่เตรียมจะเดินทางกลับประเทศไทยหลังการเปิดสนามบินในวันที่ 18 เม.ย.63 นี้
สำหรับกลุ่มดะวะห์ที่ไปร่วมชุมนุมทางศาสนาที่อินเดียนั้น ก่อนหน้านี้มีการระบุตัวเลขว่าตกค้างอยู่ 115 คน ไปร่วมชุมนุมทางศาสนา หรือ โยร์ ที่ศูนย์ดะวะห์ตับลิฆของโลก ณ กรุงนิวเดลี
ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีหนังสือด่วนจากผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นายอำเภอพรหมคีรี นายอำเภอท่าศาลา และนายอำเภอชะอวด เพื่อให้ติดตามตัวผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย ผ่านทางด่านถาวรสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวน 10 คน และมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช ตามที่ได้แจ้งจาก จ.สงขลา เพื่อนำตัวทั้ง 10 คนมาเข้าสู่กระบวนการกักกัน สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ที่ศูนย์กักกันของจังหวัด หรือ local quarantine โดยใชสถานที่ศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคใต้ เลขที่ 13 ถนนพัฒนาการคูขวาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่กักกันตัว
ในการนี้ได้มอบหมายให้ นายณรงค์ กาฬวัจนะ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ เป็นผู้ประสานงานในการติดตามบุคคลทั้ง 10 คน ซึ่งมีภูมิลำเนากระจายอยู่ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อ.พรหมคีรี อ.ท่าศาลา และ อ.ชะอวด ด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
กลุ่มดะวะห์ 76 ชีวิตจากอินโดฯกลับถึงไทย แยกกักปลอดภัย-ไร้โควิด
เส้นทางสายวิบาก...กลุ่มดะวะห์ไทยกลับจากสุลาเวสี
กลุ่มดะวะห์กลับจากอินโดฯส่อติดโควิดกว่าครึ่ง
โต้ข่าวกลุ่มดะวะห์ไร้วินัยกักตัว เปิดคู่มือมุสลิมปฏิบัติตัวสู้โควิด
เจออีกกลุ่ม! ดะวะห์อินโดฯ 14 ชีวิต...ไม่ติดโควิดแต่ไม่มีรถกลับบ้าน