แม้นายกฯแพทองธาร จะตัดสินใจลงใต้ในวันอังคารที่ 17 ธ.ค. หลังประชุม ครม. เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมระลอกใหม่ แต่ก็ดูเหมือนช้าเกินไป และไม่ได้ทำให้กระแสวิจารณ์ลดน้อยลง สาเหตุเป็นเพราะ
1.น้ำท่วมใหญ่จากมรสุมและฝนหนักรอบนี้ รุนแรงตั้งแต่วันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา (13-14 ธ.ค.) โดยเฉพาะที่ จ.ชุมพร ซึ่งนายกฯไปร่วมสัมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่กลับไม่เดินทางต่อไปตรวจสถานการณ์ หรือเยี่ยมพี่น้องประชาชน
โดยการสัมมนาพรรคเพื่อไทย เริ่มวันศุกร์ที่ 13 ธ.ค. และเสร็จสิ้นวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยที่ชุมพรกำลังรุนแรงพอดี
ขณะที่ระยะทางจากหัวหินถึงชุมพร ไม่ไกลมากนัก เป็นจังหวัดต่อเนื่องกันเลยด้วยซ้ำ
2.ก่อนหน้านี้มีน้ำท่วมใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ธ.ค. แต่นายกฯก็ไม่ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ หรือเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนเลย กระทั่งล่าสุดสามจังหวัดใต้เผชิญมรสุมรอบใหม่ น้ำท่วมซ้ำอีกรอบ ก็ยังไม่เดินทางไป
3.การลงใต้วันที่ 17 ธ.ค. เป็นการไปแค่สองจังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี กับนครศรีธรรมราช ไม่ได้เลยไปสามจังหวัดใต้
4.ระหว่างที่น้ำท่วมใหญ่หนนี้ นายกฯเลือกเดินทางไปเยือนมาเลเซีย ซึ่งเส้นทางบินต้องผ่านภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นายกฯก็ไม่ได้แวะ
5.สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาความไม่สงบอย่างยืดเยื้อยาวนาน แต่นายกฯก็ไม่ได้ลงไปติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็วหลังรับตำแหน่ง ในลักษณะให้ความสำคัญเหมือนนายกฯคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ดำรงตำแหน่งมาถึง 3 เดือนเศษแล้ว
6.การเดินทางเยือนมาเลเซีย มีประเด็นหารือและข้อตกลงกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำมาเลเซีย เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย เพราะมาเลเซียทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพุดคุยสันติสุข” แต่นายกฯไทยกลับยังไม่เคยเดินทางลงพื้นที่เลยแม้แต่ครั้งเดียว
@@ BRN โจมตีนายกฯอิ๊งค์ แถมอ้างอิง JCPP
7.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเป็น “คู่เจรจา” กับรัฐบาลไทยบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯ เพิ่งออกแถลงการณ์เชิงตำหนินายกฯแพทองธาร โดยระบุตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมายังไม่ได้แสดงจุดยืน นโยบาย หรือความใส่ใจที่ชัดเจนต่อปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความขัดแย้งที่ปาตานีเลย นี่เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับทุกฝ่าย
แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นยังอ้างว่า ขบวนการของตนกับรัฐบาลไทยได้ตกลงกันว่า แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP เป็นแผนการสันติภาพที่ครอบคลุมและจะมีการพิจารณาประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขทางการเมือง การปรึกษาหารือกับสาธารณะ และการหยุดยิง
เป็นการอ้างอิงถึง ทั้งๆ ที่แผน JCPP ถูกคัดค้านจากฝ่ายความมั่นคง นักวิชาการ และผู้รู้หลายคนในประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ หน่วยงานด้านความมั่นคงไทยก็เฉยๆ ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เลย ทั้งๆ ที่เนื้อหาในคำแถลง ตำหนิผู้นำไทย และอ้างถึง JCPP ซึ่งคณะทำงานเทคนิคร่วม นำโดย พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ อดีตแม่ทัพน้อยที่ 4 (ตำแหน่งในขณะนั้น) เคยออกมาระบุว่าจะต้องปรับแก้เนื้อหาบางประการของ JCPP
บีอาร์เอ็นยังขู่ทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลไทยมีท่าทีละเลย ไม่มีความจริงจังและความจริงใจในการแสวงหาแนวทางแก้ไขสำหรับความขัดแย้ง อาจจะเป็นชนวนสำหรับการต่อต้านของประชาชนปาตานีที่ร้ายแรงกว่า รุนแรงกว่า และไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป
และหลังจากคำขู่นี้ถูกประกาศออกมา มีการแชร์ข้อความในวงกว้างจากแนวร่วมของขบวนการ และแนวร่วมมุมกลับ แต่ฝ่ายความมั่นคงไทยก็ยังนิ่งๆ เหมือนเคย
@@ ย้อนรอยภูเก็ตดอดคุย “อันวาร์” - ตั้งเป็นที่ปรึกษาสุดท้าทาย
8.การที่นายกฯอันวาร์ ตั้งอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งตนจะเริ่มทำหน้าที่ในปีหน้า น่าคิดว่าจะส่งผลดีหรือผลลบกับประเทศไทย และสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
เพราะช่วงวันที่ 29 เม.ย. ถึง 2 พ.ค.67 หลังได้รับการพักโทษ อดีตนายกฯทักษิณเดินทางไปภูเก็ต และแอบไปพบกับนายกฯอันวาร์ ซึ่งเดินทางไปที่ภูเก็ตพอดี ไม่มีข่าวยืนยันแน่ชัดว่าเป็นการนัดกันล่วงหน้าสำหรับการพบปะกันครั้งนี้ หรือว่านายกฯอันวาร์มาปฏิบัติภารกิจอื่น และถือโอกาสพบอดีตผู้นำไทย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรย่อมชัดเจนว่าทั้งสองคนมีสัมพันธ์พิเศษต่อกัน และการพบปะหารือกันครั้งนั้น ก็เป็นความลับ ไม่มีการออกข่าว หรือนำเสนอภาพการพบปะแต่อย่างใด
ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ อดีตนายกฯทักษิณ เดินสายพบบุคคลสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีข่าวว่าขึ้นเหนือไปพบแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา และเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการเจรจาสันติภาพ และหยุดยิง แต่สุดท้ายล้มเหลว กระทั่งถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง
และเป็นผลประการหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการขยายประเด็นการพบปะกับนายกฯอันวาร์ เพราะอาจเกรงว่าจะเกิดกระแสเชิงลบตามมาไม่ต่างกัน
การใช้วิถีทางทางการทูตเชิงความมั่นคงแบบนี้ บางฝ่ายมองว่าเป็นความสุ่มเสี่ยง และไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นจริงหรือไม่
ฉะนั้นการที่นายกฯอันวาร์ แต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ในฐานะประธานอาเซียน จึงน่าจับตาและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง