การพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ของไทย กับ นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย แม้จะทำให้ข่าวคราวความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มีความชัดเจนขึ้น หลังจากอึมครึมมาตั้งแต่ช่วงตั้งไข่รัฐบาลเพื่อไทย 2
แต่การขับเคลื่อนเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ก็ดูจะมีความท้าทาย และแนวโน้มจะยึดตามกรอบ JCPP หรือ แผนปฏิบัติการสร้างสันติสขแบบองค์รวม ซึ่งเคยถูกคัดค้านจากผู้รู้ นักวิชาการ และฝ่ายความมั่นคงไทยบางส่วน
ขณะที่การแต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็น “ที่ปรึกษาส่วนตัว” ของนายกฯอันวาร์ ในหมวกประธานอาเซียน ซึ่งจะเริ่มภารกิจในปีหน้า ก็ดึงความสนใจของสังคมไทยและสังคมอาเซียน ไปจากโฟกัสปัญหาชายแดนใต้ไม่น้อยทีเดียว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อก้อง เขียนบทความในบริบทนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ทั้งบทบาทของอดีตนายกฯ และบทบาทของบีอาร์เอ็นที่พยายามขับเคลื่อนโต๊ะพูดคุยผ่าน JCPP
@@ สัญญาณจากกัวลาลัมเปอร์ - ปัญหาภาคใต้
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องของการแต่งตั้งคุณทักษิณ ที่อาจตีความได้กับเรื่องการหาทางแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาแล้ว การพบกันครั้งนี้ (ระหว่างนายกฯไทย กับนายกฯมาเลเซีย) ยังมีเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามมองคือ แนวทางการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราอาจตั้งข้อสังเกตได้ ดังนี้
1.ประเด็นการแต่งตั้งคุณทักษิณ เกิดขึ้นจากเวทีการพบปะของ 2 นายกฯ ที่เป็นหัวข้อข่าวสำคัญในไทยนั้น จะต้องไม่ลืมในอีกส่วนถึงสาระสำคัญของการพบกันของผู้นำปัจจุบัน
2.ประเด็นความมั่นคงสำคัญปรากฏในแถลงการณ์ของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย (แถลงการณ์ข้อที่ 6-10)
3.ประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนน่าจะเป็นข้อ 9 ของแถลงการณ์ดังกล่าว ที่มีการกล่าวถึง “แผนสันติภาพภาคใต้” หรือที่เรียกกันว่า “JCPP”
4.JCPP เป็นผลผลิตที่มาจากการผลักดันของ NGOs ตะวันตก ในแผนที่เรียกว่า “ความริเริ่มเบอร์ลิน” (Berlin Initiative) ซึ่งสาระสำคัญน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่ม BRN ที่เป็นผู้ก่อเหตุร้าย มากกว่าจะเป็นหนทางในการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
(น่าสนใจว่ารัฐบาลเยอรมันปราบปรามมุสลิมหัวรุนแรงอย่างเข้มงวด แต่พวกเขากลับแสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่ม BRN ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมสุดโต่งในไทย และทั้งยังมีรายงานถึงการเดินทางของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงระดับสูงของไทย เพื่อพบกับตัวแทนของ BRN ที่เบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามในทางปฏิบัติว่า หน่วยงานไทยนี้ได้จ่ายค่าเดินทางไปเยอรมันให้กับตัวแทนของ BRN ด้วยหรือไม่ และฝ่ายการเมืองของรัฐบาลไทยเข้าใจและรับรู้เรื่องเช่นนี้เพียงใด เพราะเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนต่อสถานะของประเทศอย่างมาก)
5.เดิมมีข่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียในฐานะของการเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น “ไม่พอใจ” กับการผลักดันของ NGOs สายยุโรป ที่ดึงการประชุมจากกัวลาลัมเปอร์ไป “ท่องยุโรป” ทั้งที่เบอร์ลิน และเจนีวา หรือที่รู้จักในหมู่คนที่สนใจปัญหาภาคใต้ในชื่อว่า “เจนีวาคอล” (Geneva Call)
(น่าสนใจอย่างมากกับบทบาทของ NGOs จากตะวันตกที่เข้ามาเคลื่อนไหวในภาคใต้ และมีทิศทางไปในทางสนับสนุน BRN)
6.รัฐบาลควรพิจารณาประเด็น JCPP ด้วยความใคร่ครวญและความเข้าใจ มากกว่าจะเชื่ออย่างง่ายๆ จากรายงานของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำเอกสารนี้ และมองเห็นแต่ “ด้านบวก” ตามความเชื่อของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น
7.หากเป็นไปได้ รัฐบาลในฐานะฝ่ายการเมือง (จะโดยที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดนายกฯ / เลขาธิการนายกฯ / รองนายกฯ ด้านความมั่นคง) ควรพิจารณา ศึกษา และวิเคราะห์สิ่งที่ปรากฏในเอกสาร JCPP อย่างรอบครอบ
8.รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า การเจรจาเป็นเพียง “สนามรบทางการเมือง” ชุดหนึ่งที่กลุ่ม BRN ใช้คู่ขนานกับการสร้าง “แนวร่วม” เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในวงกว้าง
9.คงต้องยอมรับว่า แถลงการณ์นี้สะท้อนถึงความร่วมมือเชิงบวกระหว่างประเทศทั้งสองในหลายประเด็น และความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก หากรัฐบาลไทยในปัจจุบันสามารถ “ทำความเข้าใจ” กับบริบทของปัญหา เพื่อกำหนด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ที่จะใช้เป็นแนวทางในการเอาชนะความรุนแรงของ BRN ให้ได้อย่างแท้จริง
10.รัฐบาลไทยยังคงต้อง “คุย” เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจร่วมกันกับรัฐบาลมาเลเซีย และทั้งยังต้องหวังถึง “ความจริงใจ” ของมาเลเซียในการแก้ปัญหา เช่นที่ครั้งหนึ่งไทยเคยช่วยมาเลเซียในการแก้ปัญหา “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นจากการพบของ 2 ผู้นำที่กัวลาลัมเปอร์นั้น อาจจะเป็นความคาดหวังในแบบ “เวทีการทูต”
แต่ “เวทีการรบ” ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงจากปฏิบัติการของ BRN คือ ความจริงในพื้นที่ที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ละเลยไม่ได้ และยังต้องไม่ละเลยต่อการชี้แจงข้อมูลต่างๆ ไม่ใช่เล่นบท “เงียบ” ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะถูก BRN โจมตีอย่างไร
เสมือนอาการ “รัฐอัมพาต” ไม่จบ!