เตรียมจัดงาน “เทศกาลไก่เบตง” ปี 2566 ภายใต้แนวคิด “เช็คอิน ชิม ช้อป ของดีเมืองเบตง” ระหว่าง 26 ส.ค.ถึง 1 ก.ย.นี้ ตรงกับช่วงหยุดยาววันชาติมาเลเซีย เผยยอดจองห้องพักล่วงหน้าเต็มหมดแล้ว คาดเงินสะพัดร้อยล้าน
วันจันทร์ที่ 21 ส.ค.66 ที่โรงแรมแกรนด์วิว แลนด์มาร์ค เบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง พร้อมด้วย พ.ต.อ.สัญญา ทองสวัสดิ์ ผู้กำกับการ สภ.เบตง นายบุญชัย เลี้ยงภิรมย์ภักดี ปลัดอำเภอเบตง นายธงชัย เทพรอด ปลัดเทศบาล นายโชคชัย สกุลชัยแก้ว ผู้จัดการโครงการการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง และ นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลงานไก่เบตง ประจำปี 2566 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 ส.ค. ถึง 1 ก.ย.66 ณ บริเวณลานวัฒนธรรมสัมพันธ์ อ.เบตง
การจัดงานเทศกาลงานไก่เบตงนี้ เทศบาลเมืองเบตงได้ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเลี้ยงไก่เบตง มุ่งเน้นการนำเสนออาหาร อัตลักษณ์เบตง โดยนอกจากไก่เบตงแล้ว ยังมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์ไปถึงการปลูกทุเรียน และของดีเมืองเบตง ต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมของเมืองเบตงด้วย
นายสกุล กล่าวว่า “ไก่เบตง” ถือเป็นเอกลักษณ์ของดีเบตงที่ขึ้นชื่อ และสืบทอดการเลี้ยงมานานกว่า 100 ปี ทำให้ไก่เบตงมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตง โดยนำมาทำเป็นอาหารในครัวเรือนหรือท้องถิ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารการกินของเมืองเบตงที่ขึ้นชื่อ
นอกจากนี้ เบตงยังมีต้นทุนทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ คือ “ดินดี น้ำดี อากาศดี” ส่งผลให้วัตถุดิบต้นทุนทางธรรมชาติมีความโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น การทำการเกษตรจึงได้ผลผลิตดี โดยเฉพาะการปลูกผลไม้ มีทั้งเงาะ มังคุด ลองกอง และที่ที่นิยมที่สุดคือ ทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีความโดดเด่นด้านรสชาติ
การจัดงานครั้งนี้ เทศบาลเมืองเบตงได้นำเอาทุเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมอาชีพ สร้างเป็นเอกลักษณ์ใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างสีสันความหลากหลายในกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “เช็คอิน ชิม ช้อป ของดีเมืองเบตง” อีกด้วย
@@ โรงแรมแน่นเอี้ยด เหลือแต่โฮมสเตย์ คาดเงินสะพัดร้อยล้าน
นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลงานไก่เบตง ตรงกับวันชาติประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 31 ส.ค.นี้พอดี เป็นช่วงเวลาที่ชาวมาเลเซียเรียกกันว่า “Merdeka Day” เป็นวันแห่งอิสรภาพ ชาวมาเลเซียจะได้เฉลิมฉลองในวันหยุดยาวภายในประเทศ และจะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์จำนวนมากเดินทางมาเที่ยวที่เบตง ซึ่งขณะนี้มียอดการจองห้องพักของโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่ล่วงหน้า 2 เดือนเต็มหมดแล้ว จนถึงขณะนี้อาจมีเพียงโฮมสเตย์ หรือที่พักขนาดเล็กที่ยังพอมีห้องพักให้บริการ
“เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของผลไม้ในพื้นที่ด้วย ขอบอกว่านักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบทุเรียนและมังคุดต้องไม่พลาดที่จะมาลิ้มรสสุดยอดผลไม้ไทย และมาชิม ช้อป ของดีเมืองเบตง ใช้เงินคนละ 4,000 – 4,500 บาทต่อคน คาดว่าอำเภอเบตง จะมีเงินสะพัด 100 ล้านบาท ในช่วงของการจัดงานไก่เบตง และช่วงวันหยุดยาวของประเทศมาเลเซีย” อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเบตง กล่าว
@@ ฝ่ายความมั่นคงคุมเข้ม ตรงกับวันสถาปนา “เบอร์ซาตู”
ด้าน พ.ต.อ.สัญญา ทองสวัสดิ์ ผู้กำกับการ สภ.เบตง กล่าวว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบเตรียมความพร้อมประจำการรักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดช่วงการจัดงานไก่เบตง ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาววันชาติมาเลเซีย และตรงกับวันก่อตั้งขบวนการเบอร์ซาตูด้วย จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ป้องกันการสร้างสถานการณ์อย่างเข้มข้น
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการประกวดพันธุ์ไก่เบตง ประกวดธิดาไก่เบตง การประกวด Miss Tourism การประกวดดนตรีเยาวชน การประกวดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง การแข่งขันกินไก่เบตง การแข่งขันกินหมี่เหลืองเบตง การแข่งขันกินวิบาก และนิทรรศการไก่เบตง พร้อมกิจกรรมพิเศษ คือ การสาธิตวิธีการตอนไก่ และบริการตอนไก่ฟรีแก่ผู้ร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ยังมีสินค้าของดีเมืองเบตง การแสดงดนตรีจากศิลปินชื่อดัง อย่าง บ่าววี, วงกางเกง และวงพัทลุง
สำหรับขบวนการเบอร์ซาตู เป็นเหมือน “องค์กรร่ม” ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมากมายหลายขบวนการ จึงไม่มีเอกภาพ ทำให้มีแนวคิดตั้ง “องค์กรร่ม” ขึ้นมา คือ เบอร์ซาตู และดึงตัวแทนทุกขบวนการเข้ามาร่วม เพื่อความเป็นเอกภาพและเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองกับรัฐไทย
“เบอร์ซาตู” หรือที่มีชื่อไทยว่า “ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี” มี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นประธาน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2532 หรือเมื่อ 64 ปีที่แล้ว องค์กรนี้เคยมีบทบาทในการเจรจากับรัฐบาลไทยในบางยุค แต่ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย กระทั่งสุดท้ายค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป เพราะปัญหาการไม่ยอมรับกันเองภายในของขบวนการต่างๆ ขณะที่ ดร.วันกาเดร์ เอง ก็เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 65 ทำให้เชื่อว่าองค์กร “เบอร์ซาตู” ไม่น่าจะมีผลต่อสถานการณ์ชายแดนใต้อีกต่อไป เพียงแต่อาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี อ้างเป็น “วันเชิงสัญลักษณ์” เพื่อก่อเหตุรุนแรงก็เป็นได้