ชาวตันหยงลุโละครึ่งร้อยบุกที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี ทวงถามเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000 บาท หลังลงทะเบียนครบถ้วนแต่ไม่ได้รับ พบข้อมูลบางรายกรรมการหมู่บ้านไม่รับรองทำให้เสียสิทธิ ผู้ว่าฯ สั่งเร่งสอบ สงสัยมีเลือกปฏิบัติ
วันอังคารที่ 2 พ.ค.66 ที่บริเวณหน้าห้องศูนย์ดำรงธรรม ที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ได้มีตัวแทนชาวชุมชนบ้านตันหยงลุโละ ทั้งหมู่ 1 หมู่ 2 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี จำนวนประมาณ 50 คน หอบลูกจูงหลานไปรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีไม่ได้รับเงินเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาท ที่รัฐบาลอนุมัติตามมติ ครม.ในห้วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมหนักที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดของประเทศไทย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมอำเภอได้ออกมารับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจำนวน 24 ราย พบว่ามี 1 รายที่เงินเข้าบัญชีแล้ว จำนวน 5,000 บาท ส่วนบางรายไม่พบข้อมูลในระบบ แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าได้กรอกข้อมูลลงทะเบียนตามขั้นตอนทุกอย่างแล้ว หลายรายมีชื่อในระบบ แต่ขึ้นเครื่องหมายกากบาทสีแดง อาจเป็นเพราะไม่มีการรับรองจากคณะกรรมาการในระดับหมู่บ้าน
ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเมืองปัตตานี จึงได้ออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้ทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอได้รับเรื่องร้องเรียน และเสนอให้นายอำเภอทราบ ขั้นตอนต่อจากนี้ทางศูนย์ดำรงธรรมฯ จะนำเรื่องเอกสารข้อมูลที่ไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้มีการตรวจสอบและบันทึกการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรถึงเหตุผลว่าทำไมถึงไม่รับรอง ทำให้ขาดสิทธิในการได้รับการเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล หลังจากนั้นทางอำเภอจะได้นำข้อมูลหรือคำชี้แจงมาแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบเป็นรายบุคคลต่อไป
นางพาติเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางจังหวัดจะเร่งสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่อย่างไร คาดว่าคงมีอีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน สำหรับพื้นที่ไหนที่มีปัญหาร้องเรียน ต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหลายพื้นที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อในเรื่องการเลือกปฏิบัติของคณะกรรมการหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงที่ผ่านมาไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท และมีหลายพื้นที่น้ำไม่ท่วมบ้าน แต่กลับได้รับการรับรอง ทำให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านต้องทิ้งงานมาร้องความเป็นธรรมจากผู้อำนาจ