แนวคิด "ครัวยังชีพ" ที่กลุ่ม Civic Woman นำโดย โซรยา จามจุรี ใช้วัตถุดิบจากชุมชนชายแดนใต้ ปรุงเป็นอาหารสุกใส่ถุง ใส่ถ้วย นำไปแจกจ่ายชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง ทั้งคนเฒ่าคนแก่ แม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กกำพร้า ปรากฏว่าได้รับการขานรับและสานต่อจากหลายๆ พื้นที่
อย่างโรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิ บ้านปูลากาซิง ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีการเปิดครัวยังชีพและส่งอาหารปรุงสุกไปให้แม่เลี้ยงเดี่ยว รวมถึงกลุ่มเปราะบางรอบโรงเรียน
อาหารที่ปรุงสุกมีทั้งตูปะ หรือตูปัต (ข้าวเหนียวต้มใบกะพ้อ) และแกงมัสมั่นเนื้อ พร้อมปลาแห้งและข้าวสาร โดยมีครูผู้หญิงและสตรีในชุมชนช่วยกันลงมือทำอาหาร
สากีนะห์ ปูแทน เจ้าของโรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิ เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อน "ครัวยังชีพ" โรงเรียนของเธอก่อตั้งโดย อับดุลรอฟา ปูแทน สามีผู้ล่วงลับด้วยสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2556 เธอสานต่อเจตนารมณ์ด้วยการให้เด็กกำพร้าและยากจนเกือบ 200 คนจากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 800 กว่าคนได้เรียนฟรี กินฟรี รับ-ส่งฟรี พร้อมให้ค่าขนมอีกวันละ 10 บาทต่อคน โดยมีคณะครูในโรงเรียนร่วมด้วยช่วยกัน เพื่ออนาคตของเยาวชนเหล่านั้น
รอบๆ โรงเรียนมีครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวและเปราะบางหลายครอบครัว หนึ่งในนั้นคือบ้านของ รอสือนี กาโบะ วัย 33 ปี เธอมีลูก 4 คน เรียนอยู่โรงเรียนของสากีนะห์ 2 คน และลูกแฝดชายหญิงวัย 1 ขวบครึ่งอีก 2 คน
ห้องอาบน้ำที่กั้นด้วยไม้ ไม่มีประตู ตั้งอยู่ปากทางเข้าบ้าน หากเดินตรงต่อไปยังตัวบ้าน ก็จะพบบ้านไม้ในสภาพเกือบพัง มีใต้ถุน ปีนขึ้นบันไดไปจะเจอห้องโล่ง มีผ้ากั้นเป็นมุมที่นอนเอาไว้ ทั้งบ้านไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ถัดไปเป็นชานบ้านที่ผูกเปลผ้าไว้ให้ลูกแฝดได้นอน หากลมพัดแรง ฝนตกหนัก หลังคาก็ถูกพัดปลิว ฝนก็สาดเข้าบ้าน
รอสือนี บอกเล่าชีวิตสุดรันทดด้วยแววตามุ่งมั่นของคนไม่ท้อ...
"ปกติเราจะรับปักคริสตัลผ้าคลุมผม มีเถ้าแก่เอามาให้ปักครั้งละ 5-10 ผืน ค่าปักราคาผืนละ 15 บาท เมื่อปักเสร็จเขาจะมารับ แต่ไม่ได้จ่ายเงินทันที เขาจะจ่ายเมื่อขายผ้าคลุมได้ ที่ผ่านมามีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินค่าจ้างนี้ บวกกับเงินค่าอุดหนุนลูกคนละ 600 บาทต่อเดือน รวม 1,200 บาท นอกนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรอีก เพราะต้องดูแลลูกเล็กอีก 2 คน"
เธอบอกต่อว่า ลูกแฝดตัวเล็ก 2 คน เธอให้กินนมแม่ แต่นมไม่พอ เพราะตัวเธอเองก็ไม่ค่อยได้กินอะไร เธอเปรยว่าอยากให้ลูกได้กินนมอย่างลูกคนอื่นบ้าง ส่วนลูกคนโตอีก 2 คน ทางโรงเรียนปฏิบัติธรรมมูลนิธิช่วยเรื่องอาหารกลางวันและรถรับ-ส่ง
รอสือนี ไม่ได้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่กลับมีชีวิตเหมือนแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากสามีไม่ได้ทำงาน และไม่รับผิดชอบอะไรในครอบครัว ส่วนที่ดินที่เธออาศัยอยู่นี้เป็นของญาติ หากญาติบอกให้ย้ายก็ต้องย้ายออกไป
"ยายเราให้ที่ดินไว้พอปลูกบ้านได้ ก็ต้องยกบ้านหลังนี้ไป แต่เราไม่มีกำลัง ไม่มีเงินจะย้ายออกไป ลำพังจะใช้จ่ายแต่ละวันก็คิดหนักแล้ว" เธอเล่าพลางลูกน้อยฝาแฝดหยิบตูปะเข้าปาก เป็นตูปะจากครัวยังชีพที่ส่งให้ถึงบ้าน
รอสือนี บอกว่า ยังดีที่ลูกเลี้ยงง่าย ไม่งอแง คงรู้ว่าแม่ลำบาก ส่วนใหญ่ก็เล่นกันสองคน ถ้าพี่อยู่ด้วยก็เล่นกัน 4 คน รอบบ้านเธอปลูกผักสวนครัว เป็นรั้วกินได้ ใช้เป็นกับข้าวในบางวัน แม้จะลำบาก แต่เธอก็พร้อมจะสู้ต่อไปเพื่อลูก
ชีวิตของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีอีกมากมาย พวกเธอแต่ละคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยที่ทำได้เพียงแค่ตั้งรับ ความช่วยเหลือจากรัฐหรือผู้ใจบุญเป็นเสมือนหนึ่งน้ำใสไหลเย็นที่หล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราวให้มีกำลังใจ แต่ไม่ได้ยั่งยืน...
ความอยู่รอดของปากท้องด้วยมือของตนเองต่างหากคือความจริง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : "ครัวยังชีพ" ส่งอาหารปรุงสุกสู่กลุ่มเปราะบางชายแดนใต้สู้ภัยโควิด