จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และสถานการณ์ปัจจุบันที่คลายล็อกมา 4 เฟส แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ การช่วยเหลือด้วย "ถุงยังชีพ" ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อบรรเทาทุกข์ขั้นพื้นฐานไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีให้เห็นกันทั่วไป
เพราะการปิดสถานประกอบการ การรณรงค์ให้ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" แม้จะส่งผลดีต่อการยับยั้งโรคระบาด แต่ก็ทำให้พี่น้องคนไทยจำนวนไม่น้อยประสบกับภาวะว่างงาน ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คุณภาพชีวิตประชากรอยู่บนเส้นยากจนอยู่แล้ว จึงยิ่งเหมือนซ้ำเติมความลำบาก จึงเกิดแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ต่อยอดจาก "ถุงยังชีพ" นั่นก์็คือ "ครัวยังชีพ"
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากกลุ่ม Civic Woman เปิดรับบริจาคจากผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อนำไปจัดทำ "ถุงยังชีพ" ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาร อาหารกระป๋อง ตลอดจนเครื่องอุปโคบริโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยแบบผ้า เจลล้างมือ และถุงผ้าจาก UN Woman ด้วย
โดยของที่บรรจุในถุงยังชีพ ทางกลุ่มฯเลือกใช้สินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ทั้งปลากะตัก ปลาแห้งบางตาวา น้ำตาลแว่นจากตาลโตนด น้ำพริกจากกลุ่มเซากูน่า และข้าวสารจากปะนาเระ เพื่อคืนรายได้กลับสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง จากนั้นกลุ่ม Civic Woman ก็ได้นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายตามชุมชนเปราะบางในพื้นที่ชายแดนใต้
ขณะที่ในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปี มัสยิดจะเป็นศูนย์กลางในการทำอาหารละศีลอดเลี้ยงคนในชุมชน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด มัสยิดไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ จึงเป็นที่มาของ "ครัวยังชีพ" ที่กลุ่ม Civic Woman ทำเป็นอาหารปรุงสุกจากเมนูท้องถิ่น ใช้วัตถุดิบในชุมชน ปรุงโดยผู้หญิงในชุมชนนั้นๆ เพื่อนำไปแจกจ่าย และเรียกโครงการนี้ว่า "ครัวยังชีพ"
โซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานกลุ่ม Civic Woman ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) กล่าวว่า โครงการนี้ทำขึ้นภายใต้แนวคิด "ปรุงสุก เมนูพื้นบ้าน วัตถุดิบในชุมชน" โดยเมนูก็เป็นประเภทแกงเลียง ปลาอาจาด แกงมัสมั่นปลา ใช้ปลาจากทะเลปัตตานี ผักจากกาบัง จ.ยะลา เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีพืชผักที่ชาวบ้านปลูก ท้องทะเลมีปลาที่สามารถทำเป็นครัวยังชีพได้ วัตถุดิบทั้งหมดนำมาปรุงสุก ใส่ถุง ใส่ถ้วย แจกแก่พี่น้องมุสลิมและพี่น้องชาวพุทธในชุมชน เพื่อให้ได้ทานอาหารสด มีคุณค่า
ที่ผ่านมาได้แจกในชุมชนโรงอ่าง ชุมชนจะบังติกอ ชุมชนยูโย อ.เมืองปัตตานี ชุมชนปอเนาะบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส ชุมชนยุโป ชุมชนมัรกัส อ.เมือง จ.ยะลา และชุมชนบ้านแยะนอก อ.กาบัง จ.ยะลา
ขณะที่สถานการณ์โรคระบาดยังส่งผลให้การขาย "ปลากุเลาเค็มจากบางตาวา" ที่เป็นรายได้หลักของชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีจำนวนหนึ่งต้องหยุดชะงักไป เหตุนี้ โซรยา และ ลม้าย มานะการ แกนนำเครือข่ายชาวพุทธชายแดนใต้ จึงได้ร่วมกันโพสต์ขายปลากุเลาในเพจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน โดยทุก 100 บาทที่ขายปลากุเลาจากบางตาวา จะหัก 20 บาทสมทบทำถุงยังชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากโลกโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง