หนังสือแจ้ง "หยุดการผลิต" ที่ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม "โรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานี" ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 นั้น
จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับ "ใบเสร็จ" ความล้มเหลวของรัฐบาล และ ศอ.บต. ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะทั้งเสียหาย เสียหน้า และสูญเสียอย่างชนิดที่ว่า...ประเมินมูลค่ามิได้เลยทีเดียว
หากเรื่องนี้ถูกจัดเป็นผลงาน ก็ต้องเป็น "ผลงานชิ้นโบดำ" ที่ไม่ควรนำมาอวดอ้างอีกต่อไป
และผลสะเทือนที่กำลังเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความเชื่อมั่นที่พังทลาย ทั้งๆ ที่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ได้ลดระดับลงมากแล้ว แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบกลับไม่สามารถสร้างโอกาสเพื่อนำพาประชาชนให้ก้าวพ้นเส้นความยากจนไปได้
หนำซ้ำในทางกลับกันยังเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาคนตกงานจากมาเลเซียมากระหน่ำซ้ำเติมให้วิกฤติหนักขึ้นไปอีก...
ย้อนดูความเสียหาย 4 ข้อที่บริษัทฯแจกแจงเอาไว้ จะทำให้ยิ่งมองเห็นภาพชัดขึ้น
1. ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการส่งออกแล้วกว่า 200 ตู้ คิดเป็นส่วนต่างค่าขนส่งที่สูงขึ้นกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ
2. มูลค่าการลงทุนในที่ดิน 211 ไร่ ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
3. เสียโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้
4. สูญเสียเงินลงทุนไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท (อ่านประกอบ : รง.เฟอร์ฯปัตตานีเลิกจ้าง-หยุดผลิต สิ้นหวังแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้)
@@ รัฐเพิ่งตื่นชู "ขนส่งทางราง"
ความเสียหายข้อที่ 1 จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่รัฐบาลรับปากกับทางบริษัทฯ ตั้งแต่ชักชวนกันมาลงทุน ว่าจะหาแนวทางชดเชย-ดูแลให้ แต่ผ่านมาปีกว่า ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับทำอะไรไม่ได้ อ้างอยู่อย่างเดียวว่าติดขัดเรื่องระเบียบกฎหมายของกระทรวงการคลังที่ไม่มีช่องทางให้ชดเชยส่วนต่างค่าขนส่งให้เอกชนด้วยเงินสด
แต่พอบริษัทฯ ออกมาโวยรอบแรกเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : เปิดเอกสาร ศอ.บต.ถึง"ประยุทธ์" บทพิสูจน์ลอยแพ รง.เฟอร์ฯหมื่นล้าน?) ศอ.บต.ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันทีว่า กำลังผลักดันขยายสถานีรถไฟปัตตานี (อ.โคกโพธิ์) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ทางราง ด้วยการขนตู้คอนเทนเนอร์ โดยในช่วงนั้นผู้บริหาร ศอ.บต.คนดังประกาศว่าขอเวลา 3 เดือน ทุกอย่างจบ (อ่านประกอบ : "ดร.เจ๋ง" ขอ 3 เดือนจบปัญหา ดึงการรถไฟฯช่วยลดราคาค่าขนส่ง รง.เฟอร์ฯ)
ผลปรากฏว่าจบจริง เพราะบริษัทฯ ส่งหนังสือแจ้งยุติการผลิต ขณะที่ ศอ.บต.เพิ่งไปร่วมฉลองกิจกรรม 100 ปีรถไฟปัตตานี และเพิ่งจะวาดฝันโครงการขยายสถานีปัตตานีให้รองรับการขนส่งสินค้าทางราง โดยปลายเดือน ม.ค.64 จึงจะเริ่มกระบวนการปรับพื้นที่ (อ่านประกอบ : พลิกโฉมสถานีรถไฟปัตตานี รับโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว จชต.)
แต่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานีรอไม่ไหว ย้ายฐานการผลิตหนีไปแล้ว...
เรื่องนี้สะท้อนถึงความไม่จริงจัง จริงใจของหน่วยงานด้านการพัฒนาอย่าง ศอ.บต.หรือไม่?
@@ ลักไก่ดันที่ดินเอกชน
ความเสียหายข้อที่ 2 ถือเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูญเปล่าอย่างสิ้นเชิง เพราะ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ฯ ไปซื้อที่ดินติดถนนสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ปัตตานี-นราธิวาส) น้ำ-ไฟเข้าถึง เพื่อเตรียมก่อสร้างและขยายโรงงานในเฟสที่ 2 แต่ที่ดินผืนนี้กลับอยู่ในเขตผังเมือง "สีเขียว-ขาว" ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ บริษัทฯได้ร้องขอให้ ศอ.บต.ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับเปลี่ยนผังเมือง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง
ผู้บริหารคนดังของ ศอ.บต.อ้างว่า บริษัทฯไปด่วนตัดสินใจซื้อที่ดินในเขตผังเมืองสีเขียวเอง ทำให้ ศอ.บต.ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้เตรียมที่ดินผืนใหญ่ขนาด 3,000 ไร่เอาไว้แล้ว โดยที่ดินผืนนี้อยู่ในเขตผังเมือง "สีม่วง" แต่บริษัทฯ กลับไม่ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้
แต่ข้อเท็จจริงที่ "ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ตรวจสอบก็คือ ที่ดินผืนที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ ไม่มีถนนที่ได้มาตรฐานเข้าถึง ถนนลาดยางเพิ่งจะสร้างเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา และยังไม่เรียบร้อย ที่สำคัญที่ดินยังอยู่นอกเขตประปา ยังใช้น้ำบาดาลอยู่เลย และยังมีปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบไฟฟ้า รวมทั้งระบบการสื่อสารด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ที่ดินผืนที่ ศอ.บต.เตรียมไว้ เป็นที่ดินของเอกชน เจ้าของเป็นคหบดี ทำธุรกิจรับเหมา และธุรกิจแปรรูปปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหาร ศอ.บต.ในอดีต ขณะที่โครงการส่งเสริมการลงทุนนี้อยู่ในพื้นที่ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาลและ ศอ.บต. โดย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกกำหนดให้เป็น "เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ที่ ศอ.บต.สนับสนุนให้นักลงทุนซื้อที่ดินของเอกชน (ที่สาธารณูปโภคยังไม่พร้อม) โดยอ้างสิทธิประโยชน์จากโครงการพัฒนาของรัฐ (อ่านประกอบ : แกะรอย "ที่ดินร้อยล้าน" อีกหนึ่งปมเหตุ รง.เฟอร์ฯ ย้ายฐานพ้นปัตตานี)
@@ น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง
สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนิ่งเฉยทำเป็น "ทองไม่รู้ร้อน" ไม่ได้ เพราะโครงการ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไม่ใช่โครงการของหน่วยงานระดับพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นโครงการพัฒนาระดับ "เมกะโปรเจค" และเป็น "ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้" ที่รัฐบาลประกาศเองเมื่อปี 59 แถมนายกฯยังลงไปแถลงข่าว "คิกออฟ" ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (อ่านประกอบ : นายกฯลงใต้ชู ศก.สู้ภัยความไม่สงบ ดัน "หนองจิก-เบตง-โกลก" เชื่อมโลกมุสลิม)
ขณะที่ "ข้อร้องขอ" ของเอกชนที่ให้ส่งเสริมการลงทุน ก็ถูกนำเสนอถึงรัฐบาลอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการอุดหนุนส่วนต่างค่าขนส่ง และการเปลี่ยนแปลงผังเมือง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้สัมฤทธิ์ผล แตกต่างจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ ศอ.บต.ผลักดันเต็มกำลัง สามารถเปลี่ยนแปลงผังเมืองได้โดยใช้การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมของจังหวัดเพียงครั้งเดียว (อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์เปลี่ยนผังเมือง "จะนะ" รับนิคมฯ - ชาวบ้านฮือบุกศาลากลางไร้ผล)
ส่วนความพร้อมของพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก็ปรากฏหลักฐาน "ความไม่พร้อม" อย่างชัดเจนจากเอกสารรายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ พื้นที่สามเหลี่ยนเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดน เมืองต้นแแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน เมื่อวันที่ 20 พ.ย.62
เนื้อหาในเอกสารในข้อ 2.2.2 ระบุถึงความต้องการน้ำประปา เนื่องจาก "น้ำบาดาล" ในพิ้นที่บริเวณ ต.บางเขา อ.หนองจิก ไม่มีคุณภาพ บางครั้งไมสามารถใช้งานได้ ศอ.บต.ได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในส่วนที่ต้องขยายเขตประปา แต่ยังไม่มีงบประมาณดำเนินการ นอกจากนั้นอาจต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคอุตสาหกรรม อาทิ ระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น เพื่อวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนของภาคเอกชนในระยะ 2-3 ปีต่อจากนี้ไป
ส่วนเรื่องชดเชยค่าส่วนต่างการขนส่ง เอกสารฉบับเดียวกันในข้อ 2.2.1 ระบุว่า "ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาแนวทางและมาตรการชดเชยค่าขนส่งเพื่อเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังไม่มีการชดเชยค่าขนส่งให้กับภาคเอกชนแต่ประการใด"
ใครได้อ่านข้อความจากเอกสารฉบับนี้แล้ว คงเกิดคำถามเหมือนๆ กันว่า นี่หรือคือพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนที่ ศอ.บต.นำไปชักชวนภาคเอกชนจากนอกพื้นที่ให้มาลงทุนเพื่อหวังเม็ดเงินและการจ้างงาน?
ไม่แปลกที่ผู้บริหารโรงงานเฟอร์นิเจอร์ปัตตานีถึงกับเปรยว่า "เราเจ็บมาก" และว่า "ฝากบอกคนอื่นอย่ามาลงทุนที่ภาคใต้ เพราะมาแล้วจะเจออย่างนี้ เราโดนขนาดนี้แล้วใครจะกล้ามาอีก"