การเร่งผลักดันให้มีการปรับปรุงสถานีรถไฟปัตตานี หรือ "สถานีโคกโพธิ์" สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนระบบการขนส่งขนาดใหญ่ หรือ โลจิสติกส์ ที่จะมารองรับการขนส่งสินค้าคราวละมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมที่ ศอ.บต.ให้การสนับสนุน หรือสินค้าเกษตรตามฤดูกาล ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลผลิตขึ้นชื่อหลายชนิด
ตัวอย่างปัญหาที่เด่นชัดที่สุด คือ การประกาศยุติการผลิตของ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอเชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลงทุนเปิดโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 62 ตามแผนชักชวนนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ โดย บริษัท ซูเพิร์บฯ เข้าไปตั้งโรงงานโดยใช้สถานที่โรงเรียนดอนบอสโก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นโรงงานชั่วคราว จากนั้นก็ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อเตรียมขยายโรงงาน แต่กลับต้องขาดทุุน เพราะรัฐบาลไม่ยอมชดเชย "ส่วนต่างค่าขนส่ง" ตามที่ตกลงกันไว้ และเป็นเงื่อนไขการลงทุนที่เสนอตั้งแต่แรก ส่งผลให้บริษัทฯแบกรับต้นทุนไม่ไหว
ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้รับทราบปัญหานี้ แต่ไม่สามารถเจรจาให้กระทรวงการคลังยอมอนุมัติจ่ายชดเชยค่าขนส่ง ในอัตรา 15,000 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์ได้ เพราะไม่มีระเบียบกฎหมายใดรองรับการชดเชยในรูปเงินสด เหตุนี้ ศอ.บต.จึงเร่งปรับแผนด้วยการใช้รถไฟในการขนส่งแทน โดยมีแผนขยายสถานีนาประดู่ (สถานีรถไฟปัตตานี) เพื่อรองรับการขนส่งทางราง เชื่อมไปยังแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และพื้นที่ EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) โดยมีแผนจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การพัฒนาสถานีรถไฟนาประดู่เป็นความตั้งใจที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะขณะนี้มีเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และในพื้นที่การค้าชายแดนด้วย แต่ปัญหาก็คือในภาคใต้ตอนล่างไม่มีระบบขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มาก่อน จึงต้องใช้การขนส่งทางบก คือทางรถยนต์เท่านั้น ทำให้ต้นทุนสูง
ศอ.บต.จึงได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับปรุงสถานีรถไฟนาประดู่ หรือ สถานีรถไฟปัตตานี ที่ อ.โคกโพธิ์ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายเดือน ม.ค.2564 จะเริ่มมีการปรับพื้นที่แล้ว น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งเรื่องในอนาคต และจะได้เห็นการขนส่่งทางรถไฟในแบบตู้คอนเทนเนอร์ จะมีการขนส่งสินค้าทางการเกษตรรวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ นับเป็นการพัฒนาการที่ดีขึ้นในภาคใต้
นอกจากการเร่งพัฒนาสถานีรถไฟปัตตานีให้เป็นสถานีรถไฟที่มีระบบขนส่งขนาดใหญ่รองรับการขนส่งสินค้าในปริมาณมากแล้ว เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ อ.โคกโพธิ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคส่วนต่างๆ จัดงาน "100 ปี สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์)" ภายใต้โครงการการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในสามจังหวัดภาคใต้ชายแดน ด้วยแพลตฟอร์มขยายผลการท่องเที่ยวมูลค่าสูง : ต่อยอดจาก Pattani Heritage City เพื่อเปิดเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม "ชุมทางหาดใหญ่ – ปัตตานี – นาประดู่ – วัดช้างให้" ในช่วงเดือน ม.ค.2564 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้เห็นว่า เส้นทางรถไฟสายมณฑลปัตตานี เป็นระบบคมนาคมการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สำคัญ
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอโคกโพธิ์ กล่าวว่า สถานีรถไฟหลักประจำจังหวัดปัตตานี คือ สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์) สถานีนาประดู่ และสถานีวัดช้างให้ ด้วยระยะเวลา100 ปีของการมีเส้นทางรถไฟสายหลักพาดผ่าน ได้สร้างความเจริญให้กับพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ รวมถึงส่งผลต่อภาพรวมของจังหวัดปัตตานีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การกระจายความเจริญ ความมั่นคง การเชื่อมต่อคมนาคมทั้งผู้คนและสินค้าตามไปด้วย
การจัดงานครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี อันเป็นการนำประวัติศาสตร์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ และทำให้สังคมได้เห็นถึงการเรียนรู้ตัวตนและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจรากเหง้าและการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัวอีกด้วย