ปรากฏการณ์ของม็อบเด็กและการแสดงออกของนักเรียน นักศึกษา ที่ลุกขึ้นมาท้าทายความเชื่อดั้งเดิมอย่างอุกอาจ ก้าวร้าว และกว้างขวางดังที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน บางคนเปรียบเปรยว่าเป็น wind of change หรือ "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง"
วลีนี้โด่งดังมาจากเพลงสไตล์ เพาเวอร์ บัลลาด อันโด่งดังของวงดนตรีร็อคชื่อก้องจากเยอรมนีที่ชื่อ Scorpions เมื่อปี ค.ศ.1990 เนื้อเพลงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น ย่อโลกให้เล็กลง และสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็พัดผ่าน นำมาซึ่งเสรีภาพ อิสรภาพ และความหวังของอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเพลงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และกำแพงเบอร์ลิน
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย แม้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านอยู่ก็จริง โดยมีสื่อสังคมออนไลน์ หรือ "โซเชียลมีเดีย" เป็นดั่งพาหะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนเป็น "ยาดำ" สอดแทรกเข้ามา นั่นก็คือ "ข่าวปลอม" หรือ "เฟกนิวส์" ซึ่งกระจายตัวอย่างหนัก เพราะถูกบางฝ่ายใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง
wind of change ของเมืองไทย จึงมี wind of fake ผสมปนเปอยู่ด้วย ซ้ำในบางสถานการณ์ยังมีบทบาทเป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนบดบังความหวังที่จะมีอนาคตดีๆ กันเลยทีเดียว
คำถามก็คือ "ข่าวปลอม" ที่ว่านี้แพร่กระจายขึ้นได้อย่างไร การเดินทางของ "ข่าวปลอม" มีประสิทธิภาพแค่ไหน และเราจะออกจากวังวน "เฟกนิวส์" นี้ได้อย่างไร?
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความเพื่อไขข้อข้องใจเหล่านี้...
1. เฟกนิวส์
ในช่วงเวลาวิกฤติหรือในสถานการณ์ตึงเครียด เช่น การชุมนุมทางการเมือง มักมีข่าวปลอมปรากฏอยู่บนโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ ในบางสถานการณ์จึงทำให้เกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้นไปอีก เพราะผู้รับข้อมูลข่าวสารเชื่อในข่าวปลอมซึ่งมักจะกระตุ้นอารมณ์ของผู้คนให้โกรธ เกลียด และไม่พอใจต่อข่าวที่ได้รับ และมักส่งข่าวเหล่านั้นออกไปโดยขาดการตรวจสอบและกลั่นกรอง
1.1 การสร้างข่าวปลอมมีเหตุจูงใจอย่างน้อยที่สุด คือ
- สร้างข่าวปลอมเพื่อความสนุก ขำขัน เพื่อเรียกยอดไลค์ ยอดแชร์
- สร้างข่าวปลอมเพื่อหวังผลทางการเมือง ทั้งการสนับสนุนหรือทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ
- สร้างข่าวปลอมเพื่อหวังผลทางธุรกิจ
- สร้างข่าวปลอมเพื่อหวังชื่อเสียงและผลประโยชน์ทางธุรกิจควบคู่กัน
- สร้างข่าวปลอมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เป็นต้น
1.2 โซเชียลมีเดียมีคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ (ที่เกื้อหนุนให้เกิดข่าวปลอม) คือ
- มีลักษณะเป็นโครงข่ายแบบกระจุกตัว ทำให้ดูเหมือนผู้คนที่อยู่ในโครงข่ายนั้นอยู่ในโลกที่แคบลง เป็นโลกใบเล็กที่ประกอบด้วยคนกลุ่มหนึ่งเชื่อมต่อกันอย่างเหนียวแน่น
- เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนที่มีความชอบที่ใกล้เคียงกันเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
ด้วยความเป็นกลุ่มก้อนของผู้ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน จึงทำให้โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง บันเทิง หรือการติดต่อของผู้คนได้อย่างง่ายดาย
1.3 การที่ผู้คนถูกเชื่อมต่อกันอย่างเหนียวแน่น จึงทำให้การแพร่ข่าวสารภายในกลุ่มตัวเองมีอิทธิพลต่อผู้รับข่าวสารและปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลจากแหล่งอื่น จนทำให้เกิด ปฏิกิริยาห้องสะท้อน หรือ echo chamber effect ได้โดยง่าย
1.4 ความอ่อนไหวต่อเฟกนิวส์
ในบางกรณีมนุษย์มักมีความอ่อนไหวต่อเฟกนิวส์กว่าการใช้หลักเหตุและผลในการแยกแยะข้อมูลที่ได้รับ เพราะเฟกนิวส์มีคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นข่าวที่สร้างความประหลาดใจ เป็นข้อมูลใหม่ที่ผู้คนต้องการอัปเดท และเฟกนิวส์จำนวนมากเป็นข้อมูลกระตุ้นอารมณ์ เฟกนิวส์จึงเป็นข้อมูลที่พร้อมถูกแชร์ต่อได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลนั้นทำให้ตัวเองได้รับเครดิตจากการเผยแพร่ หรือเป็นผู้รู้ เนื่องจากรู้ข่าววงในก่อนผู้อื่นในกลุ่มเดียวกัน
1.5 การได้รับข่าวปลอมที่ซ้ำๆ กันทำให้ผู้ที่อ่อนไหวต่อข่าวปลอมคิดว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ได้รับเป็นข่าวปลอม ทำให้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ปรากฏการณ์ความจริงเทียม" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่มักเชื่อข้อมูลที่ตรงกับความคิดของตนเองเสมอ จากการถูกย้ำด้วยข้อมูลชุดเดียวกันซ้ำๆ กัน
1.6 การเดินทางของเฟกนิวส์
เฟกนิวส์สามารเดินทางได้ไกลกว่า เร็วกว่าและเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าข่าวปกติ การเผยแพร่ข่าวจริงต้องใช้เวลามากกว่าการเดินทางของข่าวปลอมราว 6 เท่าด้วยจำนวนที่เท่ากัน และที่สำคัญคือ ข่าวปลอมที่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองเป็นข่าวที่แพร่ได้กว้างขวาง เร็ว และถึงตัวผู้รับมากกว่าข่าวปลอมอื่นๆ ราว 3 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าข่าวปลอมทางการเมืองได้รับความสนใจและสร้างความสับสนให้กับผู้รับข่าวสารได้มากกว่าข่าวปลอมอื่นๆ
2. การต่อสู้กับข่าวปลอม
ทุกประเทศล้วนประสบปัญหาจากข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดียกันทั้งสิ้น โซเชียลมีเดียจึงถูกขนานนามว่า "เครื่องมือแพร่ความเท็จ" หรือ "เครื่องมือทำลายความจริง" โซเชียลมีเดียจึงเป็นทั้งอาวุธและเครื่องมือสำหรับสื่อสารในเวลาเดียวกัน แต่ผู้คนมักไม่ได้ให้ความสนใจต่อด้านลบของโซเชียลมีเดีย เพราะคาดหวังประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มากจนลืมด้านลบของโซเชียลมีเดียไป
หลายประเทศมีมาตรการในการต่อสู้กับข่าวปลอม เป็นต้นว่า การออกกฎหมาย การขอความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกใช้หลังจากข่าวปลอมได้เกิดขึ้นแล้ว และมักไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างรวดเร็วเท่าที่ควร
เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนต่อข่าวปลอม บางประเทศจึงมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เป็นต้นว่า
- สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนโดยรณรงค์อย่างเข้มข้นถึงพิษภัยของข่าวปลอม เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้เห็นถึงโทษภัยของเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด หรือรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ฯลฯ
- สร้างการรับรู้ให้กับเยาวชนโดยการกำหนดหลักสูตรรู้ทันสื่อในโรงเรียนทุกระดับ (Media literacy) เพื่อให้เด็กได้ซึมซับถึงพิษภัยจากโซเชียลมีเดียและข่าวปลอม และสร้างภูมคุ้มกันให้กับเด็ก
- ใช้เทคโนโลยีการตรวจจับข่าวปลอม ซึ่งต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี เงินทุน และความร่วมมือของเจ้าของแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอีเอส ควรทำงานในเชิงรุก และใช้เวทีระดับภูมิภาค เช่น เวทีอาเซียน ให้เป็นประโยชน์ในการแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และกำหนดมาตรการร่วมกันเพื่อกำจัดข่าวปลอม รวมทั้งสร้างพลังต่อรองกับเจ้าของแพลตฟอร์มที่ส่วนใหญ่มีตัวตนอยู่ในสหรัฐอเมริกาในนามของอาเซียน เป็นต้น
3. โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานภายใต้การสั่งการของอัลกอริทึม โซเชียลมีเดียสามารถเผยแพร่ทั้งข้อมูลข่าวสารและอารมณ์ของผู้คนได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นทั้งอารมณ์ในทางบวกและอารมณ์ในทางลบจึงถูกเผยแพร่ ขยายต่อจนเกินความจริงภายในกลุ่มตัวเอง และอาจมีส่วนหนึ่งเผยแพร่ไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วย
เมื่อใดก็ตามที่เราสร้างอารมณ์เกลียดชัง โกรธ อาฆาตมาดร้าย และโพสต์ขึ้นไปบนโซเชีลมีเดีย สิ่งที่เราจะได้รับการตอบสนองคืออารมณ์เดียวกันกับที่เราโพสต์ขึ้นไป เหมือนการหว่านเมล็ดพืชต้นไม้พิษลงบนดิน เราก็มักจะได้ผลที่เป็นพิษของต้นไม้นั้นเสมอ ข้อมูลข่าวสารขยะที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้จึงวนเวียนอยู่ในกลุ่มของตัวเองในโลกออนไลน์อย่างไม่รู้จบ และอาจลามมาจนถึงโลกแห่งความจริงได้อย่างง่ายดายหากสังคมใดมีผู้คนที่ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยของโซเชียลมีเดียมากเพียงพอ
4. โซเชียลมีเดียคือสื่อที่ขายความสนใจของผู้คนให้กับบริษัทโฆษณา ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน การปลุกระดม ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สร้างความสนใจให้กับผู้คน แม้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ข้อมูลเหล่านี้มักไม่ถูกลบในระยะเวลาอันสั้น เพราะข่าวปลอมคืออาหารอันโอชะของโซเชียลมีเดียและการคอร์รัปชันทางข้อมูล (Information corruption) เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจทางลับที่สร้างความมั่งคั่งแก่โซเชียลมีเดียตลอดมา
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
โลกโซเชียลฯกับปรากฏการณ์ "คอนเฟิร์ม ไบแอส"
สำรวจแนวรบหลังทวิตเตอร์แฉ"ไอโอไทย" ไฉนมีแต่กองทัพที่โดน?