"...โซเชียลมีเดียทุกประเภทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากมันสมองของนักเทคโนโลยีจาก Silicon Valley ไม่ได้มีเจตนาออกแบบมาเพื่อ สร้างความไม่เท่าเทียม เผยแพร่เฟกนิวส์ หรือสร้างความปั่นป่วนต่อสังคม เป็นต้นว่า Facebook และ Twitter ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายประชาธิปไตยและสร้างความเกลียดชัง YouTube ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความคิดสุดขั้วของผู้คน Instagram ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตั้งใจสร้างความเครียดและความกังวลให้กับวัยรุ่น วัยเรียน..."
.................................
1.ความเท็จ
เมื่อปี ค.ศ. 1710 โจนาธาน สวิฟท์ (Jonathan Swift) นักเขียนคนสำคัญชาวไอร์แลนด์และชาวอังกฤษ ได้สะท้อนถึงอิทธิพลของ “การโกหก” เอาไว้ว่า “เมื่อคำโกหกปลิวว่อน ความจริงที่ไร้พลัง จึงค่อยปรากฏขึ้นในภายหลัง”
แม้ว่าเวลาผ่านมาถึงสามร้อยปีเศษ คำพูดของโจนาธาน สวิฟท์ ยังสามารถนำมาใช้กับโลกยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีที่สามารถเผยแพร่ความเท็จได้เป็นอย่างดี คำพูดของโจนาธาน สวิฟท์ แสดงให้เห็นว่า การสร้างความเท็จที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกก็ว่าได้
2.บูลชิท (Bullshit)
นอกจากความเท็จแล้วสังคมมนุษย์ยังเต็มไปด้วย การพูดจาไร้สาระ เพ้อเจ้อ เท็จปนจริงหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “บูลชิท” (Bullshit) ผ่านทางภาษาพูดและภาษาเขียน ปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไปทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์
แม้ว่า การโกหก จะมิได้ถือว่าเป็น บูลชิท แต่เมื่อใดก็ตามที่การโกหกถูกปิดบังด้วยวาทศิลป์และภาษาที่สวยหรู การโกหกนั้นก็จะกลายเป็นบูลชิทไปในทันที คำโกหกกับบูลชิท จึงมักปรากฏอยู่คู่กันเสมอๆในหลายสถานการณ์ตามเจตนาของผู้พูดหรือผู้เขียน
มิใช่ โจนาธาน สวิฟท์ เท่านั้นที่มองเห็นถึงพิษภัยของความเท็จที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ ผู้คนในยุคหลังต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแม้ว่าพวกเขาจะเกิดที่หลัง โจนาธาน สวิฟท์ เกือบสามร้อยปี
เมื่อปี 2014 อัลเบอร์โต แบรนโดลินี(Alberto Brandolini) วิศวกรซอฟแวร์ชาวอีตาลี ได้สรุปถึง การพูดจาไร้สาระ เพ้อเจ้อ เท็จปนจริงหาความน่าเชื่อถือไม่ได้หรือบูลชิท เอาไว้ว่า “ การหักล้างบูลชิท ต้องใช้พลังงานที่มากกว่าพลังงานที่สร้างบูลชิทหลายเท่าตัว” ข้อสังเกตของ อัลเบอร์โต แบรนโดลินี จึงกลายเป็นหลักการที่เรียกว่า “ หลักการของ แบรนโดนิลี” (Brandolini’s principle) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสร้างความเพ้อเจ้อ ไร้สาระ นั้น ง่ายและมีต้นทุนต่ำโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก ต่างจากการลบล้างซึ่งยากที่จะกระทำได้และต้องใช้ความพยายามมากกว่าการสร้างหลายเท่าตัวหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยก็เป็นได้
ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ยูริเอล ฟาเนลลี(Uriel Fanelli) บล็อกเกอร์ ชาวอีตาลี ได้สรุปถึงข้อสังเกตเดียวกันซึ่งแปลความได้ว่า “ คนบ้องตื้นสามารถสร้างบูลชิทได้มากมายกว่าที่ใครๆหวังจะไปลบล้างได้” และกลายเป็น “หลักการของฟาเนลลี” (Fanelli’s principle) ในที่สุด
ทั้ง คำพูดของ โจนาธาน สวิฟท์ หลักการของ แบรนโดนีลี และหลักการของฟาเนลลี พิสูจน์ให้เห็นว่า ความเท็จ ความเพ้อเจ้อ ความไร้สาระ การหลอกลวง ข่าวปลอม เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งในยุคที่เทคโนโลยีที่ยังมีข้อจำกัดและยุคที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเอื้ออำนวยให้ผู้คนสามารถเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ได้ภายในเสี้ยววินาที ทำให้ได้ข้อสรุปว่า
๏ บูลชิท สร้างง่ายกว่าการหักล้าง
๏ บูลชิท ไม่ต้องใช้สติปัญญาในการสร้างมากนัก แต่ต้องใช้สติปัญญามากกว่าในการเก็บกวาดบูลชิทที่มีผู้สร้างขึ้น
๏ บูลชิท แพร่ได้เร็วกว่าความพยายามในการปัดกวาดบูลชิทให้หมดไป
เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเท็จ ความเพ้อเจ้อ ความไร้สาระ การหลอกลวง มีอยู่ทั่วไปรอบตัวเราและได้ถูกเผยแพร่ออกไปจนยากที่จะต้านทานได้ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือนั่นเอง
3.ปรากฏการณ์บน Twitter
Twitter คือหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังที่สุดในการกระจายข่าวสาร ทั้งเรื่องที่เป็น ความจริง ความเท็จ การดูถูกเหยียดหยาม การกลั่นแกล้ง รวมทั้งเรื่องที่อาจถูกเติมเสริมแต่งจากแหล่งข่าวต้นทาง ข้อความหลายข้อความที่ผู้นำประเทศบางประเทศหรือผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนได้ทวีต ออกไปกลายเป็นข้อความเท็จที่ทำให้คนทั้งโลกเชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่าเป็นเรื่องจริงและสร้างความสับสนให้กับผู้ที่ได้รับข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข่าวสารนั้นมีความอ่อนไหวต่อนโยบายด้าน ความมั่นคง เศรษฐกิจและการเมือง ฯลฯ ยิ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้รับข่าวสารเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีการปฏิเสธข่าวหรือให้ข้อมูลจริงในภายหลังก็ตาม แต่การเผยแพร่ข้อความเท็จไปยังคนหมู่มากภายในเสี้ยววินาทีก็ได้สร้างความเสียหายกับบุคคลหรือองค์กรไปเรียบร้อยแล้ว
เหตุการณ์ระเบิดในงานวิ่งมาราธอน ที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2013 คือหนึ่งในตัวอย่างที่ โซเชียลมีเดีย ถูกใช้สร้างความสับสนให้กับสังคมเพราะมีผู้ใช้ Twitter แพร่ข่าวว่า เด็กหญิงอายุ 8 ปี เสียชีวิตจากการระเบิด ขณะที่กำลังวิ่งมาราธอน เพื่อรำลึกถึงเพื่อนร่วมชั้นของเธอที่เสียชีวิตจากการสังหารหมู่เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า เมื่อข้อมูลถูกเผยแพร่ออกไป เรื่องของเธอได้รับความสนใจและแพร่กระจายออกไปราวกับไฟลามทุ่ง มีผู้แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของเธอเป็นจำนวนมากและกลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าข่าวของสื่อหลักหลายต่อหลายแห่ง
แต่เนื้อหาของข่าวการเสียชีวิตของเธอมิได้รอดพ้นสายตาของนักอ่านช่างสงสัย เพราะการวิ่งมาราธอนดังกล่าวไม่อนุญาตให้เด็กร่วมแข่งขันและข่าวที่ปรากฏเป็นการวิ่งคนละงาน เมื่อมีข้อสงสัยจึงมีการตรวจสอบผ่าน เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวลือ จนพบว่า ไม่มีเด็กหญิงเสียชีวิตในการวิ่งมาราธอนดังกล่าวและเด็กหญิงไม่ได้ร่วมวิ่งในงานนั้น
เมื่อทราบข้อเท็จจริงผู้ใช้ Twitter จำนวนหนึ่งได้พยายามแก้ข่าวโดยมีการทวีตข้อความจำนวน 2, 000 ครั้ง เพื่อหักล้างข้อมูลที่มีผู้ส่งไปบน Twitter ก่อนหน้า แต่การแก้ข่าวไม่เป็นผลสำเร็จเพราะผู้ใช้ Twitter ถึง 92,000 คนได้ ทวีต ข้อความเท็จออกไปแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tweeter คือการยืนยันว่า คำพูดของ โจนาธาน สวิฟท์ หลักการของ แบรนโดนีลี และหลักการของฟาเนลลี เป็นความจริงที่ยากที่จะปฏิเสธได้และเป็นความจริงอีกเช่นกันที่ผู้ที่ต้องการจะหักล้างความเท็จมักจะอยู่ในฝั่งที่เสียเปรียบแก่ผู้ที่สร้างความเท็จเสมอ จากพลังของความนิยมเชิงปริมาณ(Quantitative evidence) โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการปล่อยข่าว
นักวิจัยจาก Facebook ได้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันบนแพลตฟอร์มของ Facebook เอง โดยพบว่า ข่าวลือเทียม(False rumor) มักจะแพร่ไปเร็วกว่าข่าวลือจริง(True rumor) เสมอ
4.วงจรที่โหดร้าย
ก่อนเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อที่ถือได้ว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะเนื้อหาสาระของข้อมูลมาจากปลายปากกาและคำพูดของ นักเขียน นักข่าว ที่มีตัวตนและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนทั่วไปและข้อมูลยัง ถูกกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการที่ผ่านประสบการณ์การทำสื่อมาอย่างโชกโชนด้วยความเป็นมืออาชีพ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ข่าวสารรอบตัวเรากลายเป็นข่าวสารจากคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักทั้งจากแหล่งข่าวที่เป็นมนุษย์ด้วยกันเองและเครื่องมือสร้างข่าวสารระบบอัตโนมัติที่เรียกกันว่า “ปัญญาประดิษฐ์”
ผู้บริโภคสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียจึงถูกอิทธิพลจากปลายนิ้วที่มองไม่เห็นครอบงำโดยไม่รู้ตัว เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างข่าวและผู้บริโภคข่าวได้ในเวลาเดียวกัน โซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็น สื่อสายพันธุ์ใหม่ที่มีพลังและสร้างความท้าทายต่อสื่อ กระแสหลัก สถาบันทางสังคมและความเชื่อต่างๆที่ยืนยงคู่ประเทศมาอย่างยาวนานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ข่าวสารมากมายบนโซเชียลมีเดียเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวและสร้างปัญหาแก่สังคมด้วยเจตนาของผู้ปล่อยข่าวและข้อมูลไม่น้อยที่พรั่งพรูมาจากโซเชียลมีเดียคือข้อมูลประเภทบูลชิท ซึ่งถูกนำไปใช้ประโยชน์กับ ธุรกิจขายความสนใจ(Attention economy) และเป็นแหล่งทำเงินของเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตลอดมา แม้ในบางกรณีแพลตฟอร์มเหล่านี้จะถูกข้อครหาว่าเป็นการทำธุรกิจด้วยวิธี คอร์รัปชั่นทางข้อมูล(Information corruption) ก็ตาม
อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีผลกระทบต่อคนทั้งโลกซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการเสพติดทางพฤติกรรมทำให้เราต้องหันไปเช็คโทรศัพท์ตลอดทั้งวันอย่างไร้เหตุผลแล้ว ยังได้สร้างความ
รู้สึกถึงสถานะ ความเป็นปัจเจกบุคคล ความเป็นกลุ่มก้อนและการแบ่งขั้วทางความคิด ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อย่างชัดเจน จนดูเหมือนว่าสังคมโลกกำลังถูกแบ่งออกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย
ปรากฏการณ์การแสดงออกของผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ปรากฏการณ์การของ กระจายอำนาจ (Decentralized effect) ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นแรงผลักดันสำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของสื่อโซเชียลทั้งในทางที่เป็นคุณและผลกระทบในทางลบที่กำลังกัดกร่อนสังคมลงทุกวันโดยไม่มีใครคิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
5.สื่อไร้หัวใจ
โซเชียลมีเดียรู้จักตัวตนของเรามากกว่าที่เราคิด เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราล็อกอินเข้าไปยังโซเชียลมีเดีย อัลกอริทึม(Algorithm : ลำดับคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน) ของโซเชียลมีเดียจะสนใจในทันทีว่า เรากำลังอ่านอะไร อ่านนานเท่าไร เป็นเพื่อนกับใคร ชอบข้อมูลประเภทไหน ฯลฯ และพร้อมที่จะป้อนข้อมูลที่คิดว่าเราชอบหรืออยากอ่านมาให้ตลอดเวลาที่เราเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียนั้นและเมื่อใดก็ตามที่เราหายหน้าไป อัลกอริทึมซึ่งเป็นความลับของเจ้าของแพลตฟอร์มมักจะถวิลหาเราอยู่เสมอโดยการส่งข้อความทักทายไม่ขาดระยะด้วยการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ตลอดทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีการหยุดพัก ซึ่งแปลว่าทุกวินาทีที่เราอยู่บนโลกโซเชียลมีเดีย เรากำลังถูกบงการด้วยอัลกอริทึมที่ เราไม่รู้จัก ไม่มีชีวิตจิตใจและไร้ซึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีดังเช่นมนุษย์
การที่เราเข้าไปอยู่ในวงจรของโซเชียลมีเดีย เราจึงถูกควบคุมด้วยปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ปัจจัยด้วยกันคือ
๏ ถูกควบคุมด้วย เนื้อหาของข้อมูล(Content)ที่ผู้สร้างข้อมูลต้องการสื่อให้เห็น
๏ ถูกควบคุมด้วย อัลกอริทึมของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย
๏ ถูกควบคุมด้วยความเห็นจากผู้สนับสนุน(Back up)
ทันทีที่เราได้อ่าน พาดหัว เนื้อหา หรือกดไลก์หรือแชร์ข้อมูลที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียจะพยายามป้อนข้อมูลที่ใกล้เคียงหรือเหมือนกับข้อมูลที่เราให้ความสนใจให้กับเราตลอดเวลาอย่างไม่หยุดหย่อน โดยการพยากรณ์จากข้อมูลที่เราป้อนเข้าไปและพยายามยัดเยียดสิ่งที่อัลกอริทึมคิดว่าเราอยากอ่านหรืออยากได้ยินเพื่อให้เราใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียนั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อหวังผลจากรายได้จากการโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของโซเชียลมีเดีย
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องตกอยู่ในกับดักทางความเชื่อ คือ อัลกอริทึมจะกีดกันไม่ให้เรามองเห็นข้อมูลชุดอื่นที่ต่างจากข้อมูลที่อัลกอริทึมกำลังแสดงให้เราเห็น ดังนั้นความสนใจของเราจึงถูกควบคุมด้วยอัลกอริทึมนั้นๆอย่างไม่มีทางเลี่ยง ผ่านกลไกประเภท Recommendation engine หรือกลไกอื่นที่คล้ายๆกัน
การเข้าไปอยู่ในวงจรที่ถูกควบคุมด้วยอัลกอริทึมด้วยการคลิกและอ่านข้อความบนจอที่เราให้ความสนใจ จึงเป็นเสมือนการเข้าไปอยู่ในวงจรของกลุ่มคนที่คิดแบบเดียวกันหรือเข้าไปอยู่ในห้องเสียงสะท้อน(Echo chamber) ที่ทุกคนคิดหรือมีความเห็นไปในทางเดียวกันด้วยการจัดการของอัลกอริทึมและมักจะปฏิเสธความเห็นที่แตกต่างแม้ว่าจะมีข้อมูลอื่นยืนยันว่าความเชื่อที่อยู่ในห้องเสียงสะท้อนนั้นไม่เป็นความจริงก็ตาม
นอกจากนี้การถูกเน้นย้ำด้วยข้อมูลชุดที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับความเชื่อเดิมของตัวเองหรือข้อมูลที่ได้รับมาก่อนหน้าที่เรียกว่า ความลำเอียงเพื่อการยืนยัน( Confirmation bias) จึงเป็นการย้ำความเชื่อที่ทำให้ยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรความคิดเดิมเพื่อแสวงหาความจริงซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งและ Confirmation bias คือ ตัวเร่งสำคัญให้มีการแพร่ข้อความที่ไม่ถูกต้อง(Misinformation) ไปบนโลกอินเทอร์เน็ต
สิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อของผู้คนให้ทวีขึ้นไปอีก คือ การกดไลก์ กดแชร์และ ความเห็น จากผู้สนับสนุน (Back up) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมสูง หรือผู้มีชื่อเสียง เช่น นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ยิ่งทำให้ความเชื่อเหล่านี้ฝังแน่นจนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
6.ของฟรีไม่มีในโลก
การที่โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ขาดการกลั่นกรอง โซเชียลมีเดียจึงเป็นสื่อที่มีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของข้อมูลและอาจไม่เหมาะกับการใช้งานสำหรับทุกคนที่สามารถเข้าถึงสื่อประเภทนี้ได้
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เมื่อปี 2016 จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับมัธยมต้นจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย พบว่า เยาวชนจำนวนมาก ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการตั้งคำถาม ถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ความเที่ยงตรงของข้อมูล รวมทั้งคุณภาพ ของข่าวสาร ที่พบบนโลกออนไลน์ (เอกสาร อ้างอิง 4)
การใช้โซเชียลมีเดียโดยขาดการชี้แนะและขาดภูมิคุ้มกันที่มากพอจึงเป็นช่องว่างที่ผู้หวังผลประโยชน์ทุกฝ่ายใช้เป็นช่องทางหาประโยชน์ให้กับตัวเองในทางหนึ่งทางใดได้อย่างง่ายดาย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นวิธีที่มักกระทำกันคือการโยนความผิดให้เครื่องจักรอัตโนมัติอยู่เสมอโดยปราศจากคำอธิบายใดๆ
นอกจากนี้ปรากฏการณ์ Filter bubble ที่คนบางกลุ่มปฏิเสธและปิดกั้นการรับชุดข้อมูลที่แตกต่างจากความเชื่อของตัวเองทำให้สังคมนั้นๆอยู่ในสภาวะความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อปฏิกิริยาโต้ตอบ หากความเชื่อเหล่านั้นเป็นประเด็นที่มีความเปราะบางต่อการกระตุ้นอารมณ์ของผู้คนซึ่งอาจสร้างความโกรธเคืองจนนำไปสู่การต่อต้านและเกิดความแตกแยกของสังคมในทุกระดับได้
โซเชียลมีเดียทุกประเภทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากมันสมองของนักเทคโนโลยีจาก Silicon Valley ไม่ได้มีเจตนาออกแบบมาเพื่อ สร้างความไม่เท่าเทียม เผยแพร่เฟกนิวส์ หรือสร้างความปั่นป่วนต่อสังคม เป็นต้นว่า
Facebook และ Twitter ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายประชาธิปไตยและสร้างความเกลียดชัง
YouTube ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความคิดสุดขั้วของผู้คน
Instagram ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตั้งใจสร้างความเครียดและความกังวลให้กับวัยรุ่น วัยเรียน
แต่ความโกลาหลบนโลกนี้เกิดขึ้นจากผลข้างเคียง (Side effect) ของโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนหวังใช้ประโยชน์ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกันโดยการสั่งการของปัญญาประดิษฐ์ภายใต้โมเดลทางธุรกิจที่ขายความสนใจของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จึงทำให้โลกนี้กลายเป็นโลกที่สับสนวุ่นวายจากข้อมูลข่าวสารที่มากเกินความพอดีและการหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีในทุกรูปแบบจนยากที่จะทำให้สังคมกลับคืนสู่ความสงบดังเดิมได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือราคาที่สังคมต้องจ่ายเพื่อแลกกับการได้ใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นของฟรี ทั้งๆที่เราต้องแลกมาด้วยการสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่สูงยิ่ง เทคโนโลยีจึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการแก้ปัญหาบางอย่างให้กับมนุษย์ ในขณะเดียวกันกลับสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่งให้กับมนุษย์จนยากที่จะแก้ไขและอาจพูดได้ว่าเทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาทุกปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จอย่างที่นักเทคโนโลยีพยายามโน้มน้าวให้เราเข้าใจ
อ้างอิง
2. “ว่าด้วยเรื่อง Bullshit” โดย วรากรณ์ สามโกเศศ https://www.the101.world/on-bullshit/
3. Calling Bullshit โดย Carl T. Bergstrom และ Javin D.West
4. The Psychology of Silicon Valley โดย Katy Cook
ภาพประกอบ https://www.heinzmarketing.com/2018/02/dark-side-social-media-three-challenges-six-solutions/