ในยุคที่การรับรู้ข่าวสารผ่านโลกออนไลน์ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ทำให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงและคัดกรองกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย ทำให้การค้าขายการประสบความสำเร็จมากขึ้น
ต่อมามีกลุ่มการเมืองเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพในการเข้าถึงผู้คน จึงใช้วิธีเดียวกันบ้าง แต่กลับทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Echo chamber หรือ "ห้องเสียงสะท้อน" และบานปลายกลายเป็น Confirmation bias
เมื่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่มบางฝ่ายชิงจังหวะใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นอาวุธห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม ท่ามกลางสมรภูมิการต่อสู้ทั้งโลกจริงและโลกเสมือนอย่างดุเดือดเลือดพล่านเพื่อให้ได้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดภาวะการปล่อยข้อมูลข่าวสารตัดตอนแบบตอกย้ำเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง และขณะเดียวกันก็ทำลายคู่แข่งทางการเมืองไปด้วยในตัว รวมทั้งปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านอื่นๆ ของกลุ่มเป้าหมายอีกต่างหาก ปรากฏการณ์นี้ในทางวิชาการเรียกว่า Echo chamber หรือ "ห้องเสียงสะท้อน"
นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสื่อสาร อย่าง พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร อธิบายว่า มีปัจจัยในการสื่อสารหลักๆ เพียงไม่กี่ข้อที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ห้องเสียงสะท้อน" เริ่มจากการสร้างเนื้อหา หรือ content เพื่อสื่อสารกับคนในกลุ่มเป้าหมาย เมื่อได้เนื้อหาที่ต้องการ ก็ส่งออกไปตามช่องทางสื่อออนไลน์ จากนั้นก็นำ "ระบบอัลกอรึทึม" ที่จัดทำขึ้นมาเข้าไปคัดแยก เพื่อส่งสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เมื่อผู้รับข่าวสารเข้ามากดไลค์ แชร์ หรือแสดงความเห็น "ระบบอัลกอรึทึม" ก็จะทำหน้าที่เหมือน "ตะกร้าคัดกรอง" พร้อมแบ่งแยกกลุ่มบุคคลที่ "เห็นด้วย" และ "เห็นต่าง" ออกจากกันทันที
"ระบบอัลกอรึทึมทำให้เกิดการแบ่งขั้วกัน เนื่องจากระบบนี้จะมีการแบ่งแยกความคิดเห็นของคนแต่ละกลุ่มออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งเดิมใช้ในเรื่องธุรกิจการค้า เพื่อแยกแยะกลุ่มเป้าหมาย ต่อมามีกลุ่มการเมืองมองเห็นถึงความสำคัญ และอาศัยความได้เปรียบจุดนี้ไปใช้ในทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ แล้วระบบระบบอัลกอรึทึมมักจะใช้ในด้านการตลาดทางธุรกิจมากกว่า"
"เมื่อมีการใช้ระบบอัลกอริทึมมาใช้ในทางการเมือง สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการวิเคราะห์ แยกแยะ และบริโภคสื่อด้วยความรู้เท่าทัน เพราะข้อมูลจำนวนไม่น้อยสามารถสร้างความเกลียดชังได้ ซึ่งหากมองในแง่ของพัฒนาการ อาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงกาาพัฒนาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ตามยุคตามสมัย และต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้" พันธ์ศักดิ์ กล่าว
เมื่อมีการแบ่งแยกกลุ่มคน "เห็นด้วย" และ "เห็นต่าง" ออกจากกัน ก็จะมีการส่งข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อตอกย้ำให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเป็นข้อมูลที่ตรงกับรสนิยมและความคิดความเชื่อของคนกลุ่มนั้น จนเกิดการรับรู้ที่มีความลำเอียงทางข้อมูล หรือทีเรียกว่า Confirmation bias ของผู้ที่ได้รับข่าวสาร และนำไปสู่การปิดประตูกั้นข้อมูล หรือที่เรียกว่า Filter bubble จากแหล่งข้อมูลอื่น โดยคนที่จะมาตอกตะปูซ้ำก็คือ กลุ่มที่เรียกว่า "ผู้สนับสนุน" หรือ Back up นั่นเอง
"จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2016 พบว่านักเรียนระดับมัธยมจนถึงระดับนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อหาข่าวกับเนื้อหาที่มาจากจากสปอนเซอร์ได้ ทั้งยังไม่สามารถแยกแยะหลักฐานจากแหล่งข่าวหรือแม้แต่การประเมินข้ออ้างต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ได้ ว่าเรื่องไหนเป็นข้อเท็จจริง เรื่องไหนเป็นการตลาด ซึ่งหมายความว่าเยาวชนจำนวนมากยังไม่มีความพร้อมในการตั้งคำถาม หรือสอบทานถึงที่มา ความเที่ยงตรง รวมทั้งคุณภาพของข่าวสารบนโลกออนไลน์ ซ้ำยังเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Filter bubble ที่กลุ่มคนปฏิเสธการรับชุดข้อมูลที่แตกต่างจากความเชื่อของตัวเอง จนทำให้เกิดความโกรธแค้นของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย นำไปสู่ความแตกแยกของสังคม และเกิดปรากฏการณ์คุกคามทางออนไลน์ตามมา" พันธ์ศักดิ์ อธิบาย
บทสรุปจากการเชื่อมโยงพัฒนาการของการใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองก็คือ ปรากฏการณ์ "ห้องเสียงสะท้อน" ซึ่งนำมาสู่สภาวะ "ความลำเอียงทางข้อมูล" และนำไปสู่การปฏิเสธรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้สนับสนุน หรือ Back up ในหลายๆ กรณี ยังเป็นกลไกที่สร้างขึ้นเพื่อผลทางจิตวิทยา เช่น การใช้แอคเคาท์ "อวตาร" หรือ "แอคฯหลุม" ในการกดไลค์ กดแชร์ รีทวีต หรือปั่นแฮชแท็ก เพื่อสร้างกระแสความนิยม จนเกิดความลำเอียงทางข้อมูลมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไซเบอร์บ้านเรา คำถามก็คือเราจะปล่อยให้ปรากฏการณ์ลักษณะนี้เดินต่อไปถึงไหน เพราะมันคือ "ระเบิดเวลา" ที่กำลังนับถอยหลังไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่และอาจบานปลายกลายเป็นความรุนแรง
-----------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ม็อบเด็ก-เยาวชนระบาด... ข้อมูล"อสมมาตร"ปั่นขัดแย้ง?