“…รฟท. เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องการดำเนินกิจการ หรือลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะต้องชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอื่น ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน…”
...................................
จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พร้อมทั้งจัดส่งรายงานฯฉบับนี้ไปให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ‘ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน’ แล้ว
โดยรายงานฉบับดังกล่าว สตง.ตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 10 เดือน ทำให้การก่อสร้างและการเปิดให้บริการเดินรถของโครงการฯล่าช้า ส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะต้องชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอื่นๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
นอกจากนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการฯของเอกชนคู่สัญญา โดยการปรับการชำระเงินโดยรัฐต้องจ่ายเร็วขึ้น และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ รฟท. ยังไม่ได้รับการชำระจากเอกชนคู่สัญญามีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนบางส่วน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการลงทุนและลดภาระทางการเงินและการคลังของรัฐและวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงให้เอกชน
อีกทั้งจะทำให้ รฟท. และรัฐเสียโอกาสในการนำเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ เพื่อไปใช้สำหรับการบริหารงานหรือดำเนินโครงการอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน นั้น (อ่านประกอบ : สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุป 'รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน' -ของ สตง. มีรายละเอียด ดังนี้
@ตรวจสอบ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เหตุกระทบ‘ฐานะการคลัง’
ที่มา
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (โครงการฯ) เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เชื่อมต่อ 3 สนามบินในเขตกรุงเทพมหานคร และ EEC ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ
รวมถึงพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (Transit Oriented Development : TOD) ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่มักกะสันและศรีราชา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง กรุงเทพมหานครกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และดำเนินกิจการทางพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟและการให้บริการผู้โดยสาร
คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินโครงการฯ มูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท กรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท ซึ่ง รฟท. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562
โดยเอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ ตามที่ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ซึ่งออกโดย รฟท. โดยมีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการให้ครบถ้วน
สำหรับการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน ดังนี้ (1) รฟท. ส่งมอบพื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟให้แก่เอกชนคู่สัญญา ได้แก่ พื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (นอกเมือง) (2) รฟท. ส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ได้แก่ พื้นที่มักกะสันและศรีราชา และ (3) เอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการฯ ดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ หรือโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชน หรือเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP)
โดยตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ตัวแทนของเอกชนคู่สัญญา และที่ปรึกษาโครงการฯ รวมถึงสังเกตการณ์พื้นที่โครงการฯ ปรากฏผลการตรวจสอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการดำเนินงานโครงการฯ ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดดังนี้
@พบ‘โครงการฯ’ล่าช้ากว่าแผนไม่ต่ำกว่า 2 ปี 10 เดือน
ข้อตรวจพบ
การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่สามารถเริ่มต้นดำเนินโครงการฯ ได้ โดยล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 10 เดือน (วันที่ 24 ต.ค.2564-วันที่ 28 ส.ค.2567) โดยมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการในพื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (นอกเมือง)
พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (พื้นที่มักกะสันและ ศรีราชา) และการดำเนินการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการดำเนินการในพื้นที่อื่นล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การดำเนินการในพื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา (นอกเมือง) ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด โดยที่ผ่านมา ภายหลังจากเอกชนคู่สัญญาได้รับเอกสารการส่งมอบพื้นที่จาก รฟท. เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ได้จัดทำแผนร่วมกันสำหรับลงสำรวจพื้นที่และใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลที่มีจำนวนมากก่อนลงนามในเอกสารการตรวจร่วม
และจัดทำบันทึกข้อตกลงที่เอกชนคู่สัญญาตกลงและยินยอมรับมอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ทำให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ตามสัญญาร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน (วันที่ 24 ต.ค.2564-7 มิ.ย.2567)
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาการเวนคืนบริเวณหมู่บ้านประชาสุข 6 ที่ รฟท. ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในการรื้อถอนได้สำเร็จ และปัญหาเอกชนคู่สัญญาของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีการปรับเปลี่ยนแผนแม่บท ทำให้ตำแหน่งสถานีและแนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปลี่ยนแปลงไป
2.การดำเนินการในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (พื้นที่มักกะสันและศรีราชา) ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด โดยที่ผ่านมา รฟท. ส่งมอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 และเอกชนคู่สัญญาตกลงและยินยอมรับมอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ทำให้การส่งมอบพื้นที่เสร็จสิ้นและสมบูรณ์ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี 8 เดือน (วันที่ 24 ต.ค.2564-7 มิ.ย.2567)
ยกเว้นการจัดหาพื้นที่ทดแทนพื้นที่ส่วนที่เป็นลำรางสาธารณประโยชน์ โดยต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน ซึ่ง รฟท. อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนคู่สัญญา โดยเบื้องต้นจะพิจารณาพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่ TOD เป็นพื้นที่ทดแทน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากเอกชนคู่สัญญาพบว่าในโฉนดที่ดินมีการระบุลำรางสาธารณประโยชน์ จำนวน 2 ลำราง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ ให้เต็มศักยภาพ และการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย
โดยมีสาเหตุจาก รฟท. ตรวจสอบพื้นที่จากผังกรรมสิทธิ์ที่อ้างอิงจาก พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่มีข้อมูลครอบคลุมถึงทางสาธารณประโยชน์หรือลำรางสาธารณประโยชน์ เทียบเท่ากับโฉนดที่ดินที่เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนที่จะออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ประกอบกับการศึกษาเกี่ยวกับการใช้พื้นที่และความพร้อมของพื้นที่ที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ ในรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ (ฉบับสมบูรณ์) ยังไม่ครอบคลุมเรื่องกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ TOD
นอกจากนี้ เอกชนคู่สัญญาได้ร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพบึงเสือดำ ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่มักกะสัน และเป็นพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำฝน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบและรับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เก็บกักนํ้าทดแทนบึงเสือดําแล้ว
@เอกชนมีปัญหาจัดการ‘แหล่งทุน’ขอรัฐจ่าย‘เร็วขึ้น’
3.การดำเนินการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟยังไม่แล้วเสร็จ เอกชนคู่สัญญามีความเห็นว่าข้อมูลที่สำคัญของโครงการฯ บางส่วนมีความไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถระบุข้อมูลโครงการฯ เช่น ข้อมูลเรื่องแหล่งเงินกู้ที่คาดว่าจะได้รับ เนื่องจากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ และปัญหาโครงสร้างโยธาร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้ไม่สามารถระบุแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน
โดยปัญหาการจัดหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของเอกชนคู่สัญญา เกิดจากสมมติฐานทางการเงินของโครงการฯเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีสาเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับ ในขณะนั้น รฟท. ก็ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้เสร็จสิ้นและสมบูรณ์
โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตกลงปรับวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (Public Investment Cost: PIC) ทั้งโครงการ จำนวนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท โดยรัฐต้องจ่ายเร็วขึ้น จากเดิมกำหนดชำระเงินเมื่อก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการเดินรถของโครงการฯ แล้ว
และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของเอกชนคู่สัญญาให้แก่ รฟท. จำนวน 10,671.09 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 7 งวด จากเดิมกำหนดชำระงวดเดียวภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขหลักการหรือเงื่อนไขของโครงการฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ปัญหาโครงสร้างโยธาร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งต้องให้ใช้โครงสร้างร่วมกัน แต่กำหนดความเร็วการเดินรถสูงสุดและมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างที่แตกต่างกัน ซึ่งมีสาเหตุเกิดจาก รฟท. ไม่ได้นำรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มาประกอบการพิจารณาจัดทำโครงการฯ
ทั้งนี้ รฟท. ได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างโยธาร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยฝ่ายจีนตกลงปรับงานออกแบบรายละเอียดความเร็วที่ใช้เดินรถ แต่ต้องให้ฝ่ายจีนพิจารณาก่อนเพื่อรักษาความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับมาตรฐานทางเทคนิคของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
@‘คู่สัญญา’ยังไม่จ่ายค่า‘แอร์พอร์ต เรลลิงก์’เหตุขาดสภาพคล่อง
4.การดำเนินการในพื้นที่อื่นล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด การส่งมอบพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (สถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ) ให้เอกชนคู่สัญญายังไม่เสร็จสมบูรณ์และครบถ้วน โดยล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 10 เดือน (วันที่ 24 ต.ค.2564-วันที่ 28 ส.ค.2567) และการส่งมอบพื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย (ช่วงพญาไท-ดอนเมือง) ให้เอกชนคู่สัญญายังไม่เสร็จสิ้นและสมบูรณ์
โดย รฟท. ส่งมอบพื้นที่ และยินยอมให้เอกชนคู่สัญญาสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2565 แต่ยังไม่เสร็จสิ้นและสมบูรณ์ เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และเอกชนคู่สัญญายังไม่ตกลงรับมอบพื้นที่ ทำให้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 เดือน (วันที่ 24 ต.ค.2566-วันที่ 28 ส.ค.2567) รายละเอียดดังนี้
4.1 พื้นที่ของโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (สถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ) พบปัญหาการดำเนินการของงานระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของเอกชนคู่สัญญา ล่าช้า โดยสาเหตุเกิดจากเอกชนคู่สัญญาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และความล่าช้าในการสั่งซื้อและจัดส่งอุปกรณ์บางรายการ
ประกอบกับเอกชนคู่สัญญาขาดบุคลากรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการจัดเตรียมเอกสารทางเทคนิค รวมทั้งปัญหาเอกชนคู่สัญญายังไม่ชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้แก่ รฟท. อันเนื่องมาจากเอกชนคู่สัญญาประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาการจัดหาแหล่งเงินทุน
4.2 พื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย (ช่วงพญาไท-ดอนเมือง) พบปัญหาความล่าช้าในการขอใช้พื้นที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โดยสาเหตุเกิดจากการศึกษาและสำรวจข้อมูลพื้นที่ที่ถูกเวนคืนในรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ (ฉบับสมบูรณ์) ยังไม่ครอบคลุมรายละเอียดของที่ดินมากเพียงพอ จึงต้องชะลอการดำเนินการก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะได้รับพระบรมราชานุญาต
ในส่วนการรื้อย้ายระบบบำบัดน้ำเสียของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บริเวณคลองสามเสน ยังไม่เริ่มต้นดำเนินการ เกิดจากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบรวบรวมน้ำเสียโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงของ กรุงเทพมหานครมีความล่าช้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ รวมถึงการขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณล่าช้า
นอกจากนี้ ยังมีความล่าช้าในการขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการ ซึ่งยังไม่เสนอวาระดังกล่าวต่อสภากรุงเทพมหานคร ในขณะที่การรื้อย้ายท่อขนส่งน้ำมันของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด พบว่า การก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันใหม่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการทดสอบท่อขนส่งน้ำมันและบ่อวาล์วช่วงสุดท้าย ซึ่งดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้
เนื่องจากในระหว่างดำเนินการขุดเจาะ บริษัทฯ พบปัญหาอุปสรรคนอกเหนือจากการคาดการณ์ เช่น อุปสรรคฐานรากคอนกรีตใต้ดิน ระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
@ชี้‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ล่าช้า เสี่ยงทำให้รัฐจ่ายค่าชดเชยฯ
การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยการเริ่มต้นดำเนินโครงการฯล่าช้า ทำให้การก่อสร้างและการเปิดให้บริการเดินรถของโครงการฯ ล่าช้า
ส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และ รฟท. เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องการดำเนินกิจการ หรือลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะต้องชดเชยความเสียหายจากการดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอื่น ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
นอกจากนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการฯ ของเอกชนคู่สัญญา โดยการปรับการชำระเงินโดยรัฐต้องจ่ายเร็วขึ้น และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ รฟท. ยังไม่ได้รับการชำระจากเอกชนคู่สัญญา มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนบางส่วน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการลงทุนและลดภาระทางการเงินและการคลังของรัฐและวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงให้เอกชน
อีกทั้งจะทำให้ รฟท. และรัฐเสียโอกาสในการนำเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ เพื่อไปใช้สำหรับการบริหารงานหรือดำเนินโครงการอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเชิงป้องกัน เพื่อให้ รฟท. ดำเนินการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการฯ โดยต้องให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ เพื่อให้โครงการฯ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน และไม่สูญเสียหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
@แนะ‘รฟท.’เร่งรัดส่งมอบพื้นที่-ปรับเงื่อนไขต้องยึดปย.สาธารณะ
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการในลักษณะเดียวกันในอนาคตของ รฟท. มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.สั่งการเร่งรัด/กำกับติดตามการดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ดังนี้
1.1 สั่งการเร่งรัดการดำเนินการในพื้นที่โครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย (ช่วงพญาไท-ดอนเมือง) ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้การส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวเสร็จสิ้นและสมบูรณ์ รวมถึงกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารสัญญา สำหรับงานรื้อย้ายซากท่อขนส่งน้ำมันแนวเดิมที่ไม่ใช้งาน ในระหว่างการเข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการฯ ของเอกชนคู่สัญญา
1.2 กำกับติดตามการดำเนินการเจรจากับเอกชนคู่สัญญาในการจัดหาพื้นที่อื่นทดแทนพื้นที่ที่เป็นลำรางสาธารณะบริเวณพื้นที่มักกะสันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเป็นเงื่อนไขในการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน
2.สั่งการเร่งรัดให้ดำเนินการตามที่ รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ได้พิจารณาตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของเอกชนคู่สัญญา เช่น การปรับวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) ทั้งโครงการ และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของเอกชนคู่สัญญาให้แก่ รฟท.
รวมถึงกรณีอื่นที่ รฟท. ประเมินแล้วว่า จะกระทบต่อหลักการหรือเงื่อนไขของโครงการฯ ตามมติ ครม. และสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ โดยเสนอให้ ครม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุมัติแก้ไขปรับปรุงหลักการหรือเงื่อนไขของโครงการฯ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนหรือข้อตกลงเสร็จสิ้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องมีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงประโยชน์สาธารณะ โดยให้รัฐเสียประโยชน์น้อยที่สุด
3.กำกับติดตามการดำเนินการพิจารณาแนวทางการขอยกเว้นเงื่อนไขการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟของเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อให้เงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานสำเร็จครบถ้วน และการเริ่มต้นดำเนินโครงการฯ เกิดขึ้นโดยเร็ว
@ต้องมีแผนบริหาร-จัดการความเสี่ยงที่เป็น‘เหตุสุดวิสัย’
4.เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการดำเนินงานโครงการในลักษณะเดียวกันในอนาคต ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
4.1 สั่งการ/มอบแนวนโยบายให้ผู้รับผิดชอบโครงการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามอำนาจที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
4.2 สั่งการให้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้รับผิดชอบโครงการดำเนินการตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ รฟท. ให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำพื้นที่มาใช้ดำเนินโครงการ โดยให้ความสำคัญในการตรวจสอบเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (โฉนดที่ดิน) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง ขอบเขต และลักษณะของที่ดินที่ครอบครอง รวมถึงทางสาธารณประโยชน์หรือลำรางสาธารณประโยชน์ที่พาดผ่านหรือมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินที่จะดำเนินโครงการ และหากพบว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ และอาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เอกชนคู่สัญญานำมาเป็นเงื่อนไขในการไม่รับมอบพื้นที่ในอนาคต ก็ให้ดำเนินการให้เรียบร้อย หรือให้ได้ข้อยุติก่อนนำพื้นที่มาใช้ดำเนินโครงการ
4.3 สั่งการให้พิจารณากำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้แก่คณะทำงานแต่ละคณะดำเนินการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในกรณีที่ รฟท. ต้องรับผิดชอบดำเนินการหลายโครงการในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
4.4 สั่งการให้พิจารณากำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้รับผิดชอบโครงการดำเนินการศึกษาข้อมูลพื้นที่ ขั้นตอน และระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการเวนคืนและการขอใช้ประโยชน์พื้นที่จากหน่วยงานอื่นที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ก่อนเริ่มดำเนินโครงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดแผนการเวนคืนที่ดินได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
4.5 สั่งการให้พิจารณากำหนดแนวทางที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการบริหารและจัดการความเสี่ยงที่เป็นเหตุสุดวิสัยหรือต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางและตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงบริเวณพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
การรื้อย้ายระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร การก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันใหม่เพื่อทดแทนท่อขนส่งน้ำมันเดิมที่พบปัญหาอุปสรรคนอกเหนือจากการคาดการณ์ เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของ ‘รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ ที่ สตง. ส่งไปยัง รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว โครงการ ‘โฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’ อาจทำให้รัฐต้องเสีย ‘ค่าโง่’ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก็เป็นได้!
อ่านประกอบ :
สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ
บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้